1.โครงการรถไฟทางคู่ เป็นโครงการที่ดีมาก
ทำให้น่าเสียดายยิ่งนัก หากจะรื้ออาคารไม้สถานีรถไฟเดิมทิ้ง เป็นเศษไม้
เพื่อเปิดทางให้ก่อสร้างอาคารสถานีใหม่
แทนที่จะ “ยกย้าย” อาคารไม้อันเก่า หรือ “รื้อเพื่อนำไปประกอบวาง” ในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟที่สร้างขึ้นใหม่ จะกำหนดประโยชน์ใช้สอยอย่างไรก็สุดแท้แต่ เช่น จะทำเป็นร้านกาแฟ ห้องประชุม ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ทิ้งถิ่น ห้องแสดงสินค้าท้องถิ่น ฯลฯ
2.ทราบว่า อาคารสถานีรถไฟไม้ ที่อยู่ตามรายทางในโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น กำลังจะถูกรื้อทิ้งภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ได้แก่ อาคารสถานีรถไฟบ้านเกาะ หนองแมว โนนสูง บ้านดงพลอง บ้านมะค่า พลสงคราม บ้านดอนใหญ่ เมืองคง โนนทองหลาง หนองบัวลาย หนองมะเขือ เมืองพล บ้านหัน บ้านไผ่ บ้านแฮด และท่าพระ
3.ดร.ปริญญา ชูแก้ว ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงรณรงค์การอนุรักษ์เรื่องนี้มาโดยตลอด ล่าสุด ทำหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ขอให้หาทางอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟไม้ที่กำลังจะถูกรื้อทิ้ง
เรียกว่า เป็นลมหายใจสุดท้ายของอาคารไม้สถานีรถไฟอายุเกือบ 100 ปี เหล่านี้
เนื้อความจดหมายบางตอน ระบุว่า
“...กระผม นายปริญญา ชูแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือ “การอนุรักษ์และพัฒนาอาคารสถานีรถไฟในฐานะมรดกทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของไทย” เมื่อพุทธศักราช 2556 และเป็นผู้แต่งร่วมหนังสือ”100 ปี สถานีกรุงเทพ” เมื่อพุทธศักราช 2559
กระผมส่งจดหมายมาหาท่าน เพื่อให้ท่านได้มีคำสั่งการโดยด่วนให้รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยหาทางอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟไม้ที่อยู่ในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ซึ่งกำลังจะถูกรื้อในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ประกอบด้วย อาคารสถานีรถไฟบ้านเกาะ หนองแมว โนนสูง บ้านดงพลอง บ้านมะค่า พลสงคราม บ้านดอนใหญ่ เมืองคง โนนทองหลาง หนองบัวลาย หนองมะเขือ เมืองพล บ้านหัน บ้านไผ่ บ้านแฮด และท่าพระ และพิจารณาบรรจุแผนอนุรักษ์ (Conservation Plan) อาคารสถานีรถไฟ ย่านสถานีรถไฟ ชุมชนบ้านพักรถไฟ และมรดกทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ดูแลรักษาให้เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ที่ผ่านมา อาคารและสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางด้านศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมหลายหลังได้รับการศึกษาและบันทึกไว้ในเอกสาร อาคารบางหลังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ได้แก่ อาคารสถานีรถไฟบางกอกน้อย (ธนบุรีเดิม) อาคารสถานีรถไฟสงขลาเก่า และอาคารสถานีรถไฟกันตัง ส่วนสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นให้กับอาคารโรงรถจักรแก่งคอย อาคารโรงซ่อมรถโดยสารของโรงงานมักกะสัน อาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่ ชุมทางเขาชุมทอง นครลำปาง กรุงเทพ (หัวลำโพง) หัวหิน แม่จาง ปางป๋วย แก่งหลวง แม่ทะ ห้างฉัตร และที่หยุดรถแม่พวก นอกจากนี้ ยังมีความพยายามในการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารและสิ่งปลูกสร้างโดยภาคประชาชน เช่น อาคารสถานีรถไฟสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา อาคารสถานีรถไฟสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และอาคารที่หยุดรถไฟแม่พวก อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมากที่มีสภาพทรุดโทรม และอาจต้องมีการรื้อถอนลงโดยที่ยังไม่มีการสำรวจ บันทึก และระบุคุณค่าความสำคัญ เหมือนเช่นอาคารสถานีรถไฟคลองรังสิต สีคิ้ว เจ็ดเสมียน หรืออาคารสถานีรถไฟและสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการรถไฟยกระดับโฮปเวลล์ (Hopewell) โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ - รังสิต โครงการรถไฟรางคู่จากสถานีรถไฟหัวหมาก ถึง สถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และโครงการก่อสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของการถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งที่ได้รับการสำรวจและออกแบบไปแล้ว หรือที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ
กระผมขอวิงวอนท่านให้เห็นถึงความสำคัญและสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของการรถไฟแห่งประเทศไทยเท่าที่ท่านเห็นสมควร และช่วยดำเนินการสั่งการเพื่อให้ส่วนงานซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในโครงการต่างๆ นั้น ได้ให้ความสำคัญกับการรับฟังข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ให้ครบถ้วนเพื่อนำไปใช้ในการปรับแผนงาน โดยไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ของโครงการ
ขอแสดงความนับถือ
ปริญญา ชูแก้ว
วันที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2560”
4.ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงสนับสนุน ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม นายกรัฐมนตรี คสช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนผู้เห็นคุณค่า ฯลฯ
ร่วมกันหาแนวทางที่จะอนุรักษ์อาคารไม้สถานีรถไฟที่มีอายุเกือบ100 ปีเหล่านี้ไว้
สามารถมีทางเลือกหลายทาง เช่น
การรถไฟดำเนินการเอง ดีที่สุด ลงตัวที่สุด
หรือให้ภาคประชาสังคมในท้องถิ่นมีส่วนร่วม สามารถซื้อ หรือมอบให้ดำเนินการอนุรักษ์ ฯลฯ
ในโอกาสที่ ร.ฟ.ท.จะครบ 120 ปี ในอีกไม่กี่วัน
ในโอกาสที่ ร.ฟ.ท.กำลังก้าวไปสู่มาตรฐานใหม่ ลงทุนระบบรางครั้งประวัติศาสตร์
เราไม่จำเป็นต้องทำลายคุณค่าที่ไม่อาจซื้อด้วยเงินทอง ควรรักษามรดกทางความทรงจำของท้องถิ่น สร้างพื้นที่และทางเลือกที่ของเก่าสามารถอยู่ร่วมกับของใหม่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี