การที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติขับสมาชิก ของสภาฯ ให้พ้นจากสมาชิกภาพเป็นครั้งแรกเกิดขึ้นในพ.ศ. 2481 เหตุมาจากการประชุมสภาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2481 ที่มีการถกแถลงมาหลายเรื่องจนถึงเรื่องที่ นายแวและ เบญอาบัชร์ ผู้แทนยะลา เสนอให้สภากำหนดสมัยประชุมประจำปี 2482 “ข้าพเจ้าเห็นว่าควรเริ่มเปิดสมัยประชุมตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน เป็นต้นไป ซึ่งตรงกับเดือน 7 ของไทย เริ่มจะเข้าฤดูฝน ซึ่งผู้แทนควรจะได้ทำงานอยู่ที่สัก 90 วัน…”
นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นบอกว่า “รัฐบาลก็ไม่มีการขัดข้องประการใด”
นายอินทร สิงหเนตร ผู้แทนจากจังหวัดเชียงใหม่ อภิปรายว่า “สำหรับวันที่ 24 มิถุนายน ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่สมควร และข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะเป็นวันที่ 27 มิถุนายน เพราะว่าถ้าพูดถึงวันที่ 24 มิถุนายน ตามเหตุผลที่ว่ามาแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่มีความหมายอะไร ถ้าจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถ้าจะพูดกันดีๆ ก็คือวันกบฏนี่เอง เพราะฉะนั้นวันนั้นแต่เผอิญคณะราษฎรชนะ ก็เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถ้าหากว่าเราจะถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญ ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ใช่เป็นวันสำคัญ ถ้าจะพูดว่าเป็นวันสำคัญแห่งชาติ ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะเป็นวันที่ 27 คือวันที่ราษฎรได้รับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้รับสิทธิเสรีภาพมาเพราะฉะนั้นวันนี้จะเป็นวันที่ระลึกมากกว่าวันที่ 24 มิถุนายน วันที่ 24 มิถุนายน เราระลึกอะไร รถเกราะวิ่งไปวิ่งมาอย่างนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้นก็ทำไมเราไม่นึกถึงเมื่อปีร.ศ.130 ก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเหมือนกัน ทำไมไม่รำลึกถึงพวกนั้นบ้าง ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะเป็นวันที่ 27” คำพูดของนายอินทรนี้ทำให้เกิดเรื่อง
นายซิม วีระไวทยะ ผู้ก่อการฯ ฟังแล้วรีบลุกขึ้นอภิปราย “ข้าพเจ้าใคร่ขอให้สมาชิกผู้นั้นถอนคำว่า “กบฏ” เพราะว่าเราได้รับพระราชทานนิรโทษกรรม ข้าพเจ้าคนหนึ่งมีส่วนร่วมด้วย และความจริงเป็นการสบประมาทอย่างร้ายแรงที่กล่าวคำเช่นนี้ในสภาฯ” ประธานสภาก็ขอให้นายอินทรถอนคำพูด และนายอินทร ก็ได้ถอนคำพูด
ต่อมาเมื่อมีการลงมติ สภาฯได้ลงมติเลือกเอาวันที่ 24 มิถุนายน ตามที่นายแวและได้เสนอไว้ เป็นอันว่าจบเรื่องกำหนดสมัยประชุม แต่เรื่องที่นายอินทรอภิปรายประเด็นวันกบฏหาได้จบลงไม่ อีก 3 วันต่อมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองประเภท คือ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งแบบเดียวกับนายอินทร และที่มาจากการแต่งตั้งแบบเดียวกับนายซิมได้รวมกลุ่มกันยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวหาว่าการอภิปรายของนายอินทรเมื่อ 3 วันที่แล้วนั้นมีเจตนาไม่ดี ก่อให้เกิดการดูหมิ่นระบอบประชาธิปไตย และที่ดูจะดุเดือดมากก็คือเห็นว่าไม่สมควรจะให้ผู้พูดอยู่เป็นผู้แทนราษฎรต่อไป ซึ่งก็ต้องอาศัยความในมาตรา 21 (5) ของรัฐธรรมนูญเล่นงาน หากว่า
“สภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่งโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สภา มติในข้อนี้ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม”
ท้ายที่สุดที่ประชุมสภาฯได้มีมติให้นายอินทร สิงหเนตร ออกจากสมาชิกภาพด้วยคะแนน 113 ต่อ 15 นับว่าเกินจำนวนสองในสามของสมาชิกทั้งหมดของสมาชิกสภาฯที่มีอยู่
ที่น่าสังเกตก็คือข้อกล่าวหานี้เกิดจากการอภิปรายของนายอินทรในสภาฯ ทำไมถึงไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันที่บัญญัติว่า “ในที่ประชุมแห่งสภา
สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดๆในทางแสดงข้อความหรือแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ท่านว่าเป็นเอกสิทธิ์อันเด็ดขาดผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิก
ผู้นั้นในทางใดๆ มิได้”
นายอินทร สิงหเนตร จึงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกที่ถูกลงมติให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกภาพ จนกระทั่งต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2489 และ 2491 นายอินทร จึงได้รับเลือกตั้งจากคนเชียงใหม่ให้กลับมาเป็นผู้แทนฯอีกรวม2 ครั้ง และได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี