ต่อภัสสร์ : พ่อครับ โครงการโฮปเวลล์ที่ประเทศไทยต้องเสียค่าโง่หรือค่าโดนโกงไปเป็นเงินหลายหมื่นล้านนี่ ใครเป็นสั่ง ใครเป็นคนสร้าง แล้วใครเป็นคนโกงหรอครับ
ก่อนอื่นขอเล่าถึงคนที่มารับโครงการนี้ไปก่อน นั่นคือ นายกอร์ดอน วู (Gordon Wu) เจ้าของบริษัท Hopewell Holdings ที่ฮ่องกง เขาเป็นวิศวกรเรียนจบจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton) อันเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา ก่อนที่เขาจะมาเสนอโครงการทางรถไฟยกระดับ (BERTS - Bangkok Elevated Road and Train System) กับรัฐบาลไทยนี้ เขาได้สร้างชื่อเสียงมาก่อนในหลายโครงการทั่วโลก โดยมีผลสำเร็จในการทำโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนนและทางด่วนทั้งในจีนและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฮ่องกง เขายังได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจที่ทำกิจกรรมการกุศลมหาศาล ในปี 2527 ก่อนที่เขาจะเสนอโครงการโฮปเวลล์ในไทย กอร์ดอน วู ได้บริจาคหุ้นที่มีมูลค่าเป็นเงินเท่ากับ 5 ล้านเหรียญดอลลาส์ หรือประมาณ 160 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton) สถาบันการศึกษาเก่าของเขา ความโดดเด่นด้านธุรกิจของกอร์ดอน วู ทำให้เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในระดับบรรดาศักดิ์เป็นท่านเซอร์ ทีเดียว
กอร์ดอน วู เสนอแนวความคิดสร้างทางรถไฟและถนนยกระดับเข้ามาในใจกลางเมืองกรุงเทพฯ แก้ปัญหาจราจรติดขัดของกรุงเทพฯ อย่างเบ็ดเสร็จ นั่นน่าสนใจมาก เพราะเป็นความคิดที่ล้ำยุคไปก่อนหน้าถึง 20 ปี
ต่อภัสสร์: เขาประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย แถมพ่อยังบอกอีกว่าความคิดนี้ก็เข้าท่าดี แล้วทำไมถึงไม่สำเร็จล่ะครับ
ต่อตระกูล: คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าบริษัทโฮปเวลล์ขาดเงินที่จะลงทุน ทำให้ต้องหยุดการก่อสร้างไป แต่มีเหตุประการสำคัญก็คือ ผู้รับสนองนโยบายนี้มีความรู้สึกว่าโครงการนี้เป็นโครงการของรัฐมนตรีที่ได้ผลประโยชน์ตอบแทนมหาศาลไปคนเดียว ทำไมคนอื่นๆ ต้องมารับงานหนัก จัดการประสานงาน แก้ไขปัญหาแนวเส้นทางที่ติดขัดเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินตลอดแนวเส้นทางรถไฟที่โฮปเวลล์ได้รับสัมปทานไป
ดร.รชฎ กาญจนะวนิช ที่รัฐบาลไทยในขณะนั้น ขอให้เข้าไปดูปัญหาเรื่องติดขัดล่าช้าของการก่อสร้าง ได้เล่าให้ผมฟังว่า กอร์ดอน วู ดีใจมากที่มีวิศวกรชั้นผู้ใหญ่เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาในการทำงานของเขา กอร์ดอน วู บอกว่าถ้ามีคนอย่าง ดร.รชฎ เข้ามาตั้งแต่แรก เขาคงทำงานมีผลงานไปได้มากกว่านี้มาก จะไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่เชื่อมั่นในโครงการนี้จากฝ่ายต่างๆ จนต้องหยุดการลงทุนไปในที่สุด เรียกได้ว่าฤทธิ์คอร์รัปชันของไทยในยุคนั้นทำให้โฮปเวลล์พังได้
ต่อภัสสร์: ที่พ่อบอกว่ามีคนได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไปมหาศาล แปลว่ามีการคอร์รัปชันกันตั้งแต่สมัยนั้นเลยหรอครับ
ต่อตระกูล: ใช่สิ กอร์ดอน วู โชคร้ายมาก ที่ต้องมาทำงานกับรัฐบาลไทยในยุคที่การเมืองไทยมีการบริหารบ้านเมืองแบบที่เรียกว่าบุฟเฟ่ต์คาบิเนต คือพรรคการเมืองต่างแบ่งกันไปเป็นรัฐมนตรีพรรคการเมืองต่างแบ่งกันไปเป็นรัฐมนตรีคุมกระทรวงและและบอร์ดคุมรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่มีการจัดเกรดไว้แล้วตามงบประมาณรวม โดยเฉพาะงบประมาณโครงการก่อสร้างซึ่งมักจะเป็นสัดส่วนสูงของงบประมาณรวม ถ้างบสูงก็ได้เกรด เอ มีคนแย่งกันเป็นรัฐมนตรีมาก เพราะมีโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์สูง ถ้างบน้อยก็ได้เกรดรองลงมา การแข่งขันแย่งกันก็น้อยลง
โดยคำว่าบุฟเฟ่ต์คาบิเนต มีความหมายเปรียบเปรยว่า ในยุคนั้นผลประโยชน์และทรัพยากรของชาติถูกนำมาวางบนโต๊ะ ตั้งโชว์แบบอาหารที่จัดเลี้ยงแบบบุฟเฟ่ นักการเมืองหรือคณะรัฐมนตรีก็เปรียบเสมือนคนซื้อบัตรเข้ามากินอาหาร ต่างคน ต่างจะเลือกตักเลือกกินอะไร กินเท่าไหร่ก็ได้ ไม่อั้น โดยแต่ละคนก็ตั้งหน้าตั้งตากินในจานของตนโดยจะไม่ไปยุ่งกับจานของคนอื่น
ในทางปฏิบัติในระบบนี้ รัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจเต็มที่ในการอนุมัติโครงการต่างๆ ภายใต้การกำกับดูแลของตน ถึงแม้จะให้มีการรายงานในคณะรัฐมนตรี แต่ถือเป็นข้อตกลงกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลว่า จะไม่มีการคัดค้านซึ่งกันและกัน และที่สำคัญในยุคนี้ยังไม่มีคำว่า “รัฐบาลโปร่งใส” ทำให้สัญญาโฮปเวลล์ มูลค่าการลงทุน 80,000 ล้านบาท แลกกับสิทธิ์ในที่ดินของการรถไฟไทย บริเวณกลางเมืองจำนวน 600 ไร่ มีสัญญาความยาวเพียงไม่ถึง 8 หน้า และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปได้เห็น เฉลี่ยสัญญาหน้าละหมื่นล้านเลยทีเดียว
จุดสำคัญข้อหนึ่งในสัญญาฉบับนี้ คือการระบุให้มีการตกลงเจรจากันนอกศาลทำได้หากเกิดข้อพิพาท โดยใช้วิธีแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ 3 คน มาตัดสิน มีคนกลาง 1 คน ผู้แทนแต่ละฝ่ายข้างละ 1 คน ที่น่าสนใจก็เพราะวิธีการใช้อนุญาโตตุลาการถึงแม้จะเป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จอย่างมากในระดับนานาชาติ แต่สำหรับประเทศไทยเท่าที่เคยใช้กันมา เรียกว่าฝ่ายรัฐบาลแทบจะแพ้ฝ่ายเอกชนทุกครั้ง ไม่ว่าฝ่ายเอกชนจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ
ดังนั้น เมื่อมีนักการเมืองในบุฟเฟ่ต์คาบิเนตมาไล่เก็บกินผลประโยชน์จากโครงการที่ตนเองมีอำนาจตัดสินใจ โดยไม่สนใจดูรายละเอียดสัญญาที่ไม่ครบถ้วน มีข้อกำหนดที่รัฐบาลไทยอาจเสียเปรียบ ไม่มีความโปร่งใส และที่สำคัญคือไม่สนใจผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง จนผู้รับนโยบายมาก็ทำต่อไม่ได้หรือไม่ได้สนใจจะทำต่อด้วย โครงการที่มีแนวคิดที่อาจจะเป็นประโยชน์ ก็พังทลายไปได้
ต่อภัสสร์: เมื่อโครงการก็พัง และศาลปกครองสูงสุดก็ตัดสินให้รัฐบาลชดใช้เงินแบบนี้แล้ว จะทำยังไงต่อครับนี่?
ต่อตระกูล: ก็คงต้องยอมรับว่านี่คือค่าชดใช้ค่าเสียหายที่ประเทศไทยจะต้องจ่ายชดเชยให้เขาตามสัญญาจริง รัฐบาลไทยคงจะไม่รอดจ่ายค่าโง่คดีโฮปเวลล์นี้ แม้จะเคยรอดการถูกฟ้องคดีค่าโง่มาได้ถึง 2 ครั้ง ใน 2 คดีใหญ่ คือคดีค่าโง่ทางด่วนบางนา/บางปะกง 6,200 ล้านบาท และคดีค่าโง่บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 23,700 ล้านบาท ซึ่งรอดไปได้ด้วยการที่สามารถยกเรื่องการทุจริต คอร์รัปชัน และมีตัวตนผู้กระทำผิดในสัญญาทั้ง 2 นี้ได้ แต่ในสัญญาโฮบเวลล์ ครั้งนี้ไม่ปรากฏว่ามีการขึ้นตัดสินโดยศาลว่ามีผู้กระทำผิดใดๆ เลย
มองในแง่ดี อันที่จริงแล้วค่าโง่โครงการโฮปเวลล์ ที่ถูกเรียกร้องใช้ชดใช้เป็นมูลค่า 11,888 ล้านบาทนี้ ไม่มากมายเมื่อเทียบกับการจะเอาสัญญาที่ยกประโยชน์ที่ดินการรถไฟฯมหาศาลไปให้บริษัทโฮปเวลล์ถือสิทธิ์ไว้กลับคืนมา เพราะลำพังค่าที่ดิน กว้าง 50 เมตร สองข้างทางรถไฟ ตลอดเส้นทางผ่านกลางเมืองกรุงเทพฯ ระยะ 60 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ดิน รวม 750,000 ตารางวา ก็มีมูลค่าอย่างน้อยเป็นแสนล้านบาทแล้ว นี่ยังไม่รวมมูลค่าที่ดินใหญ่ผืนงามที่บางซื่อ และที่อื่นๆ ที่จะยกให้เขาไปตามสัญญานี้อีกเป็นหลายร้อยไร่
ถือเป็นกรรมที่คนไทยต้องชดใช้จากการที่ครั้งหนึ่งเราเลือกผู้แทนมาตั้งโต๊ะกินบุฟเฟ่ต์ผลประโยชน์ชาติได้ เหลือไว้ให้คนไทยต้องชดเชยความเสียหาย 11,888 ล้านบาท และดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ แบบไม่ทบต้น เป็นเวลา 22 ปี หวัง
ว่าเจ็บปวดครั้งใหญ่นี้คงเพียงพอที่จะปลุกพลังคนไทยให้ไม่ทนกับการคอร์รัปชันอีกต่อไปนะครับ
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี