ต้องยอมรับว่า “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี มิได้เป็นที่รักของประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า คนที่ “ชิงชังระวังระแวง” เธอก็มี และน่าเศร้าใจที่คนกลุ่มนี้ บางครั้งก็ “สุดโต่ง-ไร้เหตุผล”แต่ก็เข้าใจได้ถึง “ความระแวง” ที่อาจทำให้ “คิดเกินขอบเขต” ไปได้
อาทิ ระแวงว่า การมาควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของ “แพทองธาร” อาจมีแผนร้ายซ่อนอยู่ เช่น จะยกปราสาททั้งหลายให้เขมร และกำลังจะยกโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งให้เขมรด้วย ถึงกับไปจบที่วลีเด็ดว่า “อีขายชาติ”
1) นายพายุ เนื่องจำนงค์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีข่าวการส่งคืนโบราณวัตถุ 20 รายการให้กัมพูชาว่า เรื่องนี้ถูกคนบางกลุ่มนำมาบิดเบือนอย่างจงใจกล่าวหาว่า รัฐบาลแพทองธาร “ขายชาติ ยกสมบัติให้ต่างประเทศ” ทั้งที่ข้อเท็จจริงทั้งหมดชัดเจนและได้มีมติ ครม. สืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านี้แล้ว
คำถามคือ – กลุ่มคนที่กล่าวหานี้ทราบข้อเท็จจริงหรือไม่? หรือรู้แต่จงใจบิดเบือนเพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง? เพราะข้อเท็จจริงกรณีนี้มีดังนี้
1.โบราณวัตถุเหล่านี้ไม่เคยเป็นสมบัติของประเทศไทยตั้งแต่ต้น
2.ถูกกรมศุลกากรยึดไว้เมื่อปี 2543 ขณะถูกลักลอบนำเข้าจากสิงคโปร์โดยผิดกฎหมาย
3.กรมศิลปากรตรวจสอบหลายครั้ง ก่อนที่กัมพูชาจะส่งหลักฐานยืนยันกรรมสิทธิ์อย่างเป็นทางการในปี 2567
4.รัฐบาลไทยจึงดำเนินการตามหลักฐานข้อกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศ
ในระดับสากล การคืนโบราณวัตถุเช่นนี้ถือเป็น “มาตรฐานของประเทศที่เจริญแล้ว” เพราะสะท้อนความรับผิดชอบในฐานะ “รัฐภาคีที่สุจริต” ภายใต้กรอบของ UNESCO และความตกลงทวิภาคี ไทย-กัมพูชา ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย ไม่ใช่อคติทางการเมือง
รัฐบาลไทยไม่ได้ “ยกให้” แต่ “คืนของที่ไม่ใช่ของเรา” ตามกระบวนการที่ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และที่สำคัญทั้งหมดเกิดก่อนที่ท่านนายกฯแพทองธารจะมาเป็น รมว.กระทรวงวัฒนธรรมด้วยซ้ำไป (ท่านเพิ่งเข้ากระทรวงวันนี้เป็นวันแรก) การนำรูปท่านมาประกอบพาดหัวข่าวเช่นนี้เหมือนมีเจตนาสร้างความเข้าใจผิด
ยิ่งไปกว่านั้นการกระทำของรัฐบาลยังเป็นหลักฐานชัดเจนว่า..
- ประเทศไทยไม่สนับสนุนการลักลอบขนย้ายและค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นของชาติใด
- ประเทศไทยยึดหลักนิติธรรมไม่ใช่ปลุกกระแสโหนชาตินิยมบิดเบือนความเป็นจริงเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม
ใครก็ตามที่ยังพยายามบิดเบือนและป้ายสีว่า “รัฐบาลยกสมบัติชาติให้เขมร” ก็เท่ากับว่าบุคคลเหล่านั้นกำลังดูถูกสติปัญญาของประชาชนและกำลังลดเกียรติภูมิของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก รัฐบาลนี้ไม่โหนความชาตินิยมราคาถูกเพื่อเอาตัวรอด
แต่เลือกที่จะยืนหยัดบนหลักฐานกฎหมาย และความสุจริตที่ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพราะการรักษาเกียรติของประเทศไม่ใช่การยึดของคนอื่นไว้ด้วยความเงียบงัน (เช่น บางประเทศที่ได้ไปทำการยึดมาเองในสมัยล่าอาณานิคม) แต่คือการกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ท่ามกลางเสียงที่พยายามบิดเบือนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการนำมาโจมตีครับ”
2) สิ่งที่พายุกล่าวนั้น จริงทุกอย่าง แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นอีก จากการแถลงของ “แพทองธาร” หลังเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีการชี้แจงเรื่องการส่งคืนวัตถุโบราณจำนวน 20 รายการ ให้กับประเทศกัมพูชา ยืนยันว่า เป็นเรื่องเก่า มีมาตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 โดยการคืนโบราณวัตถุดังกล่าว ประเทศไทยได้คืนไปแล้วจำนวน 23 รายการ หลังตรวจสอบว่าเป็นของกัมพูชาจึงส่งมอบคืนให้ จากทั้งหมด 43 รายการ ที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ ในปี พ.ศ.2543
จากนั้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 มีมติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ เห็นชอบให้ส่งมอบคืนวัตถุโบราณจำนวน 20 รายการ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ หลังกรมศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันว่า วัตถุโบราณดังกล่าว มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศกัมพูชา
แต่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณของกรมศิลปากร ซึ่งได้รับรายงานว่า งบประมาณในปีปัจจุบันไม่เพียงพอ และเป็นเรื่องไม่เร่งด่วน จึงไม่สามารถของบกลางได้ และจะต้องมีการส่งเรื่องเพื่อตั้งงบประมาณของกระทรวงฯ และรายงาน ครม.เพื่อทราบ เป็นขั้นตอนต่อไปในการหาหน่วยงานที่จะมาสนับสนุนงบประมาณในการส่งคืน
3) หลังการแถลงนี้แพร่ออกไป สื่อมวลชนกัมพูชารายงานว่า ดร.ผึ้ง สกุณา (Phoeurng Sackona) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ กัมพูชา ได้ส่งหนังสือเตือนถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของไทย ให้ทำตามสัญญาที่จะส่งคืนโบราณวัตถุ 20 ชิ้นให้แก่กัมพูชา
หนังสือดังกล่าวลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมฯกัมพูชา อ้างว่า ในระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ที่กรุงพนมเปญ รัฐบาลของทั้งสองประเทศ (กัมพูชาและไทย) ได้ประกาศข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการส่งคืนโบราณวัตถุเขมร 20 ชิ้น ซึ่งเป็นมรดกล้ำค่าของชาวเขมร ให้แก่กัมพูชา
อย่างไรก็ตาม กระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์กัมพูชา ได้รับทราบด้วยความสนใจอย่างยิ่งต่อคำแถลงของนางสาวแพทองธาร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 เกี่ยวกับการระงับการส่งคืนโบราณวัตถุเขมร 20 ชิ้น โดยอ้างถึงการขาดงบประมาณในการขนส่ง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่เหมาะสมและยอมรับไม่ได้
นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ยังระบุด้วยว่า กลุ่มงานด้านเทคนิคของทั้งสองกระทรวงได้ตกลงกันเรื่องวันและขั้นตอนการส่งมอบอย่างเป็นทางการแล้วโดยพิธีส่งมอบจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคม 2568 และการขนส่งจากประเทศไทยไปกัมพูชาจะเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2568 โดยกัมพูชาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งทั้งหมด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาระงบประมาณของกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย
ในเรื่องนี้ ดร.ผึ้ง สกุณา ได้ขอให้กระทรวงวัฒนธรรมของไทยดำเนินการตามข้อตกลงและกรอบเวลาที่กำหนดไว้เพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าเพิ่มเติม ฝ่ายกัมพูชาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการส่งกลับทั้งหมด
4) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการ รมว.ต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า “อย่าชักเข้าชักออก เรื่องคืนสมบัติโบราณวัตถุให้เขมร สมัยเป็นนายกฯ ไปตกลงคืนให้เขา พอเป็นรัฐมนตรีกลับเปลี่ยนใจดึงเรื่องไว้
“โบราณวัตถุเหล่านั้นไม่ใช่ของเราแน่นอน ส่งมาไทยจากสิงคโปร์กว่า 30 ปีแล้ว แม้กัมพูชาจะไม่มีหลักฐานชัดเจนมาแสดง แต่เขาแอบมาขอดูหลายครั้งและขอบางชิ้นชิ้นที่อาจจะดูดีมีราคา คือ กลีบขนุนประดับส่วนมุมของพระปรางค์ แต่เมื่อหลวมตัวตกปากรับคำส่งคืนไปแล้ว ให้เขาไปเหอะ เก็บไว้ก็ไม่มีคุณค่าอะไรแก่เราเรื่องนี้อย่าเอามาเป็นประเด็นการเมือง ไม่มีอำนาจต่อรองอะไรมากมายนัก ไม่ใช่มาสเตอร์พีซที่เขาต้องเอาให้ได้เหลือเรื่องดีๆ ให้หลงเหลืออยู่บ้าง อย่าชักเข้าชักออก” นายนันทิวัฒน์ ระบุ
สรุป : คุณได้เห็น “สมองที่ไม่รู้จักปะติดปะต่อ”และการแถลงที่ไม่รู้สี่รู้แปดจนเกิดปัญหา ของ“แพทองธาร” ชัดกันไหม ไปกัมพูชา เซ็นเอ็มโอยูส่งคืนกับเขาเอง กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมนัดวันกับเขาแล้ว ค่าใช้จ่ายเป็นของกัมพูชา ถึงเวลา“ปากเจ้าปัญหา อันเกิดสมองทึบๆ” ของเจ้าหล่อน ก็ทำให้เป็นเรื่องขึ้นมาอีกจนได้!!
จิตกร บุษบา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี