กัญชามีสาร delta-9 tetrahydrocannabinol (THC) เป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น เศร้า วิตกกังวล ขาดความมั่นใจทางสังคมนอนไม่หลับ กินอาหารไม่อร่อย มีปัญหาการเคลื่อนไหวจากโรคพาร์กินสัน หรือมีภาวะสมองเสื่อม อาจจะใช้กัญชาเพื่อมุ่งหวังที่จะลดอาการต่างๆ ข้างต้น ผู้สูงอายุบางคนอาจไม่ทราบปริมาณกัญชาที่ตนเองได้รับ และอาจไม่ทราบว่าตนเองกำลังได้รับสารจากกัญชาอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือนำไปสู่ภาวะติดกัญชา หรืออาจนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ ต่อไปได้ ดังนั้นการมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะช่วยลดการใช้กัญชาที่ไม่ตรงตามหลักฐานทางการแพทย์ และป้องกันการเกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ได้
ผลกระทบของกัญชาต่อสุขภาพกายของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเกิดผลข้างเคียงจากกัญชาได้ไวกว่าผู้ที่อายุน้อย อาการมักเกิดหลังได้รับกัญชาประมาณ 3-4 ชั่วโมง และความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณของสารที่ได้รับ โดยมีอาการแสดงตามระบบต่างๆ ดังต่อไปนี้
ระบบประสาท : มีอาการอ่อนแรง ง่วงซึม ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หกล้ม และสับสน
ระบบการหายใจและการไหลเวียนโลหิต : ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง หายใจลำบาก และหอบหืดกำเริบ
ระบบอื่นๆ : ปากแห้ง คอแห้ง ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง ท้องอืด ท้องผูก และปวดท้อง
ผลกระทบของกัญชาต่อสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการทางจิตเวชจากกัญชาได้ไวกว่าผู้ที่อายุน้อย เนื่องจากสมองของผู้สูงอายุมีความไวต่อกัญชามากขึ้น ร่วมกับการมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นๆที่ผู้สูงอายุกินอยู่แล้ว และโรคประจำตัวของผู้สูงอายุก็มีความเสี่ยงกับการเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่แต่เดิม และหากมีการใช้กัญชาในปริมาณมาก จะพบอาการทางจิตเวชได้บ่อยมากขึ้นและนานขึ้น เช่น ประสาทหลอนที่พบได้ถึงร้อยละ 15- 20 ของผู้สูงอายุที่ใช้กัญชา โดยผู้สูงอายุเพศหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าเพศชาย การใช้กัญชาที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อาจจะเพิ่มอัตราการฆ่าตัวตาย การเกิดโรคซึมเศร้า และการบาดเจ็บจากการหกล้ม นอกจากนี้ยังลดการทำงานและความสามารถของสมองในด้านต่างๆ อีกด้วย
ผลของกัญชาต่อการนอนหลับในผู้สูงอายุ
ปัญหาการนอนหลับพบได้บ่อยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุ ได้แก่เข้านอนแล้วหลับยาก หลับได้ไม่ต่อเนื่องหรือหลับๆ ตื่นๆ รู้สึกหลับไม่ลึก รู้สึกไม่สดชื่นเมื่อตื่นนอนตอนเช้าหรือรู้สึกง่วงในช่วงกลางวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้สูงอายุมีความจดจ่อ สมาธิ และความจำลดลง รู้สึกอ่อนเพลีย ทำให้เสี่ยงต่อการล้มและการเกิดอุบัติเหตุ
สาเหตุมักเกิดจากหลายปัจจัย เช่น สิ่งแวดล้อมที่รบกวนการนอน การเสื่อมถอยของสมอง การเจ็บป่วยทางกาย ปัญหาสุขภาพจิต การปฏิบัติตัวด้านการนอนที่ไม่เหมาะสม การใช้ยาหรือสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท เช่น กาเฟอีนในชาหรือกาแฟ
ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่เพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกัญชาในการบรรเทาปัญหาการนอนหลับในผู้สูงอายุ แม้ว่าสารบางชนิดในกัญชาอาจมีฤทธิ์ผ่อนคลาย ลดอาการกระสับกระส่าย และทำให้รู้สึกง่วงได้ แต่ผลจากสารชนิดอื่นในกัญชาก็อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เกิดอาการเมาหรือเป็นพิษ อาจเป็นอันตรายต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรืออาการทางจิตที่รุนแรงได้
ผลของกัญชาในภาวะสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม คือกลุ่มโรคที่การทำงานของสมองถดถอย โรคที่พบได้บ่อยและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในผู้สูงอายุคือโรคอัลไซเมอร์ โดยมีอาการที่เด่นชัดที่สุดคืออาการหลงลืมผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการด้านอารมณ์และพฤติกรรมร่วมด้วย เช่น ก้าวร้าว วุ่นวาย มีปัญหาการนอน หลงผิด หรือหูแว่ว เป็นต้น
กัญชานั้นถูกกล่าวถึงบ่อยในการนำมาใช้รักษาภาวะสมองเสื่อม แต่จากผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพพบว่า ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยคุณภาพดีที่สนับสนุนประสิทธิภาพของกัญชาในการชะลอและป้องกันภาวะสมองเสื่อมรวมถึงประสิทธิภาพในการรักษาอาการก้าวร้าวหรือกระสับกระส่ายในภาวะสมองเสื่อม
สรุป
แม้ว่าจะมีข้อแนะนำในการใช้กัญชาเพื่อบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย แต่การศึกษาที่ผ่านมาส่วนใหญ่นั้นเป็นเพียงรายงานผู้ป่วยที่มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างไม่มาก และระเบียบวิธีวิจัยยังไม่มีคุณภาพที่ดีเพียงพอ ปัจจุบันจึงยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ากัญชามีประสิทธิภาพดีและปลอดภัยในผู้สูงอายุที่มีปัญหาการนอนหรือมีภาวะสมองเสื่อม ดังนั้นสมาคมทางการแพทย์ต่างๆ จึงไม่แนะนำการใช้กัญชาในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมหรือมีปัญหาการนอน
ชมรมจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี