ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมดำเนินมาตรการให้ประชาชนขึ้นรถไฟฟ้าฟรี เพื่อลดฝุ่น PM2.5
สังคมสงสัยว่า คุ้ม หรือไม่คุ้ม?
เมื่อวานนี้ ครม. พิจารณาเรื่องดังกล่าว
ได้แก่ เรื่อง มาตรการลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระยะวิกฤต ระหว่างวันที่ 25 – 31 มกราคม 2568 ภาคการคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินการตามมาตรการวงเงิน 190.43 ล้านบาท
ปรากฏข้อมูลน่าสนใจ
1. กระทรวงคมนาคมชี้แจงว่า ได้ดำเนินการมาตรการอื่นๆ ด้วย แต่ในช่วงระหว่างวันที่ 20 - 24 มกราคม 2568 ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีมาตรการเสริมเพิ่มเติมเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองดังกล่าวลงทันที และกลับมาอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและลดจำนวนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล รวมทั้งกวดขันมาตรการอื่นๆ ดังนี้
1.1 มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนบุคคลในช่วงเวลาวิกฤต
จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร พบว่า แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาจากรถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นรถยนต์สันดาปภายในถึงร้อยละ 65 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
โดยการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
คค. กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้ร่วมกันดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้ใช้การยกเว้นค่าบริการ เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนงดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะระยะเวลาดำเนินมาตรการ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 - 31 มกราคม 2568 ประกอบด้วย
- การยกเว้นค่าบริการรถโดยสารสาธารณะของ ขสมก. ประกอบด้วย รถโดยสารธรรมดา จำนวน 1,520 คัน และรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 1,364 คัน
- การยกเว้นค่าบริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง) และสายสีชมพู รถไฟชานเมืองสายนครวิถีและธานีรัถยา (สายสีแดง) และรถไฟฟ้าและรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้มีมติอนุมัติแล้ว รวมทั้งรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) และรถไฟฟ้าสายสีทอง
1.2 มาตรการคุมเข้มตรวจค่าควันดำรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก
โดยมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจวัดค่าควันดำอย่างจริงจังและครอบคลุมพื้นพื้นที่สำคัญ
1.3 มาตรการคุมเข้มพื้นที่ก่อสร้าง
โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่มีพื้นที่ก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้าบริหารจัดการพื้นที่ทันทีและให้ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นในพื้นที่ก่อสร้างอย่างเคร่งครัด เช่น การฉีดพรมน้ำ การทำความสะอาดล้อรถที่เข้า-ออกพื้นที่ก่อสร้าง การกวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง เป็นต้น
2. กระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าว ได้รับประโยชน์ เช่น ช่วยลดปัญหาการจราจรและมลพิษที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยผู้โดยสารเข้ามาใช้ระบบขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น และปริมาณการจราจรลดลง ตลอดช่วงของขสมก. และการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ตั้งแต่วันที่ 25-31 มกราคม 2568 สรุปได้ ดังนี้
ก่อนมาตรการ มีการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลบนสายทางพิเศษ เช่น สายศรีรัช สายเฉลิมมหานคร สายกาญจนาภิเษก เป็นต้น จำนวน 11,668,280 คัน
ช่วงมาตรการ มีรถยนต์ส่วนบุคคล 11,612,088 คัน
เท่ากับว่า ลดลง 56,192 คัน
นอกจากนี้ ก่อนมาตรการ มีรถยนต์ส่วนบุคคลบนท้องถนน เช่น ถนนพระราม 4 และถนนพหลโยธิน 32,635 คัน
ช่วงมาตรการ เหลือรถยนต์ส่วนบุคคล 29,184 คัน
เท่ากับว่า ลดลง 3,451 คัน
นอกจากนี้ ยังลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ประหยัดเวลาในการเดินทางลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุทางถนน และลดการใช้พลังงานน้ำมัน
และกระตุ้นให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นการสร้างความคุ้นเคยและแรงจูงใจให้กับประชาชนกลุ่มที่ไม่เคยใช้ระบบขนส่งสาธารณะมาก่อน ให้เข้ามาใช้ระบบขนส่งสาธารณะในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป
3. ใช้เงินเท่าไหร่?
กระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนบุคคลในช่วงเวลาวิกฤต เป็นการยกเว้นค่าใช้บริการระบบรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทางให้ประชาชนทั้งหมดตามปริมาณผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 329.73 ล้านบาท
โดยมีแหล่งที่มาจาก
(1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 190.43 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณ (สงป.) แจ้งว่านายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินมาตรการลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระยะวิกฤต ระหว่างวันที่ 25-31 มกราคม 2568 ของ คค. วงเงิน 190.43 ล้านบาท แล้วด้วย
และ (2) รายได้ของรัฐวิสาหกิจจำนวน 139.30 ล้านบาท
4. เท่ากับว่า การยกเว้นค่าบริการ เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนงดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะระยะเวลาดำเนินมาตรการ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 - 31 มกราคม 2568 นั้น มีต้นทุนค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 329.73 ล้านบาท
และช่วยลดจำนวนรถยนต์ส่วนตัวบนท้องถนนลงไปตามข้อมูลข้างต้น
ถามว่า คุ้มค่าหรือไม่?
เห็นว่า ไม่น่าจะคุ้มค่า
เป็นมาตรการเสมือนเอาหน้าประชานิยม
ขณะที่เอกชน รถไฟฟ้าเอง ปกติเขาก็มีผู้โดยสาร มีรายได้อยู่แล้วพอมาเข้าโครงการต้องงดเก็บค่าโดยสาร เพื่อได้เงินจากรัฐ ก็เกิดปัญหาในการบริหาร การดูแลผู้โดยสารที่เป็นลูกค้าประจำอีกต่างหาก
5. ด้วยเหตุนี้เองกระมัง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ จึงเคยท้าทายรัฐบาลไว้ว่า “รถไฟฟ้า-รถเมล์ “ฟรี” ครบ 7 วัน ถ้าคิดว่า “คุ้ม” ลุยต่อเลย!”
ดร.สามารถเคยชี้ว่า มาตรการ “รถไฟฟ้า-รถเมล์” ฟรี 7 วัน สู้ฝุ่นพิษ PM2.5 ผ่านพ้นไปแล้ว ปรากฏว่า รถไฟฟ้าบางสายแทบทะลัก ผู้โดยสารแน่นจริงๆ
“...อยากให้รัฐเร่งประเมินผล ถ้า “คุ้ม” กับเงินชดเชยที่รัฐต้องจ่ายแทนผู้ใช้บริการ ก็ให้พี่น้องประชาชนใช้บริการฟรีต่อไปเลย แต่อย่านำ “เงินภาษีของคนทั้งประเทศ” มาชดเชย!
ผมได้เปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าในช่วงให้บริการฟรี 7 วัน ระหว่างวันที่ 25-31 มกราคม 2568 กับช่วงก่อนให้บริการฟรี 7 วัน ระหว่างวันที่ 18-24 มกราคม 2568 พบว่า มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย ทุกสีจากทั้งหมด 8 สาย 8 สีเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 4.06 ล้านเที่ยว คิดเป็น 38%
ในส่วนของเงินชดเชยให้เอกชนผู้ประกอบการรถไฟฟ้า ทุกสาย ทุกสี รวมทั้งผู้ประกอบรถเมล์ (ขสมก.)นั้น ครั้งแรกบอกว่าจะใช้เงินประมาณ 140 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 329 ล้านบาท ล่าสุดลดลงเหลือ 190 ล้านบาท
ในความเห็นของผม เงินชดเชยไม่ได้ลดลงเหลือ 190 ล้านบาท ยังคงเป็น 329 ล้านบาทเท่าเดิม
แต่รัฐจะใช้เงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นเงินสะสมจากส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสาร มาช่วยชดเชยจำนวน 139 ล้านบาท เป็นผลให้ต้องใช้ภาษีของคนทั้งประเทศมาชดเชยจำนวน 190 ล้านบาท
ผู้รับผิดชอบเคยให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อใช้มาตรการนี้ครบ 7 วันแล้วจะประเมินผลส่วนจะต่อมาตรการนี้อีกหรือไม่ ขอให้รอผลการประเมินก่อน
ผมอยากให้รัฐเร่งประเมินผลการใช้มาตรการนี้ว่า สามารถทำให้การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในหลากหลายพื้นที่ลดลงเท่าใด? มีผลช่วยให้ลด PM2.5 ในแต่ละพื้นที่ลดลงได้เท่าใด? คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์
อนึ่ง ในช่วง 7 วัน ที่ใช้มาตรการนี้ ผมได้เดินทางผ่านหลายพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้า พบว่าบนถนนหลายสาย รถก็ยังคงติดอย่างหนัก!
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐประเมินแล้วเห็นว่าการให้พี่น้องประชาชนใช้รถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรีมีผลให้การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คุ้มกับเงินชดเชย ก็ควรพิจารณาใช้มาตรการนี้ต่อไป แต่ผมมีเงื่อนไข 2 ข้อ ดังนี้
(1) ไม่นำเงิน “ภาษีของคนทั้งประเทศ” มาชดเชยให้ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าและผู้ประกอบการรถเมล์ ขสมก.
(2) ใช้หลักเกณฑ์เดิมในการคำนวณค่าชดเชยตามที่รัฐได้ใช้คำนวณในช่วงการให้บริการฟรีระหว่างวันที่ 25-31 มกราคม 2568 นั่นคือไม่ชดเชยค่าโดยสารในส่วน “ผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น” ซึ่งมีผลมาจากการให้บริการฟรี โดยชดเชยให้เฉพาะจำนวนผู้โดยสารที่เคยใช้บริการเดิมเท่านั้น”
โดยสรุป ดูท่าแล้ว ไม่คุ้ม อย่าฝืน
ถ้ารัฐบาลฝืน แสดงว่า ไม่ใช่รัฐบาลที่มีสติปัญญา หรือทำเพื่อประชาชนจริงๆ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี