ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2562 ได้รายงานให้ ครม.รับทราบ เรื่องคำพิพากษาคดีโฮปเวลล์ ซึ่งกรณีดังกล่าวผ่านมา 9 รัฐบาล หรือ 30 ปีมาแล้ว ระบุว่า กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะดำเนินการตาม 5 ขั้นตอน ดังนี้
1.คำนวณวงเงินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ชัดเจน และต้องถามไปยังศาลเพื่อขอให้ชี้แจงตัวเลข ตรวจสอบวงเงินอีกที
2.เจรจากับโฮปเวลล์เพื่อลดผลกระทบต่อภาครัฐ
3.กำหนดแนวทางและแหล่งเงินที่เหมาะสม ในการปฏิบัติตามคำพิพากษา
4.แต่งตั้งคณะทำงานให้ครอบคลุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยจะให้คณะทำงานชุดนี้ดูทั้งวงเงิน และดูทั้งเรื่องของแนวทางเจรจากับโฮปเวลล์ และแนวทางหาแหล่งเงิน ซึ่งตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน ไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่จะเอามาจากที่ไหนเท่านั้นเอง ซึ่งมีหลายทางเลือก
และ 5.กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิดและการละเมิด เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยต้องไปไล่ดูว่าโครงการมีข้อผิดพลาดตั้งแต่เมื่อไหร่ และใครที่เกี่ยวข้องบ้าง ทั้งที่มีส่วนเริ่มโครงการและเรื่องการบอกเลิกสัญญา และเกิดผลกระทบจนถึงทุกวันนี้
1. นี่คือจุดเริ่มต้นของการตามแก้ไขสิ่งผิดพลาดในอดีต เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม
ที่สำคัญ ผู้เกี่ยวข้องจะต้องแสดงออกให้เห็นความจริงใจ เอาจริง กล้าหาญ
ทำให้เต็มที่ เด็ดขาด เหมือนสมัยที่ดำเนินการจนสามารถเพิกถอนค่าโง่คลองด่านได้สำเร็จ (โดยการบังคับบัญชาของหัวหน้า คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และยุครัฐมนตรียุติธรรมชื่อ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา)
2. จุดอ่อน คือ ขณะนี้ เป็นช่วงรอยต่อคาบเกี่ยวรัฐบาลชุดใหม่
อาจจะเจอข้าราชการเกียร์ว่าง หรือเกียร์ถอยหรือไม่?
นี่คือจุดที่หัวหน้า คสช.จะต้องตระหนัก และควรพิจารณาอย่างเด็ดขาด แล้วส่งสัญญาณให้ชัดเจน ว่าจะสนับสนุนการทำหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องได้อย่างไร?
จะมีมาตรา 44 หรือไม่ อย่างไร มิใช่เพื่อลบล้างคำพิพากษาของศาลปกครอง แต่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม และคุ้มครองการทำงานของผู้เกี่ยวข้อง
3. ก่อนหน้านี้ ได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับโครงการโฮปเวลล์ โดยเฉพาะคำพิพากษาศาลปกครอง ซึ่งทำให้เห็นรายละเอียดที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ไว้ก่อนแล้วว่า มีกรณีข้อพิพาทกล่าวหาว่าฝ่ายเอกชนผิดสัญญามากมายหลายประการอย่างไร แต่อนุญาโตฯ ก็ชี้ว่าฝ่ายเอกชนไม่ผิดอย่างไร สุดท้าย ศาลปกครองจึงชี้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ นั้น ไม่อยู่ในข่ายที่ศาลปกครองจะเพิกถอนอย่างไรไปแล้ว
จะเห็นได้ว่า รูโหว่ประการสำคัญในการจัดการปัญหาโฮปเวลล์ของภาครัฐ จนนำมาสู่ค่าโง่มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ในวันนี้ น่าจะมีอยู่ 2 ช่วงที่สำคัญ
3.1 การได้มาซึ่งสัญญาสัมปทาน รายละเอียดสัญญาสัมปทาน เป็นสัญญาที่รัฐเสียเปรียบหรือไม่อย่างไร? มีนักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ทุจริตประพฤติมิชอบ เอื้อประโยชน์แก่เอกชนหรือไม่? อย่างไร?
มีการแก้ไขสัญญาในยุคไหน ที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชน? มีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ หรือไม่?
เป็นสัญญาที่มีการวางยา เปิดทางให้เอกชนไม่ต้องรับผิดชอบ หรือวางหมากไว้ให้เอกชนหลายเหลี่ยมหลายคูที่จะยื้อการดำเนินโครงการไปได้เรื่อยๆ ยากแก่การบังคับตามสัญญา หรือบอกเลิกสัญญา จริงหรือไม่? แล้วมีใครเข้าข่ายกระทำผิดบ้าง?
ลองเทียบเคียงกับกรณีโครงการก่อสร้างระบบบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มูลค่ากว่าสองหมื่นล้าน มีข้าราชการและเอกชน ร่วมกัน แบ่งงานกันทำ ช่วยให้เอกชนได้มาซึ่งสัญญาโดยมิชอบ มีการแก้ไขสัญญาเอื้อเอกชน ทำให้รัฐเสียหาย
จนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ นำมาซึ่งการเพิกถอนค่าโง่ได้ในท้ายที่สุด
ลองเทียบเคียงกรณีค่าโง่ทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง (สายบางนา-ชลบุรี ในปัจจุบัน) ที่มีคำพิพากษาฎีกาเป็นบทเรียนบรรทัดฐาน เมื่อเอกชนดำเนินการก่อสร้างไม่สำเร็จ อ้างว่า กทพ. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ที่ก่อสร้างได้ และมีการตกลงขยายเวลาก่อสร้างออกไป ต่อมา อ้างว่า มีการแก้ไขแบบต่างไปจากที่ตกลงกัน ทำให้ราคาคงที่ตามสัญญาเพิ่มสูงขึ้น เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาด ให้ กทพ. ชำระเงิน 6 พันล้าน พร้อมดอกเบี้ย ต่อมา เอกชนยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาและคำบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว
แต่ กทพ. คัดค้าน และขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดข้างต้น
สุดท้าย ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า ผู้ว่าฯกทพ. ในขณะนั้น มีพฤติการณ์รีบร้อนในการทำสัญญากับเอกชน โดยเอกชนคู่สัญญาเองก็รู้อยู่แล้วว่า กทพ. ไม่อาจส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรหุ้นของบริษัท ให้แก่ผู้ว่าฯกทพ. ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า การใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าฯกทพ. ดังกล่าวในการลงนามในสัญญาจ้างเหมาทางด่วนฯ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การทำสัญญาดังกล่าวของเอกชนคู่สัญญาใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ เกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน (กทพ.) คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้อง (เอกชน) หากศาลบังคับให้ตามคำชี้ขาดนั้นย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลจะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามมาตรา 44 แห่ง พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 พิพากษาให้ยกคำร้อง
สรุปง่ายๆ คือ กทพ. ชนะคดีค่าโง่ทางด่วน ไม่ต้องบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ กทพ. ชดใช้เงินแก่เอกชนถึง 6 พันล้านบาท
ต่อมา เอกชนยังสู้อีกยก โดยฟ้องเรียกเงินคืนในฐานะลาภมิควรได้
ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ กทพ. ใช้เงินแก่บริษัทเอกชน 5 พันล้านบาท
แต่ศาลฎีกาพิพากษา โดยชี้ข้อเท็จจริงที่ว่า ทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนนั้น ฝ่ายเอกชนคู่สัญญาได้ให้ผลประโยชน์แก่ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (ขณะเกิดเหตุ) ซึ่งเป็นผู้แทนมีอำนาจกระทำการแทนจำเลย และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อจูงใจให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่โจทก์กับพวก และในขณะที่ทำสัญญาจ้างเหมานั้น ผู้ว่าฯ กทพ. และโจทก์กับพวกต่างก็ทราบก็ดีอยู่แล้วว่าจำเลยยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างตามสัญญาให้แก่โจทก์กับพวกได้ พฤติการณ์ของโจทก์กับพวกถือได้ว่าโจทก์กับพวกทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับจำเลยโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น จึงมีส่วนร่วมในการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นผลให้สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนไม่ผูกพันจำเลย แม้โจทก์กับพวกจะทำงานตามสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวแล้วเสร็จโดยส่งมอบโครงการทางด่วนให้จำเลยได้รับไปแล้วโดยมีราคาคงที่เพิ่มเติมในภายหลังก็ตาม ราคาคงที่เพิ่มเติมดังกล่าวก็ถือได้ว่าโจทก์กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมและค่าดอกผลในค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายกฟ้อง
ความข้างต้นนี้ เป็นใจความสำคัญตามคำพิพากษาศาลฎีกา (ที่มา เพจหลักกฎหมายสายย่อ)
3.2 ช่วงที่มีการบอกเลิกสัญญา และช่วงที่เรื่องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการอีกหลายปี หลังแจ้งบอกเลิกสัญญา
ช่วงนั้น มีเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะระดับใด เข้าไปรับงานใคร? ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เอื้อประโยชน์แก่เอกชน หรือไม่ อย่างไร?
ทั้งหมด หากใช้บทเรียนจากการแก้ไขค่าโง่กรณีคลองด่าน กับกรณีทางด่วนฯข้างต้น ก็จะต้องไล่ดูขยะที่ถูกซุกไว้ใต้พรม ว่ามีใครทำอะไรไว้ เพื่อจะใช้เหตุนั้น ยืนยันว่า ไม่สามารถจะบังคับตามสัญญาได้เพราะเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ต่อไป
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี