คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาและความมั่นคงของประเทศไทย มีภารกิจหนักและอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกกล่าวหา หรือ ถึงถูกฟ้องร้องต่อ ป.ป.ช. ว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นธรรมได้
ในอดีตที่ผ่านมามีกรรมการ กกต. ถูกศาลพิพากษาจำคุก ในความผิดคดีจัดการเลือกตั้งมิชอบ ในการจัดการการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 ซึ่งกว่าจะดำเนินคดีที่สุดในขั้นศาลฎีกาก็ต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี จนจำเลยชราภาพมากแล้ว นั่นคือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธาน กกต. วัย 75 ปี กับปริญญา นาคฉัตรีย์ กรรมการ กกต.วัย 76 ปี จำเลยทั้ง 2 ได้ถูกพิพากษาลงโทษให้จองจำคุกในบั้นปลายของชีวิตเป็นเวลา 2 ปี เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 ในคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้ มีส่วนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลายควรเก็บไว้เป็นข้อเตือนใจอีกว่า “...การที่จำเลยรับตำแหน่งสำคัญและทำคุณงามความดีจนได้รับเลือกเป็น กกต.จำเลยต้องทราบดีว่า การเป็น กกต. จัดการเลือกตั้ง ต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้นจำเลยต้องดำรงความซื่อสัตย์สุจริต เป็นคุณต่อประเทศมากที่สุด แต่จำเลยกลับกระทำตรงข้ามแสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมละทิ้งคุณงามความดีที่ได้กระทำมาทั้งหมด...”
ผมแน่ใจว่า ประธาน กกต. คนปัจจุบัน คุณอิทธิพร บุญประคอง ซึ่งเป็นนักกฎหมาย เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ และเคยเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ คงจะรับทราบคำพิพากษานี้อยู่แล้ว และคงต้องระมัดระวังไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับตัวท่านเป็นแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องทำงานในยุคมีประชาชนไทยผู้ตื่นรู้อยู่จำนวนมาก เฝ้าดูอยู่ทุกขั้นตอน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถกระจายข้อมูลได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังได้ติดอาวุธโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 มาตรา 236 ที่ให้สิทธิประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน เข้าชื่อกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ยื่นต่อ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนข้อเท็จจริงได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ปรากฏหลายเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนต่อการทำงานของ กกต. ชุดนี้ นับตั้งแต่การเริ่มจัดการเลือกตั้งสำหรับคนไทยที่พักอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ตอนต้นเดือนมีนาคม ที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก เช่น ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งต้องต่อแถวยาวรอเลือกตั้งเป็นเวลานาน เนื่องจากช่องสำหรับลงคะแนนไม่เพียงพอ ต้องเอาลังกระดาษมากั้นเป็นคอกลงคะแนน มีเรื่องการจัดทำเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร ที่ใส่ข้อมูลผิดพลาด พิมพ์ชื่อพรรคสลับผู้สมัคร
ต่อมาในวันที่ 17 มีนาคม ซึ่งมีการเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับคนที่ไม่สะดวกในวันที่มีการเลือกตั้ง ก็ปรากฏความผิดพลาดอีก เช่น รายชื่อผู้สมัครของพรรคที่ถูกยุบยังอยู่ หรือรายชื่อผู้สมัครบางรายหายไป เจ้าหน้าที่แจกบัตรเลือกตั้งผิดเขต ให้ผู้ลงคะแนน จนถึงวันที่ 24 มีนาคมซึ่งเป็นวันเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ ก็ยังมีปัญหาการจัดการ เช่น เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเตรียมตัวไม่พร้อม เจ้าหน้าที่จ่ายบัตรหายไป ปล่อยให้ผู้มาลงคะแนนเลือกตั้งหยิบบัตรเลือกตั้งไปทั้งเล่มไปกา
ปัญหาร้ายแรงของ กกต. ในการบริหารจัดการ คือการนำบัตรที่มาจากการเลือกตั้งนอกราชาอาณาจักรมานับคะแนนช้ากว่ากำหนด กล่องบัตรเลือกตั้งถูกทิ้งไว้ที่คลังสินค้าที่สนามบิน โดยไม่มีคนไปรับ ทำให้บัตรไปถึงหน่วยนับคะแนนไม่ทันกำหนด ทำให้ต้องประกาศให้บัตรลงคะแนนทั้งหมดจากนิวซีแลนด์เป็น “บัตรที่นำมานับ คะแนนไม่ได้”หรือคือบัตรเสีย
นอกจากนี้ ในการนับคะแนนและการรายงานผลหลังจากการปิดหีบในเย็นวันที่ 24 มีนาคมนั้น ก็ยิ่งมีความสับสนกับประชาชนที่ติดตามผลการนับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันมาก เนื่องจากผลที่สรุปนำเสนอโดยทีวีช่องต่างๆ มีผลแตกต่างกัน และล่าช้ายิ่งกว่าสมัยเก่าที่ใช้การรายงานผลด้วยการส่งทางแฟกซ์ ที่สามารถรู้ผลการเลือกตั้งทั้งประเทศก่อนเที่ยงคืนเสียอีก จนในที่สุด กกต. ต้องหยุดการรายงานผล เมื่อนับคะแนนได้ถึง 95% และชี้แจงต่อมาว่า สื่อต่างๆ เอาข้อมูลดิบในคะแนนผู้สมัคร สส. แบ่งเขตไป แล้วไปเขียนโปรแกรมแสดงเป็นกราฟิกต่างๆ เอง บางสถานีได้ไปคำนวณ สส. บัญชีรายชื่อเอง ตามวิธีที่แต่ละสถานีเข้าใจ ผลจึงออกมาไม่ตรงกัน ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นหากสื่อต่างๆ ได้รับระเบียบวิธีคำนวณและรายละเอียดต่างๆจาก
กกต. ตั้งแต่แรก
เหตุการณ์ที่ดูวุ่นวาย ข่าวสารที่สับสน ประกอบกับการแถลงตอบคำถามสังคมที่ไม่ชัดเจนเหล่านี้ ทำให้ประชาชนไม่เชื่อข้อมูลที่ กกต. แถลง และพยายามแสวงหาข้อมูลลับจากข่าวลือหรือฟังจากที่แชร์มาในโซเชียลมีเดีย เป็นการเปิดโอกาสข่าวปลอมต่างๆ ถูกกระจายกันต่ออย่างกว้างขวางจนในที่สุด กกต. ทนข่าวปลอมที่ใส่ร้ายป้ายสีเหล่านี้ไม่ไหวต้องประกาศเตือน จะฟ้องร้องผู้ แชร์ “ข่าวปลอม” ต่างๆที่ทำให้ กกต. เสียหาย ยิ่งเป็นการสร้างความแตกแยกระหว่างกกต. กับประชาชนไปกันใหญ่ จากแต่เดิมเพียงขาดความเชื่อมั่น จนตอนนี้จะกลายเป็นศัตรูกับสังคมไป
เมื่อประชาชนได้เห็นความโกลาหลเหล่านี้ จึงมีความไม่เชื่อมั่นใน กกต. เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนวันต่อมาได้มีผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ให้ร่วมลงชื่อเพื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำให้มีผู้มาร่วมลงชื่อมากเป็นประวัติการณ์ ถึงกว่า 850,000 กว่ารายชื่อแล้ว
เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่สุดในขณะนี้ก็คือการที่ กกต. ไม่สามารถจะแถลงวิธีคำนวณหาจำนวน สส. บัญชีรายชื่อออกมาได้เป็นทางการได้ มีผู้เสนอวิธีการคำนวณอย่างหลากหลาย นำไปสู่ผลที่แตกต่างกัน จนในที่สุด กกต. ต้องยื่นไปให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ทั้งๆ ที่ กกต. เองควรจะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุด ควรจะได้เตรียมการทำความเข้าใจ ซักซ้อมลองทำโจทย์ต่างๆ ที่อาจมีขึ้นจากผลการเลือกตั้งทุกๆ กรณีแล้ว
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันทุกฝ่ายที่จับตาการทำงาน กกต. อย่างตาไม่กะพริบ ก็ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องร้อง กกต. ต่อ กรรมการ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงได้เลย ล่าสุดจนถึงวันที่ 10 เมษายน ก็มีเพียงนายศรีสุวรรณ จรรยา ที่ได้นำรายชื่อประชาชนเพียง 399 รายชื่อ เข้ายื่น ป.ป.ช. ให้พิจารณาถอดถอน กกต. ออกจากตำแหน่งเท่านั้น
ยังดีที่สังคมไทยยังมีพลเมืองตื่นรู้สู้โกงที่ช่วยพัฒนาเครื่องมือให้ประชาชนเข้ามาช่วยตรวจสอบการจัดการเลือกตั้งและการนับคะแนน เช่น https://vote62.com/ ที่เปิดให้ประชาชนร่วมรายงานผลการเลือกตั้งคู่ขนานไปกับการทำงานของ กกต. ด้วยการส่งภาพกระดานนับคะแนนเข้ามาแล้วช่วยกันนับอีกทีว่าตรงกับที่เจ้าหน้าที่นับหรือไม่ ช่วยให้เราสามารถจับตาทุจริต ตรวจสอบข้อผิดพลาด และแสดงพลังการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง
ท้ายที่สุด ถึงเวลานี้ ก็ยังไม่มีข้อมูลว่า กกต. ทุจริต แต่ที่อาจจะผิดพลาดโดยรู้ หรือไม่รู้ หรือไม่ คงต้องตามเฝ้าดูกันต่อไป
ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี