หลังการยุบสภาของนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ แล้ว ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2481 ได้ผู้แทนราษฎรทั้งประเทศจำนวน 91 นาย ระหว่างที่ยุบสภาและก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้มีเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่ควรบันทึกไว้ คือการลอบสังหารนายพันเอกหลวงพิบูลสงครามเกิดขึ้น โดยครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน หลวงพิบูลสงครามถูกคนสวนในบ้านคือ นายลี บุญตา แอบเอาปืนพกของหลวงพิบูลฯเอง วิ่งไล่ยิงหลวงพิบูลฯที่บ้านพักของท่านในกรมทหารปืนใหญ่ที่บางซื่อ นายทหารด้วยกันได้ช่วยจับตัวนายลี บุญตา ไว้ได้ โดยหลวงพิบูลฯ มิได้เป็นอันตราย อีกหนึ่งเดือนต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม หลังการเลือกตั้งแล้ว ได้มีรายงานว่าหลวงพิบูลฯถูกวางยาพิษคือสารหนูในอาหารที่แม่บ้านของท่านเป็นผู้ปรุง มาเลี้ยงกันในตอนกลางวันที่บ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่อีกเช่นกัน นายทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ได้นำตัวหลวงพิบูลฯและพวกส่งโรงพยาบาลให้ทำการรักษาล้างท้องได้ทัน จึงปลอดภัย
ในการประชุมสภาฯครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2481 ที่ประชุมได้เลือกพระยามานวราชเสวี เป็นประธานที่สภาฯตามเดิม และเลือกนายพันเอก พระประจนปัจจนึกเป็นรองประธานฯ อีก 3 วันต่อมาในวันที่ 15 ธันวาคม ประธานสภาฯได้เชิญสมาชิกสภาฯจำนวนหนึ่งหารือเป็นการภายใน ที่จริงก็คือการหยั่งเสียงว่าสมควรจะเลือกผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้พระยาพหลฯได้ขอพบประธานสภาฯเป็นส่วนตัว และขอให้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าท่านสุขภาพไม่ดี ขอไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ในการหารือกันเมื่อบรรดาสมาชิกสภาฯทราบแน่ชัดว่าพระยาพหลฯ ไม่รับตำแหน่งนายกฯ เสียงส่วนใหญ่จึงเห็นชอบเสนอนาย หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกฯ ประธานสภาฯ จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯตั้งหลวงพิบูลฯเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ที่จริงมีการเสนอชื่อพระยาทรงสุรเดชอยู่บ้าง
ได้ในวันเดียวกันนั้นได้มีการประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 25 ตำแหน่ง โดยมีหลวงพิบูลฯ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญมากอยู่ 2 ตำแหน่ง คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมในรัฐบาลชุดก่อน และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย ที่น่าสังเกตคือในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมีผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในคณะรัฐมนตรีรวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรีด้วยจำนวน24 คนนั้น โดยเป็นคนของคณะราษฎรมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือมีจำนวนถึง 14 นาย นับว่ามากที่สุดตั้งแต่เคยมีมาจนถึงวันนั้น ที่น่าสังเกตก็คือเอาหลวงศุภชลาศัยซึ่งเป็นผู้ก่อการฯคนสำคัญสายทหารเรือออกไปจากคณะรัฐมนตรี ด้วย ส่วนรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงต่างๆ นั้นคนของคณะราษฎรไปเป็นรัฐมนตรีว่าการคุมอยู่ถึง 4 กระทรวง มีบุคคลภายนอกคณะราษฎรเป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่ 3 กระทรวง และยังมีคนของคณะราษฎรไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการในกระทรวงที่รัฐมนตรีว่าการเป็นคนของคณะราษฎรด้วยอีก 3 กระทรวง
สถานการณ์ตอนนั้นต้องถือว่าคณะราษฎรได้กระชับอำนาจในคณะผู้บริหารประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีนั้นนอกจากเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญ 2 กระทรวงแล้ว พอถึงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2481 เพียงเวลาไม่ถึงเดือนหลังเป็นนายกฯ ท่านก็เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก นั่นก็หมายความว่าเป็นนายทหารหมายเลขหนึ่งของประเทศที่คุมนโยบายทหารโดยเป็นว่าการกระทรวงกลาโหมและเป็นผู้บัญชาการทหารบกที่คุมกำลังทหารที่แท้จริง
ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 นายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามได้นำรัฐบาลเข้าแถลงนโยบายในการบริหารประเทศต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในนโยบายทั่วไปก็ยังเหมือนเดิมตามแนวทางของรัฐบาลคณะราษฎร นั่นก็คือประกาศจะดำเนินนโยบายทั่วไปตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ได้แก่ หลักเอกราช หลักความสงบภายใน หลักเศรษฐกิจ หลักสิทธิเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา หลังการแถลงนโยบายฯ สภาก็ได้มีมติไว้วางใจรัฐบาล ให้นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม นายทหารคนที่ 2 ของคณะราษฎร ได้ เริ่มการบริหารราชการแผ่นดิน
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี