รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ได้แสดงความภูมิอกภูมิใจที่สามารถนำพาให้ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้สำเร็จ ในการนี้ประชาชนพลเมืองไทยก็ต่างปีติยินดี และรู้สึกภูมิอกภูมิใจกันถ้วนหน้า โดยต่างร่วมกันชื่นชมฝีมือของคณะรัฐบาลด้วย
การที่ประเทศไทยได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติดังกล่าว บ่งบอกว่าประเทศไทยนั้นมีความเจริญก้าวหน้าในเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการมีและการใช้สิทธิเสรีภาพต่างๆ เป็นการทั่วไปในกรอบสังคมประชาธิปไตย อีกทั้งยังมีการดำเนินการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการทัดเทียมเสมอภาคทางเพศจนประสบความสำเร็จ และได้เริ่มมีการบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2568 นอกจากนั้นประเทศไทยก็ยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีกรมกองในกระทรวงยุติธรรมที่ส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน และประเทศไทยก็ยังมีผู้แทนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระดับประเทศอาเซียน
ทั้งนี้ ในสังคมในมุมกว้างก็มีเรื่องการเรียนการสอนในเรื่องสิทธิมนุษยชนในแวดวงวิชาการ ไปจนถึงการขับเคลื่อน เคลื่อนไหวในภาคประชาชนผ่านการจัดตั้งสมาคมและมูลนิธิต่างๆ อีกทั้งสภาทนายความก็มีหน่วยงานในสังกัดและกลุ่มทนาย อาสาสมัคร ในเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้โดยทั้งหมดนี้ก็ยังจะต้องมีการพัฒนากันต่อไป เพื่อให้เรื่องสิทธิมนุษยชนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งในแง่องค์ความรู้ การปฏิบัติ และการบังคับใช้กฎหมาย และในการนี้ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องตั้งอกตั้งใจและเอาจริงเอาจังกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งในแง่การส่งเสริม (Promotion) และการปกป้องคุ้มครอง (Protection) ให้เป็นที่ประจักษ์ให้มากขึ้นต่อไป
ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ยังค้างคาอยู่ทั้งในสายตาของประชาคมโลก และในสายตาของคนไทยเรากันเองที่ยึดมั่นในเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็มีอาทิ
- การยกเลิกการประหารชีวิต (ซึ่งก็สอดคล้องกับคำสั่งสอนของศาสนาต่างๆโดยเฉพาะศาสนาพุทธ) เพราะไม่มีผู้ใดควรจะมีสิทธิ์ที่จะไปทำลายชีวิตของผู้อื่น อีกทั้งจะเป็นการเปิดโอกาสที่จะให้ผู้ที่กระทำผิดได้พิจารณาตนเอง กลับเนื้อกลับตัว และกลับมาทำประโยชน์ให้กับสังคม
- การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มีความเที่ยงธรรมและยุติธรรมอย่างแท้จริง เช่น ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม การคุมขังโดยมิมีกำหนดและการไม่รีบเร่งในการนำคดีความสู่การตัดสินของศาลยุติธรรม
- การคุมขังผู้ลี้ภัยการเมืองจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นมิได้เป็นอาชญากร หากแต่มีความเห็นต่างในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองและวิถีทางทางการเมือง กับกลุ่มอำนาจของประเทศของเขา
- การให้ความร่วมมือกับบรรดารัฐบาลเผด็จการต่างๆ ในการส่งกลับผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปให้ฝ่ายเขา ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าข้อหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายนั้น
ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อส่งกลับไปเขาเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับความยุติธรรมในการพิจารณาคดีแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกรณีของชาวจีนเชื้อสายอุยกูร์และนับถือศาสนาอิสลาม นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของกัมพูชา นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของเมียนมา ไปจนถึงชาวเวียดนามและชาวลาว ที่ไม่เห็นด้วยกับการเมืองการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ เป็นต้น
ฉะนั้น รัฐบาลไทยภายใต้การนำพาของแพทองธาร นายกรัฐมนตรี ต้องตระหนักในเรื่องพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติตนให้สอดคล้อง มิฉะนั้นแล้ว ไทยก็จะถูกตีตราว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนสิทธิมนุษยชนแต่ในนาม หรือเป็นพวกเสแสร้ง แต่ในจิตใจนั้นก็คือ พวกอำนาจนิยม พวกเผด็จการนิยม นั่นเอง
ในขณะเดียวกัน บรรดาพรรคฝ่ายค้านต่างๆ ก็ต้องแสดงความเป็นตัวตนในเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้อย่างจริงจัง และควรจะเป็นตัวนำพาเสียด้วยซ้ำ จะอยู่นิ่งเฉยไม่รู้ร้อนรู้หนาวอีกต่อไปไม่ได้ ก็เสมือนกับว่ามาใช้เวทีประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ แต่ไม่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย ซึ่งมีเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่งอย่างแท้จริง
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี