ผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ทางอ้อมของประชาชนมีวาระสิ้นสุดลงในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2480 ดังนั้นรัฐบาลจึงได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ที่ให้ราษฎรออกเสียงเลือกผู้แทนฯ โดยตรง ในเขตเลือกตั้งที่แบ่งออกเป็นเขตเดียวที่มีผู้แทนฯ ได้คนเดียว จังหวัดที่มีผู้แทนฯ ได้มากที่สุดคือจังหวัดอุบลราชธานี เพราะมี 4 เขตเลือกตั้ง ในขณะที่จังหวัดพระนครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ ยังคงมี 3 เขตเลือกตั้งเท่าเดิม ครั้งนี้มีผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มาจากการเลือกตั้งได้ 91 คนแปรตามจำนวนราษฎรที่เพิ่มขึ้นในรอบระยะเวลา 4 ปีนั่นเอง
การเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองเข้าไปเปิดหน้ารณรงค์และส่งตัวผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้ง คณะราษฎรเองก็ไม่ได้ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในนามของคณะราษฎร แต่สมาชิกของคณะราษฎรนั้นอาจลงไปสมัครเข้ารับเลือกตั้งในฐานะส่วนตัวบ้าง เช่นเดียวกับในการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2476 ที่มีสมาชิกของคณะราษฎรไปสมัครเข้ารับเลือกตั้งเช่นกันในนามของตัวเอง และก็มีทั้งที่ชนะเข้าสภาฯและแพ้เลือกตั้ง ซึ่งตามที่ปรากฏในครั้งก่อนนั้นล้วนเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน
การเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้แทนราษฎรคนเก่าๆที่มีอยู่เดิม 76 คน ที่อาจแพ้เลือกตั้งหรือไม่ได้ลงสมัคร ชื่อหายไปจากรายชื่อผู้ชนะเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรครั้งนี้เป็นจำนวนค่อนข้างมากดูจากรายชื่อมีผู้แทนฯคนเดิมได้รับเลือกตั้งให้มาทำหน้าที่อีกครั้งในจังหวัดต่างๆ ไม่เกิน 10 จังหวัด ที่ราชบุรีได้ผู้แทนคนเดิมคือนายกิมเส็ง สินธุเสก ที่ธนบุรีก็ได้ผู้แทนคนเดิมคือนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ที่ลำปางได้นายสรอย ณ ลำปาง ที่ลำพูนได้นายบุญมี ตุงคนาคร ที่กำแพงเพชรได้นายฮั้ว ตามไท ที่สมุทรสาครได้ขุนสุคนธวิท ศึกษากร และที่อุบลราชธานี ที่มีผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นหนึ่งคนนั้นได้ผู้แทนเดิมกลับมาสองคนคือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ กับนายเลียง ไชยกาลที่น่าสังเกต คือที่จังหวัดพระนครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศนั้นผู้แทนราษฎรคนเก่าทั้ง 3 ท่านไม่ได้รับเลือกกลับเข้ามาเลย แต่ได้ผู้แทนใหม่คือเขตหนึ่งได้พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) เขต 2 ได้ ร.ต.อ.เสวียน โอสถานุเคราะห์ และ เขต 3 ได้นายอรุณ ทองปัชโชติ
ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจำนวนมากนั้น นอกจากจะเป็นคนหน้าใหม่แล้วยังปรากฏว่ามีท่านที่มีบรรดาศักดิ์ได้รับเลือกตั้งเข้ามามีจำนวนน้อยลง ได้มาเพียง 20 นาย และจากจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมด 91 นายนี้ ไม่มีสตรีได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรเลย หลังการเลือกตั้งแล้ว แต่ก่อนเปิดประชุมสภาฯก็มีผู้แทนเหลืออยู่เพียง 90 คน เพราะผู้แทนราษฎรจากจังหวัดสงขลาคือ นายกล่อมสระโพธิกุล ซึ่งเดินทางเข้ามาเมืองหลวงมาพักรอเพื่อจะเข้าประชุมในวันที่ 9 ธันวาคม ได้เสียชีวิตลงที่โรงแรมที่พักบริเวณหัวลำโพงตั้งแต่คืนวันที่ 8 ธันวาคม
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ได้บันทึกไว้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 6,123,239 คน แต่มีผู้มาใช้สิทธิ์เพียงร้อยละ 40.22 นับเป็นจำนวนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 2,462,535 คน เมื่อได้สมาชิกประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้วได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองเพิ่มขึ้นจำนวน 13 ท่าน เพื่อให้เท่ากับสมาชิกประเภทที่หนึ่งเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ในจำนวน 13 คนนี้ 11 คน เป็นคนของคณะราษฎร ประกอบด้วย น.ต.จิบ ศิริไพบูลย์ ร.อ.ชลิต กุลกำม์ธร นายบรรจง ศรีจรูญ นายบุญล้อม พึ่งสุนธร พ.ต.ประยูร ภมรมนตรี พ.อ.พระประศาสน์พิทยายุทธ พ.อ.พระยาฤทธิอัคเณย์ นายวิลาศ โอสถานนท์ นายสงวน ตุลารักษ์ ร.อ.สงบ จรูญพร ร.น. และนายสวัสดิ์ โสตถิทัต ส่วนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎร คือ น.อ.อ.พระศิลปศัตราคม กับ พ.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์
แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่แต่สยามประเทศก็ยังได้นายกรัฐมนตรีคนเก่า เพราะเมื่อมีการหารือกันกับสมาชิกสภาฯแล้วที่ประชุมมีความเห็นควรให้พระยาพหลฯเป็นนายกฯ อีกครั้ง
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี