nn ในขณะที่ประชาชนกำลังใจจดใจจ่อรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่...ในภาคของเอกชนภาคธุรกิจกำลังรอคอยการเข้ามาบริหารประเทศโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่รออยู่ข้างหน้า และตอนนี้เราก็ได้เห็นเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนผ่านทางหลายๆ เวทีการสัมมนาหรือช่องทางสื่อมวลชนต่างๆ ที่ฝากไปถึงรัฐบาลใหม่
ยกตัวอย่างในเวทีสัมมนาเรื่อง “ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่” ซึ่ง คุณณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรี หลายกระทรวง กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า...เสนอให้ปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1% จากปัจจุบันที่ 7% รัฐบาลยังต้องใช้เงินพัฒนาอีกหลายโครงการ จึงต้องจัดหารายได้เพิ่ม แต่ควรทบทวนภาษีจากกำไรผู้ประกอบการ เพราะเป็นมาตรการทำให้ต่างชาติตัดสินใจย้ายไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน โดยควรใช้เทคโนโลยี ระบบออนไลน์ เข้ามาให้บริการประชาชน นักท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวเป็นแม่เหล็กสำคัญทำรายได้เข้าประเทศ การเร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ให้รบกวนบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศ
ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นด้วยกับการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ เพราะทำให้เริ่มคิดใช้งบที่สำคัญตั้งแต่จุดเริ่มต้น แต่ควรเริ่มจัดทำในปีถัดไป สำหรับงบประมาณปี 2568 การสานต่อโครงการลงทุนในเขตอีอีซี นับว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งเสริมระบบ WiFi 5G เข้าถึงทุกชุมชน รองรับการจัดทำนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล
ด้าน คุณศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าวว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ล่าช้าเกินเดือนสิงหาคม จะเป็นสุญญากาศทางเศรษฐกิจ การปล่อยไว้เป็นเวลานานตั้งรัฐบาลไม่ได้ น่าเป็นห่วงมาก เพราะหากมีเหตุการณ์สำคัญต้องใช้งบเพิ่ม สำหรับนโยบายรัฐสวัสดิการของ MOU พรรคร่วมรัฐบาล ต้องใช้งบฯ 6.5 แสนล้านบาท ไม่ควรให้มีภาระงบประมาณด้านสวัสดิการสัดส่วนเกิน 20% ของจีดีพี จากประสบการณ์ของหลายประเทศทั่วโลก หากเกินสัดส่วนดังกล่าวจะเป็นขีดอันตรายของฐานะการคลัง
ที่สำคัญไทยยังมีความเสี่ยงปัญหาแรงงาน ในอีก 7 ปีข้างหน้า แรงงานจะขาดหายไป 11 ล้านคน หรือสัดส่วน 1 ใน 3 ของแรงงานปัจจุบัน ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาระดับแรงงานคุณภาพ หรือผลิตบัณฑิตจำนวนมาก รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น มองว่า กระทรวงแรงงาน มีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน อีกทั้งรัฐบาลใหม่ยังต้องเร่งปฏิรูปกฎหมายอีกหลายฉบับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และการส่งเสริมแรงงานในประเทศ สำหรับปัจจัยภายนอก ยอมรับว่าสหรัฐอาจต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ทำ 6 ข้อเสนอเตรียมยื่นต่อพรรคการเมือง และรัฐบาลใหม่ สำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 1.ด้าน Competitiveness เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน 2.ด้าน Ease of Doing Business เช่น ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย เร่งปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ 3.ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี 4.ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติมีการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย และต่างด้าว 5.ด้าน SME เช่น สนับสนุนให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้จัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ 6.ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และการจัดทำแผนรองรับปัญหาการขาดแคลนอาหาร (Food Security) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
และวันที่ 31 พฤษภาคม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และผู้บริหารพรรคก้าวไกล จะเข้าพบหารือแลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังข้อเสนอของหอการค้าไทย โดย คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เตรียมหยิบยกประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะเร่งด่วนเพื่อหารือไว้แล้ว โดยแนวทางการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์นั้นภาคเอกชนเห็นด้วย แต่ยังกังวลเรื่องกรอบระยะเวลาการจัดทำงบประมาณว่าจะล่าช้าและจัดทำได้ทันในปีนี้หรือไม่ เพราะจะกระทบต่อเม็ดเงินที่ควรจะกระจายลงสู่แผนงานโครงการต่างๆ ในทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว รวมถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคก้าวไกลได้เสนอเป็นนโยบายหลักไว้ 450 บาท/วัน ในมุมมองของหอการค้าฯ มีความคิดเห็นและมีแนวทางต่อประเด็นดังกล่าวอย่างไร ตลอดจนประเด็นการปรับโครงสร้างต้นทุนค่าพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่หอการค้าฯเตรียมหารือและเสนอแนวทางเร่งด่วนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบด้านต้นทุน
ของผู้ประกอบการ และค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้
นอกจากนั้น ยังจะมีการพูดคุยเกี่ยวข้องกับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ การขับเคลื่อน EEC เพื่อดึงดูดการลงทุน การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกนักลงทุนจากต่างประเทศ การค้าชายแดนและค้าผ่านแดน การส่งเสริมภาคธุรกิจเกษตร อาหาร และ BCG & ESG การสนับสนุนผู้ประกอบการ และ Startup ไทยด้านนวัตกรรม ข้อเสนอของสมาคมการค้า และการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่าจะมีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจอีกหลายเรื่อง หลายเวที หลายวาระ จนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ ซึ่งถึงตรงนี้ก็ต้องบอกเลยว่า...งานด้านเศรษฐกิจที่รออยู่ข้างหน้าไม่ง่ายเลยสำหรับรัฐบาลใหม่...
กระบองเพชร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี