การต่อสู้ทางการเมืองนั้นคนที่ไม่มีอาวุธหรือไม่ได้ครองอำนาจรัฐก็มักจะสู้กับฝ่ายครองอำนาจรัฐด้วยขั้นตอนแรก คือ "สันติวิธี" หรือ "อหิงสา" (ถ้าไม่สำเร็จก็อาจจะใช้ความรุนแรงแบบต่างๆ) คำทั้งสองนี้มีความหมายเหมือนกัน แต่ก็มักจะมีใช้คู่กัน คือ "สันติ - อหิงสา"
ผมยกข้อความของศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สวชต.) ที่อธิบายความหมายของคำว่า "สันติวิธี" มาดังนี้
สันติวิธี หมายความว่า วิธีการแก้ไขปัญหาในสังคมการเมืองที่ต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติ (Problem Solving) มิใช่การยอมจำนนต่อปัญหาหรือการนิ่งเฉย โดยให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันฉันท์มิตร ปราศจากอคติและความเกลียดชัง ยอมรับและเห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลาย ถือความยุติธรรมเป็นใหญ่ โดยบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรมอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ตรวจสอบได้ และไม่เลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งยอมรับความเจ็บปวดหรือความทุกข์ร่วมกับเพื่อนร่วมชาติด้วยการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายด้วยความอดทนอดกลั้น สันติวิธีจึงไม่ใช่ "ปฏิบัติการทางจิตวิทยา" แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งจากคู่ขัดแย้งที่มีปฏิกิริยารุนแรงต่อกันไปสู่การแสวงหาทางออกอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างคู่ขัดแย้ง
ส่วนคำว่า “อหิงสา” ผมเรียบเรียงจากวิกิพีเดีย ดังนี้
อหิงสา หรือ อหึงสา หมายถึง การไม่เบียดเบียน การเว้นจากการทำร้าย คำว่า "อหิงสา" ยังหมายถึง การไม่ใช้ความรุนแรงไม่เพียงมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงสัตว์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดด้วย
อหิงสาเป็นคุณธรรมหลักอย่างหนึ่ง และเป็นความเชื่อสำคัญของศาสนาแบบอินเดียที่สำคัญเช่นศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน
อหิงสาเกิดจากมโนทัศน์ที่ว่า "สิ่งมีชีวิตทั้งปวงล้วนมีเสี้ยวหนึ่งของพลังงานวิญญาณเทวะ การทำร้ายสิ่งอื่นจึงเป็นการทำร้ายตนเอง" อหิงสายังเกี่ยวข้องกับแนวคิดที่ว่า ความรุนแรงใด ๆ มีผลกรรมสะท้อนกลับมา ขณะที่ปราชญ์ฮินดูสมัยโบราณบุกเบิกและพัฒนาหลักการอหิงสา มโนทัศน์ดังกล่าวกลายมามีสถานะพิเศษทางจริยธรรมของศาสนาเชน
มหาตมะ คานธี เป็นผู้เชื่อในหลักอหิงสาอย่างแรงกล้า สันติวิธีของคานธีนั้นมีความผูกพันกับศาสนาค่อนข้างสูง ท่านเคยกล่าวว่า "When there is ahimsa there is truth and truth is God" ซึ่งเป็นโลกของจิตวิญญาณมากกว่าโลกของกายเนื้อ และต้องศรัทธาในศาสนาและอดทนต่อความยากลำบาก ความทุกข์ทรมานที่จะได้รับจากฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะมีอำนาจมากหรือน้อยกว่าฝ่ายตน
นอกจากสันติวิธีหรืออหิงสาที่เน้นเรื่องจิตใจแล้วก็ยังมี “สันติวิธีทางสังคมวิทยา” ด้วย ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับศรัทธาทางศาสนา เช่นทฤษฎีของยีน ชาร์ป Gene Sharp ที่เน้นเรื่องของ “อำนาจ ”
ยีน ชาร์ป เน้นว่าอำนาจไม่ใช่สิ่งซึ่งทรงพลังโดยตัวของมันเอง แต่เป็นเรื่องของการยอมรับ การเชื่อฟัง อำนาจจึงจะดำรงอยู่ได้ ดังนั้นการต่อสู้กับ “ อำนาจ” สำหรับแนวทางอหิงสาหรือสันติวิธีทางสังคมวิทยาแล้ว ก็คือการปฏิเสธอำนาจ การไม่ยอมรับ การไม่เชื่อฟัง ไม่ให้ความร่วมมือ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งซึ่งรับรู้ได้ในโลกวัตถุ
ในแง่นี้ สันติวิธีก็ยังเป็นการต่อสู้ที่เคารพมนุษย์ เคารพอำนาจที่มนุษย์สามารถกระทำได้ เช่น การไม่ซื้อสินค้าจากบริษัทที่คดโกง ขูดรีด ไม่รับฟังข่าวสารจากสื่อมวลชนที่ไม่เป็นกลางไปจนถึงการไม่ให้ความร่วมมือและไม่เชื่อฟังรัฐที่ปกครองโดยไม่ชอบธรรม ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นอำนาจที่ปัจเจกบุคคลสามารถกระทำได้ทั้งสิ้น”
ดังนั้นสันติวิธีหรืออหิงสาจึงเป็นวิธีการต่อสู้ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในความดีงามของมนุษย์ ทั้งของฝ่ายตนและฝ่ายตรงข้าม
ข้อสังเกตของผมก็คือ สันติวิธีหรืออหิงสาแบบสังคมวิทยานั้นเน้นเรื่องคุณธรรมที่เรียกว่า “มนุษย์และความเป็นมนุษย์” ส่วนสันติวิธีหรืออหิงสาแบบศาสนานั้นเน้นที่ “สัจจะ”
สัจจะของสันติวิธีหรืออหิงสานั้นเน้นตั้งแต่เรื่อง “ไม่มุสา” “เชื่อมั่นในคุณธรรมของมนุษย์ด้วยกัน” จนกระทั่งถือว่า “เป็นพระเจ้า” ผู้ที่นำมาใช้และโลกรู้จักกันดีก็คือมหาตมะ คานธี
เมื่อมองมายังสังคมไทยที่มีการต่อสู้ทางการเมืองมาหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงปี 2552-2557 เราก็เห็นได้ว่าทุกฝ่ายที่ออกมาต่อสู้ก็ป่าวประกาศว่าฝ่าย “ต่อสู้ด้วยสันติ – อหิงสา – ไม่ใช้ความรุนแรง” แต่จริงหรือไม่จริงวิญญูชนก็ได้เห็นมาแล้ว
มาถึงการต่อสู้ของ “ธรรมกาย” ในปัจจุบัน เมื่อดูอย่างผิวเผินก็เหมือนเป็นการต่อสู้เรื่องศาสนา ธรรมกายเองก็ต้องการให้โลกเชื่อเช่นนั้น ดังจะเห็นได้จากการแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเขียนข้อความในโลกออนไลน์ว่าฝ่ายตน “ต่อสู้เพื่อปกป้องพุทธศาสนา” และ “ถูกรัฐรังแก”
ประการสำคัญคือพวกตนต่อสู้ด้วย “สันติวิธี – ไม่ใช้ความรุนแรง” (อหิงสา)
ผมประหลาดใจมากๆก็คือ เมื่อธรรมกายประกาศว่าฝ่ายตนต่อสู้เพื่อปกป้องพุทธศาสนา และต่อสู้ด้วยสันติวิธีหรืออหิงสา แต่ทำไมแต่ละวันจึงมีแต่เรื่อง “มุสา” ซึ่งรวมถึงการเบี่ยงเบนประเด็น สร้างเรื่องเท็จ แถ ยั่วยุ ปลุกระดม ข่มขู่ หมิ่นประมาท ต่อต้าน ต่อรองเพื่อจะอยู่เหนือกฎหมาย ซ้ำยังสร้าง “ค่าย คู ประตู หอรบ” หรือที่ฝ่ายตนบอกว่า “เพื่อรักษาความปลอดภัยและป้องกันมือที่สาม”
ฝ่ายเดียวกันนั้นเชื่อทุกอย่างว่าเป็นเช่นนั้นแน่ๆ แต่คนที่มีสติมีปัญญาเขาไม่เชื่อด้วย เขาเห็นว่าธรรมกายไม่เคารพกติกาของสังคมหรือกฎหมายของรัฐ ตั้งตนเป็นรัฐอิสระ เป็นรัฐซ้อนรัฐ แน่นอนว่าถ้าตีความก็เข้าขั้น “กบฏ”
ดังนั้น การต่อสู้ของธรรมกายจึงไม่ใช่เพื่อพุทธศาสนา แต่เพื่อตัวเองและคนที่มีผลประโยชน์มหาศาลร่วมกัน และสู้เพื่อจะคงอำนาจของตนไว้ต่อไป
ยิ่งเมื่อมองไปที่ “วิธีการต่อสู้” ที่ป่าวประกาศว่าสันติ – อหิงสา ก็เห็นแต่อารมณ์คุคั่งด้วยความโกรธแค้นอยู่ในรอยยิ้มและดวงตา มุสาเป็นรายวันราวกับสมาทานไว้เป็นอนุสัย
จึงป่วยการที่จะพูดถึงการต่อสู้ในระดับเพื่อ “ความดีงามของมนุษย์” (ทั้งฝ่ายตนและฝ่ายตรงข้าม) และยิ่งห่างชั้นจากการต่อสู้เพื่อ “บรรลุสัจจะ” ราวกับนรกกับสวรรค์
ด้านธรรมวินัยจึงเป็น “โมฆบุรุษ”
ด้านนิติรัฐเป็น “อาชญากรรม”
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี