รัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามบริหารประเทศมาถึงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481 ก็มีการปฏิบัติการใหญ่ในทางการเมือง คือการส่งเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองเข้าจับกุมคุมตัวนายทหารและ นักการเมืองหลายคนรวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่สำคัญคือกรมขุนชัยนาทนเรนทร นายพลโท พระยาเทพหัสดิน นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช และผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร คือ นายร้อยโท ณ เณร ตาละลักษมณ์ และนายมังกร สามเสน ผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ในข้อหากบฏ
มาถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ทางรัฐบาลก็เสนอร่างจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีกบฏครั้งนี้ต่อสภาฯ โดยนายนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้นำเสนอ
“… รัฐบาลขอเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พุทธศักราช 2481 โดยมีหลักการว่าจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาพิพากษาการกระทำความผิดฐานกบฏตามคำแถลงการณ์ ของรัฐบาลลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481…”
“ทั้งนี้ในเรื่องที่รัฐบาลได้เคยขอร้องต่อสภาฯ จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นนั้น ได้มีมารวม 2 ครั้ง … สำหรับคราวนี้ท่านสมาชิกย่อมจะได้ทราบจากคำแถลงการณ์ของรัฐบาลครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2481 และครั้งต่อๆ มาก็ได้มีคำแถลงการณ์อีกหลายฉบับ… สำหรับในคราวนี้ก็ควรที่จะได้ดำเนินการเช่นเดียวกัน… ร่างที่เสนอมาให้ดำเนินตามจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 เกือบทุกประการ…”
หลวงธำรงฯให้รายละเอียดไปตามที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติ ผู้ที่ลุกขึ้นถามท่านแรกคือนายอมร ผลประสิทธิ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี ท่านสงสัยว่ากฎหมายนี้จะใช้เสมอไปหรือจะยกเลิกเมื่อใด และยังสงสัยในหลักการของร่าง ส่วนความสงสัยของพลตรี พระยาอมรวิสัยสรเดช ผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง นั่นน่าสนใจ ท่าน“…สงสัยในข้อที่ว่า ในเวลาที่ว่าการกบฏ
ยังไม่ได้ลงมือกระทำประการหนึ่ง และยังไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยยการศึก อีกประการหนึ่ง เพราะฉะนั้นสงสัยว่า ในศาลพิเศษนี้ จะอนุญาตให้มีทนายจำเลยแก้ต่างจำเลยให้เป็นการขาวสะอาดหรือไม่” หลวงธำรงฯก็มิได้ตอบโดยตรง
ต่อมา นายจำลอง ดาวเรือง ผู้แทนราษฎรเมืองมหาสารคาม อภิปรายว่า
“…ถ้าเราต้องการความเด็ดขาด ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลที่ที่ตั้งขึ้นมาใหม่แล้วก็ควรรับหลักการ แต่ถ้าเราพิจารณาถึงความยุติธรรม คู่กับประชาธิปไตยภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอยู่ได้ในร่มของรัฐบาลประชาธิปไตย ก็ควรจะพิจารณาบ้างในทางศาลเดิมที่เรามีอยู่แล้ว …จึงเห็นว่าไม่สมควรจะรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้”
อภิปรายกันมาอีกสักพัก โดยมีสมาชิกสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งลุกขึ้นอภิปรายทั้งสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลและไม่เห็นด้วยกับทางฝ่ายรัฐบาล ที่น่าสังเกตก็คือผู้แทนราษฎรที่มาจากจังหวัดเชียงใหม่นั้น มีทั้งผู้เห็นด้วยกับรัฐบาลและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอย่างแจ้งชัด จากนั้นก็มีผู้เสนอให้ปิดการอภิปรายแต่ก็ได้มีผู้คัดค้านขอให้อภิปรายต่อจนต้องลงมติปรากฏว่าฝ่ายที่ต้องการปิดอภิปรายชนะเพราะได้เสียงถึง 56 เสียง แต่ฝ่ายที่ต้องการอภิปรายต่อมีเสียงสนับสนุนอยู่เพียง 40 เสียงเท่านั้นเอง ต่อมาเมื่อปิดอภิปรายได้แล้วจะต้องขอให้ลงมติ ได้มีสมาชิกขอให้ลงมติลับ โดยมีผู้รับรองครบ 5 คนถูกต้อง จึงได้ดำเนินการลงมติลับ ผลของการลงมติฝ่ายรัฐบาลชนะอย่างท่วมท้น เพราะมีเสียงเห็นว่าควรรับหลักการในร่างบัญญัติที่รัฐบาลเสนอถึง 101 คะแนน ในขณะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมีเพียง 39 คะแนนเท่านั้นเอง แสดงว่าบารมีหลวงพิบูลฯมีอยู่มาก
ที่น่าบันทึก ไว้ด้วยว่าต่อมาศาลพิเศษที่ตั้งครั้งนี้ก็ได้พิจารณาคดี “กบฏพระยาทรงฯ” โดยตัดสินลงโทษประหารชีวิตไป จำนวน 18 นาย คนที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น นายพันเอกพระสิทธิเรืองเดชพล ร.ท.ณ เณร ตาละลักษมณ์ และนายลี บุญตา ก็อยู่ในพวกที่ถูกประหารโดยการยิงเป้า
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี