อาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นอาทิตย์ที่สร้างความสั่นไหวในหัวใจใครหลายคนโดยเฉพาะคนยุค 80-90 เริ่มต้นด้วยการจากไปของราชาหมอลำยุคนั้นอย่างพรศักดิ์ ส่องแสงต่อให้ไม่เคยฟังหมอลำก็ต้องรู้จัก เพราะเพลงสาวจันท์กั้งโกบของพรศักดิ์ส่องแสงดังระเบิดระเบ้อ เด็กเที่ยวเธคยุคดิฉันกริ๊ดสลบเต้นเพลงฝรั่งอย่างเมามันในเธค ดีเจสลับมาเป็นเพลงนี้เฉยเลยเรียกเสียงกริ๊ดลั่นเธค
พอวันถัดมา แฟนเพลงพี่อ๊อด คีรีบูนช็อคกันทั้งประเทศเพราะข่าวการเสียชีวิตของพี่อ๊อค คีรีบูน ขนาดดิฉันไม่ใช่สายบู ยังรู้จักอ่านมาถึงตรงนี้ คนรุ่นหลังอาจจะงง อะไรน่ะ สายบู ยุคปี 90เราแบ่งกลุ่มแฟนเพลงออกเป็นสองสาย คือสายบูคือบูติกกลุ่มนี้จะเน้นเพลงรักหวานเป็นหลัก กับสายเฮฟวี่ ที่เน้นร็อคกับเฮฟวี่พี่อ๊อดดังขนาดไหนนี่วัดจากขนาดดิฉันไม่ชอบฟังเพลงแบบมีเนื้อร้องยังร้องเพลงพี่อ๊อดได้เพียบ เพราะดังจริงๆ โดยเฉพาะเพลง“รอวันฉันรักเธอ” เสียงนุ่มสบายหู ไม่ด่าทอไม่ตัดพ้อใครถูกใจคนฟังทุกสาย ไม่ว่าจะเป็นสายบูหรือเฮฟวี่
ในวันเดียวกัน ขณะที่คนรุ่นดิฉันยังช็อคกับการจากไปของพี่อ๊อดเพราะจากไปเพียงแค่วัย 57 ปีเท่านั้น ข่าวร้ายอีกข่าวก็ตามมาและข่าวนี้สั่นสะเทือนหัวใจคนรักเพลงบรรเลงอย่างดิฉันที่สุดนั่นคือข่าวการจากไปของอาจารย์บรูซ แกสตัน เชื่อว่าไม่เฉพาะดิฉันแต่คนรักเพลงบรรเลงทุกคนคงตกใจต่อข่าวนี้
สมัยก่อนนั้นไม่มีซีดี มีแค่เทปกล่องสี่เหลี่ยมเล็กๆปกแรกนั้นสวยสุดใจ ปกขาวมีทองคำเปลวแปะมาหนึ่งแผ่นดูเป็นสากลและไทยในเวลาเดียวกัน วงดนตรีนั้นชื่อวงฟองน้ำเพราะปกสวยเลยซื้อมาลองฟังดู แล้วหลงรักวงนี้
ดิฉันในวัยเยาว์ฟังทุกบทเพลงของวงฟองน้ำอย่างดื่มด่ำแนวเพลงของวงฟองน้ำเป็นเพลงไทยเดิมบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีสากลอดแปลกใจไม่ได้ว่าใครหนอช่างรังสรรค์งานไทยเข้ากับสากลได้อย่างลงตัวเช่นนี้ พลิกดูเจอชื่อฝรั่งนาม “บรูซ แกสตัน” จดจำชื่อนี้ไว้ในใจอุดหนุนงานดนตรีของฝรั่งชื่อบรูซ แกสตันอย่างต่อเนื่อง จนเรียนจบทำงาน และย้ายมาอยู่อเมริกา
บรูซ แกสตัน เกิดเมื่อพ.ศ. 2490 เป็นนักดนตรีชาวอเมริกันที่มาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 22 ปีเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งวงดนตรีฟองน้ำร่วมกับครูบุญยงค์ เกตุคง ตั้งแต่ พ.ศ.2522 โดยนำเสนอดนตรีไทยเดิม มาผสมผสานกับดนตรีแบบตะวันตก
โดยยึดเอาแก่นความคิดดนตรีของทั้งสองฟากมาผสมผสานโดยกลวิธีต่างๆอาจารย์จบการศึกษาด้านทฤษฎีดนตรี การประพันธ์เพลงและปรัชญาและมีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกหลากหลายชนิดหลังจากเข้ามาอาศัยในประเทศไทยได้ฝึกฝนการเล่นเครื่องดนตรีไทยกับครูบุญยงค์เกตุคงและร่วมกันตั้งวงดนตรีฟองน้ำในเวลาต่อมา
ความสามารถอันเต็มเปี่ยมของอาจารย์ทำให้ได้รับการยกย่องจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกระทรวงวัฒนธรรม รับรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาคีตศิลป์ ประจำปีพ.ศ. 2552 โดยเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้
ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ ผศ. สารภี แกสตัน อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรชายคือ ธีรดล ธีโอดอร์ แกสตันแม้อาจารย์บรูซจะเป็นคนอเมริกัน แต่ทั้งชีวิตอาศัยอยู่ในประเทศไทยและสร้างความรื่นรมย์ให้คนไทยมาหลายสิบปีอาจารย์บรูซเคยให้สัมภาษณ์ว่า
“ผมเกิดที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาโตมาในครอบครัวที่รักเสียงดนตรีและเริ่มรู้จักความงามของดนตรีตั้งแต่อายุ 3 ขวบโดยสามารถเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเปียโน,ออร์แกน และ เพลงขับร้องประสานเสียงตอนเรียนมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนียผมเลือกเรียนสาขาวิชาที่ถนัดคือ ทฤษฎีดนตรี การประพันธ์เพลงและปรัชญา จบปริญญาโทในปี พ.ศ..2512ช่วงเวลานั้นเกิดสงครามเวียดนามขึ้นพอดีหนุ่มสาวชาวอเมริกันจำนวนมากถูกส่งตัวมาประจำการในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการทำร้ายชีวิต เพราะเป็นมังสวิรัติไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามจึงเลือกรับใช้ชาติด้วยการทำงานอื่นตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญรัฐบาลอเมริกันจึงส่งผมมายังประเทศไทยเพื่อเป็นครูดนตรีซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือสังคม ตอนนั้นผมอายุแค่ 22 ปี”
“ผมจำได้ว่าเดินทางมาถึงเมืองไทยตอนปี พ.ศ. 2514 ทำงานเป็นครูสอนดนตรีที่พิษณุโลกซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆที่ยังห่างไกลความเจริญงานของผมคือเป็นครูอาสาสมัครสอนดนตรีให้เด็กประถมศึกษาที่โรงเรียนผดุงราษฎร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนจนๆในความดูแลของคริสตจักรไม่มีงบประมาณมากพอจะซื้อเครื่องดนตรีผมจึงจำเป็นต้องคิดหาวิธีสอนเด็กนักเรียน
โดยดัดแปลงไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นกับขลุ่ย เพื่อมาสร้างวงโยธวาทิตสอนเด็กนักเรียนเดินพาเหรดเท้าเปล่าและสอนให้รู้จักการเล่นดนตรีอย่างสร้างสรรค์ ตอนที่ประกวดวงโยธวาทิตวงของเราเล่นเท้าเปล่า และแพ้ย่อยยับ เพราะเราไม่มีเงินแต่ความจริงแล้วเราฝีมือดีกว่ามาก ผมสอนอยู่ประมาณ 6 เดือนแล้วย้ายไปเชียงใหม่เพราะทางวิทยาลัยพายัพเปิดหลักสูตรดนตรีระดับปริญญาตรีผมจึงกลายเป็นอาจารย์สอนดนตรีรุ่นแรก หลังจากสอนได้ 2 ปีผมเดินทางกลับบ้านเกิด
…..พอไปถึงอเมริกาก็รู้เลยว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านเราแล้ว ต้องกลับประเทศไทย ! โหยหาอยากกลับเมืองไทยอีกครั้งเพราะมีอะไรสะกิดใจคงเป็นเพราะติดใจเสียงดนตรีปี่พาทย์นางหงส์ที่ได้ยินได้ฟังทุกวัน”
“สมัยเป็นอาจารย์อยู่วิทยาลัยพายัพ หอพักของผมอยู่ติดกับป่าช้าเวลาเผาศพในป่าช้า เพลงปี่พาทย์นางหงส์ก็จะบรรเลงขึ้นมาทุกทีผมสนใจมาก จนวันหนึ่งตัดสินใจเดินลงไปดู เห็นเด็ก 10ขวบกำลังนั่งบรรเลงอยู่ ผมเลยคิดว่า ถ้าเด็กสามารถเล่นได้ขนาดนี้ผมต้องลองบ้าง ด้วยความเป็นนักดนตรีเหมือนกันจึงขอฝากตัวเป็นศิษย์นักดนตรีชาวบ้านละแวกนั้นทำให้ได้รู้จักคุณค่าของเสียงดนตรีที่แตกต่างไปจากดนตรีตะวันตกอันคุ้นเคย”
“ผมยังสนใจในเรื่องพุทธศาสนาด้วย การใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ทำให้ผมได้สัมผัสความงามของดนตรีท้องถิ่น ดนตรีล้านนาโบราณดนตรีชาติพันธุ์ต่างๆที่ปะปนกันอยู่ในเขตภาคเหนือของไทยและที่สำคัญคือได้พัฒนาความรู้เรื่องดนตรีไทยที่เข้มข้นขึ้นเนื่องจากช่วงนั้นกรมศิลปากรได้เปิดสาขาวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่เชียงใหม่ทำให้ผมมีโอกาสเรียนดนตรีไทยจริงจัง โดยหัดระนาดเอกกับ“ครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ” และได้หัดปี่พาทย์รอบวงจาก “ครูโสภณ
ซื่อต่อชาติ” อดีตศิษย์เอกครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)ซึ่งเดินทางไปพำนักกับครอบครัวที่เชียงใหม่วิชาความรู้จากการเรียนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านในยุคนี้ทำให้เกิดการทดลองประยุกต์การเรียนการสอนที่วิทยาลัยพายัพโดยผสมผสานดนตรีสากลและดนตรีไทยเข้าด้วยกัน
อาจารย์บรูซเล่าความย้อนอดีตถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจดนตรีไทยเดิมว่าในงานมหกรรมดนตรีไทยอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวงดนตรีไทยวงหนึ่งนำเพลงชื่อ“ชเวดากอง” มาบรรเลง ทำนองเพลง กับจังหวะกระทบใอย่างแรงพอถามจนรู้ว่าผู้แต่งคือครูบุญยงค์ เกตุคง ยอดนักระนาดที่อดีตนายกรัฐมนตรีจีนโจวเอินไหลยกย่องว่ามีเสียงระนาดไพเราะดุจไข่มุกหล่นบนจานหยกอาจารย์บรูซจึงรีบเดินทางจากเชียงใหม่ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์“ครูบุญยงค์ดุเหลือเกิน แต่ผมก็ตั้งใจว่าจะต้องขอวิชาให้ได้!!ผมทุ่มเททุกอย่างเพื่อฝึกฝนดนตรีไทยกับ
ครูบุญยงค์ด้วยความเมตตาของครูได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ศิษย์ต่างชาติต่างวัฒนธรรมคนนี้อย่างไม่ปิดบังไม่ว่าจะเพลงหน้าพาทย์พิธีกรรม เพลงประโคม เพลงหมู่ เพลงเดี่ยวโดยเฉพาะปี่พาทย์และระนาดเอก ผมได้รับการถ่ายทอดวิชาด้านนี้ไว้มากเพราะครูเป็นซึ่งวิชาเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญให้ผมนำไปพัฒนางานดนตรีไทยร่วมสมัย”
จากนั้นทั้งครูทั้งศิษย์ก็ตั้งวงดนตรีฟองน้ำร่วมกันท่ามกลางนาทีแห่งการจากพรากไม่น่าเชื่อว่าความอาลัยครูบรูซจะมากมายมหาศาลเป็นความผูกพันทางใจมายาวหลายสิบปีระหว่างครูเพลงและแฟนเพลงจนวันที่อาจารย์จากไปในประเทศที่เป็นบ้านที่สองของอาจารย์ดิฉันผู้อาศัยในบ้านหลังที่สอง อันเป็นบ้านหลังแรกของอาจารย์บรูซ
ได้แต่อาลัยรักและขอให้ดวงวิญญาณของอาจารย์สู่สุคติตามความเชื่อทางพุทธศาสนาและ May You Rest In Peaceตามความเชื่อแบบคริสตศาสนา..ลาก่อน..อเมริกันหัวใจไทย บรูซ แกสตันขอบคุณที่มอบบทเพลงอันงดงามหล่อหลอมกล่อมเกลาจิตวิญญาณมาโดยตลอด
.....................................................
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี