ประเด็นการแก้กฎหมายเพิ่มโทษความผิดเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถ โทษปรับสูงสุดถึง 50,000 บาท เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง แทบทุกตรอกซอกซอย
1. ล่าสุด หน่วยงานต้นเรื่อง คือ กรมการขนส่งทางบก ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เรื่องยังอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
โดยกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 โดยรวมเข้าเป็นฉบับเดียวกัน มีการปรับปรุงรายละเอียดของกฎหมายให้เป็นเครื่องมือในการควบคุมกำกับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ให้มากขึ้น รวมถึงปรับเพิ่มบทลงโทษกรณีผู้ขับขี่กระทำผิด เพื่อให้ผู้ขับขี่ตระหนักและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดอุบัติเหตุ และความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
รายละเอียดใน “ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ....” (ที่ยังไม่ผ่าน ครม.) มีการเสนอแก้ไขปรับเพิ่มโทษความผิดเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถ ดังนี้
ความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ปัจจุบันมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนร่างฯ ใหม่เสนอให้ปรับเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
ความผิดเกี่ยวกับการขับรถในระหว่างใบอนุญาตสิ้นอายุ ถูกพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกยึดใบอนุญาต ปัจจุบันมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนร่างฯ ใหม่ เพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
และความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาต ปัจจุบันมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในขณะที่ร่างฯ ใหม่ ปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
ทั้งหมด กรมการขนส่งทางบก เชื่อว่า จะทำให้เกิดความสอดคล้องกับบริบทการบริหารราชการ การควบคุม กำกับ ดูแล และบังคับใช้กฎหมาย ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ขณะนี้ กรมการขนส่งทางบกยังคงดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันต่อไป
2. ปัจจุบัน คนขับรถโดยไม่มีใบขับขี่กว่า 10 ล้านคน
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า โทษปรับตามร่างกฎหมายนั้น เป็นเพียงอัตราโทษปรับสูงสุดที่ระบุไว้เท่านั้น แต่การไม่พกใบขับขี่การเปรียบเทียบปรับจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวน และกรณีไม่มีใบขับขี่การเปรียบเทียบปรับจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ที่จะมีความเห็นสั่งปรับจำนวนเท่าไหร่ และกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด
พล.ต.ต.เอกรักษ์ เปิดเผยด้วยว่า จากข้อมูลบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ปัจจุบัน มีประชาชนไม่มีใบอนุญาตขับขี่อยู่ประมาณ 10 ล้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายต่อผู้อื่น และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงมาก
นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังอยู่ระหว่างพิจารณายกเลิกส่วนแบ่งค่าปรับให้กับตำรวจจราจร เพื่อป้องกันข้อครหาการกวดขันวินัยจราจรบนท้องถนน
3. ในความเป็นจริง กติกาพื้นฐาน คือ ใครจะขับรถบนท้องถนนสาธารณะ ก็ควรจะต้องมีใบขับขี่
อย่างน้อย เพื่อเป็นเครื่องกลั่นกรองว่า คนที่จะมาขับรถบนถนนสาธารณะ ซึ่งอาจมีชีวิตของผู้อื่นเป็นเดิมพันด้วยนั้น จะต้องผ่านการฝึกฝน อบรม อย่างน้อยก็ตามมาตรฐานการได้มาซึ่งใบขับขี่
คนสติไม่ดี ป่วยเป็นโรคประสาท หรือมีโรคที่ทำให้ความสามารถในการขับขี่ไม่เต็มร้อย ก็ไม่ควรจะได้ใบอนุญาตให้มาขับรถ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง คนร่วมทาง และสังคมส่วนรวม
เพราะฉะนั้น หากใครรู้ทั้งรู้ว่าตนเองไม่มีใบขับขี่ ไม่มีใบอนุญาต แล้วยังเจตนาฝ่าฝืน ก็สมควรจะต้องได้รับโทษ เพราะเสมือนเอาเปรียบคนอื่นที่เขาเคารพกติกาด้วยการไปฝึกอบรมจนได้ใบขับขี่มาและพกพาตามกติกาบ้านเมือง
4. การพิสูจน์ทราบว่า ใครผิดหรือไม่ผิดในกรณีใบขับขี่ เป็นเรื่องเชิงประจักษ์ ไม่ซับซ้อน
แค่แสดงใบขับขี่ให้เจ้าหน้าที่ดู.. จบ
แค่มีใบขับขี่ และแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจมาลงโทษปรับหรือดำเนินคดีเกี่ยวกับใบขับขี่แล้ว
ไม่มีประเด็นต้องเถียงกันว่า ล้ำเส้นหรือไม่ ขับประมาทหรือไม่ ฯลฯ เหมือนความผิดอื่นๆ
ในมุมของผู้มีใบขับขี่ทั่วไป จึงน่าจะไม่มีอะไรเดือดร้อนจากกฎหมายนี้
5. แต่โทษปรับ ควรมากน้อยเพียงใด?
โทษปรับสูงๆ ใช่ว่าจะลดการกระทำผิดในเรื่องนั้นๆ ลงเสมอไป
มีมุมมองที่น่ารับฟังมาก จากท่านผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า
กรณีแรก คือ ได้รับอนุญาตให้มีใบขับขี่แต่ลืมพกพา... มองว่าไม่ใช่คดีที่ร้ายแรง เพราะว่าเขาได้รับอนุญาตแล้วเพียงแต่ว่าเขาไม่ได้พก เพราะเขามีความสามารถที่จะขับรถผ่านการอบรมมีใบขับขี่เป็นเครื่องการันตีที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ถนนร่วมทาง อันนี้จึงไม่ควรจะไปเพิ่มโทษ หรือถ้าเพิ่มก็ควรเป็นโทษปรับ แต่ต้องไม่ควรมากจนเกินไป
กรณีที่สอง คือ กรณีบุคคลผู้ไม่มีใบขับขี่... ต้องสันนิษฐานไว้ว่าเป็นผู้ไม่มีความชำนาญและไม่ได้รับการอบรมทดสอบในการขับขี่จากกรมการขนส่งทางบก ทำให้การควบคุมรถ ซึ่งคือเครื่องจักร ในต่างประเทศจะถือเป็นโทษที่ร้ายแรง เพราะบุคคลคนนั้นที่ไม่มีความชำนาญในการขับรถ เขาพร้อมที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่อผู้ใช้รถร่วมทาง หรือทำให้ผู้ที่เดินถนนเป็นอันตราย ที่ผ่านมามีคดีเยอะมากที่เกิดจากผู้ที่ไม่มีใบขับขี่ ในต่างประเทศจะถือความผิดลักษณะนี้ร้ายแรงรองลงมาจากความผิดฐานเจตนาฆ่ากันเลยทีเดียว หรือเมาแล้วขับที่เมืองไทย มีการจับแล้วสั่งคุมประพฤติ แต่ต่างประเทศถือว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงก็จะสั่งจำคุกเลย ทั้งไม่มีใบขับขี่หรือเมาแล้วขับในสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นอาชญากรรม ตรงนี้จึงเห็นด้วยในเรื่องเพิ่มโทษ
“ประเด็นว่าการที่ตั้งโทษจำคุกหรือปรับไว้สูงมาก จะเป็นประโยชน์ต่อการป้องปรามต่ออุบัติเหตุจากการจราจรหรือไม่ เพราะหากโทษสูงมากอาจจะมีกระบวนการหนีไม่ให้มีการดำเนินการทางกฎหมาย ตรงนี้อาจจะเกิดกระบวนการตัดตอนโดยการให้ทรัพย์สิน หรือเรียกทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการของกฎหมายขึ้นมา... มีคนมองว่าโทษสูงเกินไปจะไม่เหมาะสม ในทางวิชาการก็มีความเห็นว่าศาลนำคนเข้าคุกมากเกินไปเเละศาลไม่ควรจะนำคนเข้าคุกเลย ควรให้โอกาสเขาให้รอการลงโทษเเละกำหนดโทษ แต่ฝ่ายที่ออกกฎหมายก็มองอีกมุม ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผล ผมมองว่าการกำหนดโทษสูงเกินไปบางทีก็ไม่ได้เป็นการป้องกันปรามอาชญากรรม แต่จะเป็นลักษณะขับรถชนแล้วหนีสูงขึ้น เรื่องนี้เป็นเหมือนดาบสองคม การกำหนดโทษปรับสูงและจำคุกมากจะต้องดูบริบทของสังคมไทย จริงอยู่ผู้ที่ร่างกฎหมายก็คือรัฐบาล และสภา บางทีก็มองในด้านเดียว จริงๆ เราต้องดูผลกระทบด้วย จะหนักไปทางใดทางหนึ่งไม่ได้
น่าคิดว่า การเพิ่มโทษสูงเกินไป ก็ไม่ได้ทำให้การกระทำผิดในเรื่องนั้นลดลงเสมอไป แต่อาจจะไปเพิ่มแรงจูงใจและแรงผลักดันให้คนสมคบกันทุจริต
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี