เรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นผมนั่งดูการเมืองว่าด้วยรัฐธรรมนูญมาเรียกว่าเกือบค่อนชีวิต ในฐานะที่เป็นนักข่าวสายการเมืองมาก่อน ได้เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ว่าจะฉบับไหนที่ประเทศไทยเคยมีมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นฉบับที่ 20 ไม่เคยมีฉบับไหนรอดสันดอนสักฉบับเดียว
คือร่างเสร็จแล้วประกาศใช้ พอประกาศใช้ก็ฉีกทิ้ง แล้วก็ยกร่างกันใหม่ วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
รัฐธรรมนูญฉบับที่ว่าดีที่สุดคือฉบับที่ 16 (ปี 2540) ซึ่งมีอายุ 8 ปี 11 เดือน 9 วัน เนื่องจากมาจากประชาชนโดยการยกร่างของ ส.ส.ร.หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งนั้น สุดท้ายก็ถูกปู้ยี่ปู้ยำทุกรูปแบบโดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มีนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2544-2549 ก่อนจะถูกฉีกทิ้งในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารยึดอำนาจ
มาถึงวันนี้รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำก็กำลังจะหวนย้อนกลับไปสู่อดีตอีก คือการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. เช่นเดียวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ละเมอเพ้อพกกันว่าดีที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เพราะที่เชื่อกันอย่างนั้น เนื่องจากประการแรก เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่าง, ประการที่สอง มีการขยายสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง, ประการที่สาม มีการเพิ่มการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยประชาชนที่ผ่านองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อให้เกิดความสุจริตและโปร่งใสในระบอบการเมือง และอีกประการหนึ่ง คือการทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งสุดท้ายก็ไปไม่รอด เพราะสาเหตุเกิดจากนักการเมืองไม่เคยเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น
สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ จุดมุ่งหมายของการที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ในเวลานี้นั้นก็เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเป็นประการสำคัญ ประโยชน์ของประชาชนที่จะได้แทบจะไม่มีเลยมิหนำซ้ำประชาชนยังจะเสียประโยชน์จากข้อดีของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้การรับรองสิทธิของประชาชนไว้อย่างกว้างขวาง
อาทิ นอกจากสิทธิโดยตรงที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อกันเพื่อที่จะเสนอกฎหมายและนโยบายได้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ยังกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เป็นต้นว่า การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมืองและอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน
นอกจากนั้น อาจจะเป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” จึงทำให้นักการเมืองรู้สึกหวาดกลัวและอยากจะฉีกทิ้ง เนื่องจากมีความเข้มข้นในการควบคุมและจัดการกับนักการเมืองที่ฉ้อฉล โดยมีบทกำหนดโทษที่รุนแรง ทั้งการถอดถอนออกจากตำแหน่งอันเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใครทำผิดต้องพ้นจากตำแหน่ง และการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นไม่ให้เข้าสู่การเมืองได้ตลอดไป คือการตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งถาวร และห้ามมีตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น
ที่สำคัญที่สุด อีกเรื่องหนึ่งที่นักการเมืองเสียวสันหลังคือคดีทุจริตไม่มีอายุความ แม้จะหลบหนีไปไกลหล้าสุดขอบฟ้าแค่ไหนก็ตาม คดีความก็ยังติดตัว เว้นแต่ความตายเท่านั้นจึงจะทำให้หลุดพ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ให้อำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เหมือนเป็นการ “ติดดาบ” โดยไม่นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหารือจำเลยในคดีทุจริตหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และศาลยังสามารถพิจารณาคดีลับหลังได้อีกด้วย
ปัญหาของรัฐบาลโดยคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในเวลานี้ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาในระดับอนุกรรมการก็คือ การลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ เพราะถ้าหากเสียงจากการลงประชามติไม่ผ่านก็ไม่สามารถจะยกร่างหรือเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เนื่องจากมีหมากกลซ้อนไว้สองชั้น
นั่นก็คือ การลงประชามติในขั้นตอนแรกตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (พ.ศ.2564) นั้น จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์จะต้องมีจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และถ้าผ่านด่านนี้ไปได้เสียงของผู้เห็นชอบให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของเสียงผู้ที่ออกมาลงประชามติ ทำให้ ณ วันนี้ จึงมีเสียงว่า จะมีการหักด้ามพร้าด้วยเข่าด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯก่อนเป็นอันดับแรก
ที่สุดแล้วต้องไม่ลืมอยู่สองเรื่อง คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ผ่านประชามติด้วยเสียงเห็นชอบของประชาชนคนไทย 16.8 ล้านเสียง และอีกเรื่องหนึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อสนองประโยชน์ของนักการเมืองนั้น จะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นการล้างผลาญงบประมาณแผ่นดินโดยใช้เหตุ ขณะที่ปากบอกว่าประเทศมีวิกฤต!
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี