ชายทุ่งเหนือกรุงเทพฯ อดีตมีโขลงช้างป่าและไข้ป่า
ทุ่งรังสิตสมัยก่อนราวพ.ศ. 2430เป็นที่อยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มเฉพาะบริเวณที่มี “คลอง” หรือ “บาง” ที่เชื่อมต่อจากแม่น้ำ และสามารถชักน้ำเข้าในพื้นที่เพาะปลูกได้ พื้นที่ห่างไกลแม่น้ำ เป็นหนองบึง และป่า ที่มีสัตว์มากมายอาศัยอยู่ เช่น งูสมันกวางช้างป่า เสือ ฯลฯ รวมถึงไข้ป่า
ต่อมาล้นเกล้ารัชกาลที่5 ทรงโปรดให้มีการขุดคูคลองที่ทุ่งอันกว้างใหญ่ ให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวด้วยการขุดคลองได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี พ.ศ. 2430-40ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตอนใต้ ต่อมาผู้คนกลุ่มต่างๆ มอญ ไทย คนจีน ลาว (อีสาน) มุสลิมมาลายูเข้ามาตั้งรกรากเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันกับการถอยร่นไปของโขลงช้างและการสูญพันธุ์ไปโดยสิ้นเชิงของเนื้อสมัน (Shomburgk deer) กวางชนิดหนึ่งซึ่งค้นพบเฉพาะ ที่เมืองไทยเพียงแห่งเดียวในโลก และเคยอาศัยอยู่อย่างชุกชุมใน “ทุ่งหลวงรังสิต”
เนื้อสมันเขางาม
ปัจจุบันเนื้อสมันที่เคยมีชุกชุมในทุ่งรังสิตได้สูญพันธุ์ไปอย่างน่าเสียดายด้วยฝีมือมนุษย์พวงกิ่งเขาแตกแขนงอย่างสวยงามเหมือนเนรมิต แต่กลับเผชิญกับอันตราย เพราะมันไม่สามารถมุดเข้าสุมทุมพุ่มไม้เนื่องจากพวงกิ่งก้านจะติดพันกับกิ่งไม้และเถาวัลย์ จึงเป็นจุดอ่อนให้ถูกล่าอย่างง่าย จึงได้แต่วิ่งหนีไปตามทุ่งโล่งยิ่งทำให้ถูกตามล่าได้ง่ายขึ้น
ร้านดูลึกลับเก่าแก่มีมนต์ขลัง พอเปิดดูเมนูพลันบังเกิดความป่าๆ ดิบๆ เถื่อน ถูกใจสายอาหารป่าเห็นจานอาหารที่บริกรยกผ่านไปมา ได้เห็นได้กลิ่นชนิดแบบใกล้เคียงกับรุ่นปู่ย่าตาทวด เพียงต่างกันที่วัตถุดิบหลายๆ อย่างจากทุ่งลำเนาไพรได้สูญหาย แต่ปัจจุบันเนื้อสัตว์ป่าหลายอย่างก็ถูกเอามาเลี้ยงในฟาร์มเช่น เก้ง กวาง หมูป่า จระเข้ กบ หรือปลาหลายชนิด ดังจะกล่าวต่อไป
ปลาซิวทอด
ปลาแม่น้ำที่เคยชุกชุมจนชาวบ้านเอาไปทำน้ำปลาร่วมกับปลาสร้อย ทุกวันนี้เริ่มหายากเกินกว่าจะเอาไปทำน้ำปลาหรือเลี้ยงแมว จึงขอดเกล็ดทอดไฟแรงจนกรอบเคี้ยวได้ทั้งตัว ทำน้ำจิ้มรสจัดเป็นกับแกล้มชนแก้วกันยามโพล้เพล้
กบทอดกรอบ
กบตัวโตน่องอวบน้องๆน่องไก่ ทอดติดหนังจนหนังกรอบเป็นข้าวเกรียบ พอได้เคี้ยวกรอบ แกรบเหมือนเป็นเสียงไปปลุกเหล่าพยาธิในพุง
ทอดมันปลากราย
สัมผัสคำแรกก็รู้ว่าเป็นเนื้อปลากรายล้วน เนื้อปลากรายแท้ต้องเหนียวพอเหมาะมีรสมีชาติ ไม่ร่วนเหมือนผสมแป้งหรือเหมือนเคี้ยวยางรถยนต์
ผัดเผ็ดงูเห่า
อันตัวงูเห่านั้นมีกระจายอยู่ทั่วประเทศไม่เว้นแต่ในกรุงเทพฯ หรือชานเมือง เมื่อหลายปีก่อนไปเดินเล่นที่อำเภอบางพลีจะเห็นแทบทุกบ้านมีกรงใส่งูเห่าเพื่อส่งขาย ผู้ที่ไม่คุ้นเคยมักจะเกรงกลัวเพราะพิษมันแรง ถ้าส่งสถานเสาวภาไม่ทันก็สิ้นบุญกันแค่นั้น อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่หาญกล้ายังจับขึงแล้วกรีดพุงตัดดีงูมาแช่เหล้าหย่อนใส่ปากเดี๋ยวนั้น นัยว่าช่วยให้สายตาดี กลางคืนมองชัด แล้วบรรจงแล่หนังไม่ให้ฉีกขาดดองเกลือขายร้านทำรองเท้า แล่มันงูเป็นยวงเจียวน้ำมัน ตำน้ำพริกลงผัด ส่วนเนื้องูนั้นยังแหยงมันอยู่ จึงสับพอละเอียดลงผัดกับน้ำพริกที่เผ็ดเป็นไฟประลัยกัลป์ตักกินกันอย่างกล้าๆ กลัวๆ ผัดเผ็ดงูเห่าร้านนี้คงไม่พ้นวิธีโบราณดังกล่าว
ปลาช่อนนาน้ำตก
เป็นปลาช่อนจับจากคุ้งน้ำท้องนาช่วงหน้าหนาว จึงมีขนาดใหญ่ ขอดเกล็ดบั้งแล้วทอดทั้งตัวจนหนังเกรียม แล้วราดด้วยน้ำตกรสจัด โรยใบมะกรูดทอด กะเพราทอด แถมน้ำจิ้มรสเจ็บมาอีกถ้วย อร่อยจนน้ำหูน้ำตาไหล เนื้อขาวเหมือนเนื้อสำลี ไร้ความสาบคาวใดทั้งสิ้น
คางจระเข้ผัดเผ็ด
ฟังดูน่าเกรงขาม แต่นักกินเล่าขานว่าเป็นส่วนอร่อยที่สุดของจระเข้ทั้งตัว แม้แต่เนื้อบ้องตัน(หางจระเข้)ที่ว่าดีที่สุดก็ยังสู้ไม่ได้ เพราะได้ความมันกับความกรุบกรอบของหนังส่วนคาง เป็นรายการที่มีผู้สั่งมากที่สุด อย่างไรก็ดีไม่พ้นจะผัดด้วยน้ำพริกที่เผ็ดโหด นัยว่าเพื่อแก้ความน่ากลัวจะถูกมันแก้แค้นในชาติหน้า
ปลาช่อนนานึ่งซีอิ๊ว
ปลาที่ได้มาสดใหม่จากท้องทุ่ง เนื้อขาวปานสำลี นึ่งขิงข่าซอย ราดน้ำซีอิ๊วอย่างหอม สุกแล้วจึงโรยต้นขึ้นฉ่ายและพริกชี้ฟ้าซอยประดับ
แกงป่าไก่นา
กลิ่นรสพริกแกงป่าดั้งเดิมจะแตกต่างกันไปตามเครื่องสมุนไพรที่หาได้ ไม่ต้องมีกติกาให้ยุ่งยาก รสชาติจะสะใจแค่ไหนขึ้นอยู่กับรสมือหนักเบาของพ่อครัวแม่ครัว ยิ่งได้ไก่สาวเนื้อแน่นไม่เหนียวมาแกงได้รสแบบชนบทชานเมืองปทุมธานี ทำให้ต้องเป่าปากไม่หุบ
ผัดพริกแกงปลาคังใบยอ
ยังไม่เคยลองชิมการผัดพริกแกงกับใบยอ แต่ก็ไม่ผิดกติกาอันใดเพราะปรกติใช้รองห่อหมก ใส่ในแกงอ่อมใบยอ แกงเผ็ดปลาขมิ้นใบยอ ใบยอลวกจิ้มน้ำพริก รสชาติขมมีความมันตอนเคี้ยว ยังนึกชมแม่ครัวของร้านที่รู้จักดัดแปลงใช้ผัดกับเนื้อปลา ซึ่งเป็นความเอร็ดอร่อยอีกแบบหนึ่ง
เก้งผัดพริกไทยดำ
เก้งมีเนื้อนุ่มตามธรรมชาติในทุกส่วน เอามาผัดพริกไทยดำได้รสชาติกว่าสันในเนื้อโคที่ไร้เอ็นและมันแทรก
ต้มโคล้งกบ
กบตัวโตสับเป็นชิ้น เนื้อขาวละเอียด สีสันในชามต้มโคล้งลอยหน้าด้วยสมุนไพรและพริกสดพริกแห้งคั่ว ทั้งข่าตะไคร้ ผักชีฝรั่ง ปรุงรสด้วยน้ำมะขาม ซดน้ำสักไม่กี่คำ คนที่เป็นหวัดจามไม่กี่ครั้งหวัดหายเป็นปลิดทิ้ง
กวางผัดน้ำมันหอย
ประเทศไทยจัดกวางเป็นสัตว์เศรษฐกิจ 1 ใน 5 ชนิดตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 คือ วัว ควาย สุกร แกะ จึงเริ่มมีการทำฟาร์มเลี้ยงกวางแพร่หลายไปทั่ว เนื้อกวางนั้นค่อนข้างนุ่มคล้ายสันในวัว ถ้าไม่บอกมักจะนึกว่าเป็นเนื้อวัว ผัดกับน้ำมันหอยทำนองเดียวกับภัตตาคารจีนในเยาวราช
หมูป่าผัดเผ็ด
เนื้อหมูป่ามักจะต้องหั่นติดหนังเป็นชิ้นบาง ถ้าได้เนื้อหมูอ่อนจะเคี้ยวอร่อย ปัจจุบันพ่อครัวที่มีฝีมือจะรู้เคล็ดการทำให้ไม่เหนียว ส่วนมากมักใช้แกงป่า ที่นี่ผัดเผ็ดกับกะทิ รสชาตินั้นถ้าน้ำพริกไม่เผ็ดถึงใจคงไม่ใช่อาหารป่า
ปลาไหลผัดเผ็ด
ปลาไหลตัวโตเป็นพิเศษหั่นแว่นชิ้นใหญ่ไม่ลอกหนัง ความพิเศษของเนื้อปลาไหลนั้นมีความละเอียด เมื่อเอามาผัดเผ็ดตามวิธีของร้าน อร่อยสาแก่ใจอย่างยิ่ง
ไข่เจียว
การสั่งไข่เจียวแบบภูธรนั้นมีหลายรูปแบบ โดยมากรสจะดีกว่าที่เมืองกรุง สั่งมากินตัดเลี่ยนตัดความเผ็ดของมื้ออาหาร
ครัวบ้านป่า-งูเห่า
ถนนเลียบคลอง5 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ใกล้กับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติคลอง5
โทร. 089-5121941 , 065-5152828
พิกัด: 14°03'25.7"N 100°42'53.4"E
จองโต๊ะ-สั่งอาหารLine@: https://page.line.me/kruabaanpa
ถ่ายภาพ มีรัติ รัตติสุวรรณ และบางภาพจาก FB ของร้าน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี