ในพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระสงฆ์ครองไตรจีวร คือ ผ้าสามผืน ประกอบด้วยสบง จีวร และสังฆาฏิ ต่อมาก็ทรงมีพุทธานุญาตให้ครองผ้าอาบน้ำฝนได้อีกผืนหนึ่ง รวมความก็คือผ้าที่พระสงฆ์สามารถครองได้มีเพียง 4 ผืนเท่านั้น
นอกนั้นเป็นเรื่องส่วนเกิน เป็นเรื่องของผู้มากในกาม คือยินดีในการเสพหรือการครองผ้าเกินไปจากที่ทรงมีพุทธานุญาตไว้ และถ้ามากถึงขนาดก็เป็นการผิดพระวินัยและต้องอาบัติด้วย
จีวรคือผ้าห่ม สบงคือผ้านุ่ง ส่วนสังฆาฏิคือผ้าพาด สำหรับกันร้อน กันหนาว และเป็นผ้าสำรองในกรณีมีเหตุจำเป็นฉุกเฉินอย่างอื่น ซึ่งถือว่าเป็นการเพียงพอแล้วต่อสมณะวิสัย
พระพุทธเจ้าทรงตรัสสรรเสริญภิกษุที่ครองไตรจีวรว่าจะเหมือนดั่งนกที่ไม่มีภาระอื่นใด มีเพียงปีก หาง และขน ก็สามารถบินไปในอากาศ ไม่เป็นภาระแก่ตน ไม่เป็นภาระแก่ท่าน ไม่เบียดเบียนตนและไม่เบียดเบียนท่าน ซึ่งเป็นวิสัยของสมณะผู้มีความมักน้อยและสันโดษ
ในการห่มจีวรนั้น มีการห่มหลายแบบ แต่เฉพาะในประเทศไทยของเรานั้น แม้รูปแบบการห่มจะต่างกันบ้าง แต่ก็สามารถจำแนกการห่มเป็นสองแบบหลัก คือ
การห่มคลุม ได้แก่ การเอาจีวรมาห่มคลุมทั้งตัว ดังตัวอย่างการห่มคลุมจีวรของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ และพระสงฆ์ทั่วไป ที่มีปกติใช้ห่มสำหรับการเดินทางหรือการอยู่นอกเขตวัด เพราะเป็นการห่มคลุมที่ปกปิดร่างกายได้มิดชิด ไม่เปิดเผยส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งบางครั้งก็จะมีความอุจาดหรือไม่เหมาะไม่ควร ดังนั้น จึงมีพระวินัยบัญญัติให้พระสงฆ์ที่ออกไปนอกวัดต้องห่มคลุม
การห่มดอง ได้แก่การห่มจีวรแบบเปิดไหล่ข้างซ้าย ซึ่งเป็นการห่มจีวรสำหรับภิกษุที่พำนักหรืออยู่ในเขตวัด
ในการห่มดองนั้น ถ้าหากมีกรณีที่มีพิธีการ ไม่ว่าจะเป็นพิธีใหญ่หรือพิธีเล็ก เช่น พิธีการให้อุปสมบท พิธีรับผ้ากฐิน หรือการทำสมณกิจตามพระวินัย เช่น การฟังสวดพระปาติโมกข์ พระสงฆ์ก็สามารถใช้ผ้าคาดมาคาดจีวรที่ห่มดองนั้นอีกชั้นหนึ่งได้ ในกรณีเช่นนี้จะมีผ้าสังฆาฏิพาดก่อน แล้วใช้ผ้ามัดคาดทั้งสังฆาฏิและจีวรนั้น ซึ่งจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
เหตุผลที่ต้องห่มดองก็เพราะว่าเป็นการดำรงสมณเพศอยู่ภายในเขตวัด เหมือนกับการอยู่ในบ้านของตนเอง แต่ในบางกรณีที่ต้องพาดสังฆาฏิและมีผ้าคาดก็เพราะว่าเป็นการพิธีที่มีลุก มียืน มีนั่งหลายอิริยาบถ หากไม่มีผ้าคาดก็อาจหลุดรุ่ยหรือเป็นระเบียบ หรือไม่งดงาม หรือไม่สะดวกในการปฏิบัติสมณกิจ
ดังนั้นการห่มดองและมีผ้าคาดจึงเป็นกรณีที่พระสงฆ์ปฏิบัติสมณกิจอยู่ภายในวัด และอยู่ในพิธีที่ต้องการให้เกิดความสะดวกในการนั่ง ในการลุก ในการยืน ในการเดิน ที่จีวรจะไม่หลุดรุ่ยหรือวุ่นวายต่อการปฏิบัติสมณกิจ
แต่ในทุกวันนี้อาจเห็นคนหัวโล้นห่มผ้าเหลืองไม่ว่าจะเข้าใจว่าเป็นภิกษุหรือสามเณรก็ตาม เดินอยู่นอกวัด แม้กระทั่งเดินตามถนนหนทาง ขึ้นรถ ลงเรือ หรือแม้เดินในห้างสรรพสินค้า หรือในที่แสดงสินค้า ก็มีพวกห่มดองและมีผ้าคาดประหนึ่งว่าอยู่ในพิธีสงฆ์ภายในพระอุโบสถ จึงเป็นที่สงสัยแก่คนทั้งปวงว่าเหล่านี้เป็นพวกไหนกันแน่?
ก็บอกได้ว่าไม่ใช่พระ ไม่ใช่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เพราะมิได้ปฏิบัติตามแบบอย่างพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
ที่สำคัญคือ มีการไปว่าจ้างเอาคนต่างด้าวบ้าง แรงงานรับจ้างต่างชาติบ้าง เอาคนงานบ้าง คนจรจัดบ้าง หรือเด็กบ้าง มาโกนหัวแล้วให้ห่มผ้าเหลือง แล้วไปแสดงโชว์ในอาการต่างๆ กัน เช่น นั่ง หรือยืน หรือเดินพนมมือบ้าง ทำทีเป็นแบกกลดบ้าง หรือทำทีเป็นนั่งสมาธิบ้าง
คนเหล่านี้ไม่ใช่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และเพราะเหตุที่เพิ่งโกนหัวห่มผ้าเหลือง จึงห่มจีวรไม่เป็น ต้องมีคนห่มให้ และถ้าห่มคลุมก็ใช้ผ้าคาดไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้การห่มดอง และใช้ผ้าคาดเพื่อป้องกันจีวรหลุดรุ่ย และป้องกันไม่ให้ถูกจับได้ว่าไม่ใช่พระ แค่เพิ่งมาโกนหัวเอาผ้าเหลืองคลุมเข้าไปเท่านั้น
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการแสดง การยืน การเดิน การนั่งในท่าพนมมือ หรือการทำสมาธิ ที่แสดงโชว์กันอยู่ให้เห็นเป็นประจำ เพราะนั่นไม่ใช่การกระทำของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
แต่เป็นการแสดงเพราะว่าในกรณีที่เป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้น การที่จะพนมมือไม่ว่าในอิริยาบถนั่ง ยืน หรือเดินก็ต้องเป็นพิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การแสดง
หรือในกรณีที่เป็นการนั่งสมาธิก็เป็นการนั่งสมาธิเพื่อทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว เพื่อความสงบในที่สงัด ไม่ใช่การแสดงโชว์ดังที่เห็นกันอยู่ และที่แสดงกันอยู่ในขณะนี้
ดังนั้นถ้าเห็นคนหัวโล้นห่มเหลืองแบบห่มดอง และมีผ้าคาดเที่ยวเดินเกะกะวุ่นวายอยู่นอกวัดก็ดี ก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เพราะอาจจะเป็นแค่เอาคนมาโกนหัวห่มผ้าเหลืองแล้วเอาผ้าคาดมาแสดงโชว์โดยที่ไม่ได้บวชจริง และห่มจีวรก็
ไม่เป็นก็ได้!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี