** Productivity ของแรงงานในภาคก่อสร้างไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากนัก มูลค่าภาคก่อสร้างไทยอยู่ในระดับสูงราวปีละ 1.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 8% ของมูลค่า GDP แต่หากพิจารณาทางด้าน Productivity แล้ว จะพบว่า Productivity ของแรงงานในภาคก่อสร้างไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่ ต้นทุนก่อสร้าง ทั้งค่าวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงงาน ยังอยู่ในระดับสูง ปัจจุบันต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของต้นทุนก่อสร้างโดยรวม เพิ่มขึ้นจากในช่วงปี 2018 ที่คิดเป็นสัดส่วนราว 55% ของต้นทุนก่อสร้างโดยรวม โดยราคาวัสดุก่อสร้างหลัก ทั้งเหล็กทรงยาว และปูนซีเมนต์ ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยในอดีต ประกอบกับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สงครามการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาพลังงานมีความผันผวน และถูกส่งผ่านมายังต้นทุนการผลิต และการขนส่งวัสดุก่อสร้างตามมา นับเป็นความเสี่ยงด้านต้นทุนก่อสร้างที่ผู้รับเหมาก่อสร้างยังต้องเผชิญอยู่ในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เผชิญปัญหาด้านสภาพคล่องของกิจการ โดยผู้รับเหมาก่อสร้างที่รับงานภาครัฐเป็นหลักเผชิญความล่าช้าในการเปิดประมูลโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ ส่งผลให้สูญเสียโอกาสในการรับงานก่อสร้างใหม่ ๆ ราคากลางในการเปิดประมูลโครงการก่อสร้างที่อาจไม่สอดคล้องกับต้นทุนก่อสร้าง ท่ามกลางสถานการณ์การประมูลที่ยังมีการแข่งขันด้านราคา การเบิกจ่ายค่า K ที่อาจเป็นไปอย่างล่าช้า ตลอดจนสูตรการคำนวณค่า K ที่ไม่สะท้อนต้นทุนการก่อสร้างที่แท้จริง ในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างที่รับงานภาคเอกชนเป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัย ยังเผชิญข้อจำกัดในการรับงานก่อสร้างใหม่ ๆ จากผลของการกลับมาหดตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
กล่าวได้ว่า ภาคก่อสร้างเผชิญวิกฤติที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังต้องยกระดับ Productivity ไปจนถึงความท้าทายในการประกอบธุรกิจ ทั้งข้อจำกัดทางด้านรายได้ การรับงานก่อสร้างใหม่ ๆ และการบริหารจัดการด้านต้นทุน รวมถึงเผชิญปัญหาด้านสภาพคล่องของกิจการตามมา ตั้งแต่กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ไปจนถึงกลุ่มผู้รับเหมาช่วงใน Supply chain ของผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็ก ส่งผลให้ในช่วงปี 2022-2023 จำนวนการปิดกิจการก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นมาก ขณะที่จำนวนการเปิดกิจการใหม่ลดลง และสำหรับในปี 2024 ก็ยังพบว่า จำนวนการปิดกิจการก่อสร้างยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็กที่เผชิญปัญหาด้านสภาพคล่องของกิจการ และข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ขณะที่การเข้ามาแข่งขันประกอบธุรกิจของผู้รับเหมาก่อสร้างชาวจีน ยังเป็นความท้าทายสำคัญให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไทยเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังนำมาสู่การใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างจากจีนมากขึ้น โดยเฉพาะเหล็ก และอะลูมิเนียม ส่งผลกระทบต่อเนื่องตลอด Supply chain ของภาคก่อสร้างไทย และคาดว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้า
ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ จะช่วยเพิ่ม Productivity และบริหารจัดการความท้าทายต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสร้างความสามารถในการแข่งขันเข้าประมูลงานก่อสร้าง ซึ่ง เทคโนโลยีที่ผู้รับเหมาก่อสร้างมีการใช้อย่างแพร่หลาย ได้แก่ ซอฟต์แวร์ด้านการออกแบบและก่อสร้าง เทคโนโลยีก่อสร้างแบบสำเร็จรูป และการใช้บริการแพลตฟอร์มตัวกลาง ทั้ง B2B และ B2C ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ และรายกลางบางส่วนเริ่มมีการนำ BIM และ 3D Printing มาใช้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการนำ AI มาใช้ เช่น ขั้นตอนการออกแบบ และสร้างแบบจำลองสามมิติ การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ภูมิอากาศ เพื่อวางแผนการดำเนินโครงการก่อสร้าง อีกทั้ง ยังสามารถนำ AI มาใช้เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายในพื้นที่ก่อสร้าง
สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็กควรเร่งยกระดับการใช้ BIM เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเป็นผู้รับเหมาช่วงของผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่มีการใช้ BIM อยู่แล้วได้ อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาใช้ในระยะแรก จะต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะแรงงาน และผู้รับเหมาก่อสร้างควรร่วมมือเป็นพันธมิตรกับผู้รับเหมาก่อสร้างต่างชาติ ที่มีเทคโนโลยีก่อสร้างที่ทันสมัย เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นสำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ว่าจ้างโครงการก่อสร้างได้ต่อไป
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานการใช้ BIM ในการประมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐที่มีมูลค่าโครงการสูง การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และการสนับสนุนเงินทุนสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็กที่ลงทุนนำเทคโนโลยี BIM และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องมาใช้ สำหรับเทคโนโลยีก่อสร้างอื่น ๆ ทั้ง 3D Printing, AI, อุปกรณ์และเครื่องจักรอัตโนมัติ, Drone, Sensor, Smart wearable รวมถึงเทคโนโลยีก่อสร้างที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็ยังต้องได้รับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ต้นทุนการผลิตอุปกรณ์ เครื่องจักร และซอฟต์แวร์ของเทคโนโลยีกลุ่มนี้มีแนวโน้มลดลง ในระดับที่สร้างความคุ้มค่าในการลงทุนนำเทคโนโลยีกลุ่มนี้มาใช้ได้
**SCB EIC**
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี