เมื่อเสี่ยเปี๋ยงได้รับการพักโทษออกจากคุก เพราะป่วยหนัก เสี่ยงเสียชีวิต
สังคมบางส่วนกังขา เพราะปัจจุบันกรณีทักษิณชั้น 14 ก็ยังอยู่ในชั้น ป.ป.ช.
แถมเสี่ยเปี๋ยง คือ ตัวละครสำคัญในคดีสินบนบ้านเอื้ออาทร
เอาเข้าจริง ข้อมูลที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีทุจริตสินบนบ้านเอื้ออาทรนั้น ถือได้ว่าเสี่ยเปี๋ยงคือตัวละครหลัก มีบทบาทไม่น้อยกว่านายวัฒนา เมืองสุข ด้วยซ้ำไป
ศาลฎีกาฯ พิพากษาลงโทษจำคุกนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยรัฐบาลทักษิณ รวม 99 ปีแต่ตามกฎหมายจำคุกได้สูงสุด 50 ปี
ส่วนเสี่ยเปี๋ยง โดนพิพากษาคุก 66 ปี แต่จำคุกได้สูงสุด 50 ปี
หลายคนสงสัยว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
1. ตัวละครโดดเด่นในคดีสินบนบ้านเอื้ออาทร ได้แก่ นายวัฒนา เมืองสุข เสี่ยเปี๋ยง และนายอริสมันต์
คอการเมืองจริงๆ จะทราบว่า เสี่ยเปี๋ยงมีบทบาทตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณแล้ว
เสี่ยเปี๋ยงเคยให้สัมภาษณ์เปิดเผยไว้เองว่า ตนรู้จักกับนายวัฒนา เมืองสุข ผ่านการแนะนำของนายทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่สมัยที่นายวัฒนาเป็นรองเลขาธิการนายกฯ ก่อนที่นายวัฒนาจะได้เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ และต่อมาค่อยโยกมาเป็นรัฐมนตรีพัฒนาสังคมในภายหลัง
เสี่ยเปี๋ยง คือ เจ้าของบริษัทเพรซิเดนท์อะกริฯ ที่เข้าไปประมูลข้าวจากโครงการจำนำข้าวยุคทักษิณ เป็นลอตใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และต่อมา เสี่ยเปี๋ยง ก็คือเจ้าของสยามอินดิก้า ที่เข้าไปร่วมทุจริตข้าวจีทูเจี๊ยะ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์นั่นเอง
2. คำพิพากษาคดีทุจริตสินบนบ้านเอื้ออาทร จำเลยมี 14 ราย
ประเด็นที่น่าสนใจในคำพิพากษาที่ควรเป็นบทเรียนแก่สังคม อาทิ
ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการตามฟ้อง มีการดำเนินการลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำเป็นขบวนการ อย่างมีระบบ อันเป็นความผิดตามฟ้อง เกิดขึ้นจริง
2.1 จำเลยที่ 4 (เสี่ยเปี๋ยง) เป็นตัวกลางที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในขบวนการของกลุ่มในการเรียกเงินจากผู้ประกอบการรายใหญ่ เรียกว่า ค่าที่ปรึกษา เป็นเพียงการให้เงินดังกล่าวนำไปลงบัญชีได้
ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า เสี่ยเปี๋ยงอ้างอำนาจในตำแหน่งของจำเลยที่ 1 (นายวัฒนา)โดยติดต่อในลักษณะข่มขืนใจ หรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการ ที่ประสงค์เข้าดำเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทร ให้นำเงินมามอบให้เพื่อตอบแทนการได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้าง และเข้าทำสัญญาเป็นผู้จัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรขายให้แก่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ตามสัดส่วนที่ได้จ่ายเงินให้
จำเลยที่ 5 (น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทเสี่ยเปี๋ยง) ซึ่งเป็นเลขานุการเสี่ยเปี๋ยง และเป็นพนักงานของบริษัท เพรซิเดนท์อะกริฯ, จำเลยที่ 6 (น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงานบริษัท เพรซิเดนท์ฯ) และจำเลยที่ 7 (น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงานบริษัท เพรซิเดนท์ฯ) เคยเป็นแม่บ้านที่บริษัท เพรซิเดนท์ฯ ได้รู้เห็นมาแต่ต้น และทำหน้าที่เป็นผู้โทรศัพท์ติดตามทวงถามเงินจากผู้ประกอบการ รวมทั้งรับเช็คมาจากผู้ประกอบการเพื่อให้ได้เงินครบจำนวนเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้
เสี่ยเปี๋ยงกับลูกน้อง จึงนับว่าได้ร่วมกันกระทำความผิด
2.2 นายวัฒนา (เสี่ยไก่) ผิด เพราะอะไร?
จำเลยที่ 1 (นายวัฒนา เมืองสุข) รัฐมนตรีว่าการการพัฒนาสังคมฯ (ขณะนั้น) มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
แม้นายวัฒนากำหนดแนวทางในการจัดซื้อโครงการบ้านเอื้ออาทรใหม่ และมีบันทึกข้อความลงวันที่ 17 ต.ค. 2548 สั่งให้แก้ไขข้อ 3 ของประกาศ กคช. ฉบับลงวันที่ 14 ต.ค. 2548 แต่ศาลฎีกาฯ ก็ไม่ได้ชี้ว่าเรื่องนี้เป็นการแทรกแซงการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ (บอร์ด) กคช. ไม่ได้ผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157
แต่ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า นายวัฒนามีความผิดฐานร่วมข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้ตนเองหรือผู้อื่น เพื่อตอบแทนการที่ กคช. อนุมัติให้ได้เข้าทำสัญญา
ศาลฎีกาฯ เห็นว่า แม้นายวัฒนาอ้างว่ารัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับงานด้านนโยบาย และตนเอง เกี่ยวข้องเฉพาะการปรับปรุงประกาศฉบับใหม่ หรือ TOR ก็ตาม แต่ลักษณะการกระทำความผิดในคดีนี้เป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 4-7 (เสี่ยเปี๋ยงและลูกน้อง) ซึ่งเป็นเพียงบุคคลภายนอกจะสามารถกระทำการได้เอง
เสี่ยเปี๋ยงไม่อาจแสดงตนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เชื่อถือได้ว่า มีฐานะเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของนายวัฒนาได้เอง อีกทั้งเสี่ยเปี๋ยงย่อมไม่มีอำนาจผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ตกลงจ่ายเงินได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างทุกรายได้ดังที่เกิดขึ้นจริงในคดีนี้
นอกจากนี้ นายวัฒนาน่าจะรู้ข้อเท็จจริงที่มีการรับเงิน เพราะเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก และเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอย่างแพร่หลายในช่วงเวลานั้น ประกอบกับนายวัฒนาเข้าไปกำกับดูแลการจ่ายเงินล่วงหน้า ย่อมมีผลเป็นการเร่งรัดให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าอยู่ในตัว
ศาลฎีกาฯ ระบุพฤติการณ์บ่งชี้ว่า เป็นการเร่งรัดและเพิ่มจำนวนเงินล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินล่วงหน้าที่ได้รับมามอบให้แก่เสี่ยเปี๋ยง เมื่อมีการเรียกรับทรัพย์สินก็ต้องถือเป็นความผิดแล้ว การที่นายวัฒนาจะเรียกเงินจากผู้ประกอบการด้วยตนเองหรือไม่ ย่อมไม่ใช่ข้อสำคัญ
ศาลฎีกาฯ จึงพิเคราะห์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายวัฒนาร่วมรู้เห็นเป็นใจในการข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้
2.3 นายอริสมันต์ผิดเพราะอะไร?
ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า จำเลยที่ 10 (นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีต สส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย) เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีคนก่อน ได้พูดยุยงส่งเสริมเพื่อช่วยในการตัดสินใจของนาง ช. ให้เกิดความมั่นใจที่จะมอบเงินให้แก่ผู้มารับเช็คไป อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิดของขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ แม้ผู้ร่วมกระทำผิดในขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ จะรู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกของนายอริสมันต์หรือไม่ก็ตาม แต่ถือว่านายอริสมันต์เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามฟ้อง
นายอริสมันต์ถูกลงโทษจำคุก 4 ปี 1 กระทง
แต่นายอริสมันต์หนีคดีไป โดยที่เจ้าตัวยังมีโทษจำคุก 4 ปี คดีบุกล้มประชุมอาเซียนติดตัวอยู่อีกคดีด้วย
3. คำพิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า นายวัฒนา เสี่ยเปี๋ยง และลูกน้อง ร่วมกันกระทำความผิด 11 กรรม 11 กระทง
การกระทำของจำเลยที่มีความผิดนั้น เป็นการกระทำในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการแต่ละราย ต่างวันเวลา และต่างสถานที่แยกกันต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ดังนั้น จำเลยที่ 1, 4, 6 และ 8 มีความผิดฟ้องรวม 11 กรรม
ในคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อม.42/2561 คดีหมายเลขแดงที่อม.15/2563 ระบุถึงเส้นทางสินบน ตลอดจนขั้นตอนการเจรจาและการจ่ายเงินค่าตอบแทน หรือค่าสินบน หรือค่าหัวคิว เพื่อแลกกับการได้รับอนุมัติเข้าทำสัญญา และได้เงินล่วงหน้าจากการเคหะฯ รวมทั้งสิ้น 11 กรณี
ประกอบด้วย ๑. บริษัทฯ จํานวน ๘๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท ๒. บริษัทฯ๒๖๓,๓๓๐,๐๐๐ บาท ๓. กิจการร่วมค้าฯ ๔๙,๔๕๗,๐๐๐ บาท ๔. กิจการร่วมค้าฯ ๓๕,๙๓๐,๐๐๐ บาท ๕. บริษัทไชนาฯ ๓๐๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ๖. บริษัทไชนาฯ ๑๓,๔๘๐,๐๐๐ บาท ๗. บริษัทฯและบริษัทฯ ๗๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ๘. บริษัทฯ ๑๓๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ๙. กิจการร่วมค้าฯ ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ๑๐. บริษัทฯ ๑๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ๑๑. บริษัทฯ ๕๐,๘๐๙,๗๕๐ บาท (แต่ละกรณีมีรายละเอียดในคำพิพากษา)
จำนวนเงินที่เอกชนจ่ายไป รวมกว่า 1,300 ล้านบาท ศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชำระแก่แผ่นดิน
แม้เสี่ยเปี๋ยงจะพ้นคุกแล้ว แต่ยังต้องคุมประพฤติต่อ
และการชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาของศาล ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว?
รัฐบาลภายใต้การนำของลูกสาวนายทักษิณ ชินวัตร ต้องมีคำตอบให้สังคม
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี