ความสับสนของคนในสังคมไทยอันเนื่องมาจากการคิดคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อยังคงดำรงอยู่ ถึงแม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรอง สส. บัญชีรายชื่อไปแล้วก็ตาม
ปมปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความสับสนในเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากข้อกฎหมายตามมาตรา 128 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. เหตุที่บอกว่าปมปัญหามาจากเรื่องนี้ ก็เพราะในบรรดาคนที่อ้างว่าอ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น ต่างก็ตีความมาตราดังกล่าวไปคนละทิศละทาง จึงส่งผลต่อการคำนวณ สส. บัญชีรายชื่อที่ไม่สอดคล้องต้องกัน
ถ้าจะสืบย้อนขึ้นไปถึงต้นตอของปัญหานี้ ก็ต้องไปเริ่มกันที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพราะคณะกรรมการ ดังกล่าวคือผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 แต่นับเป็นเรื่องประหลาดมหัศจรรย์ในเชิงลบ เพราะเมื่อสังคมเกิดความสับสนในการคิดคำนวณจำนวน สส. บัญชีรายชื่อ แล้วพยายามจะถามไปยังต้นตอของเรื่องนี้ แต่ทว่า ประธาน กรธ. กลับอ้างว่า ตนเองหมดหน้าที่ไปแล้ว (ผู้ตอบว่าตนเองหมดหน้าที่แล้วคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.)
เมื่ออ้างถึงมาตรา 128 ตาม พ.ร.ป. เลือกตั้งแล้ว ก็ต้องดูมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญด้วย เพราะทั้งสองมาตราคือหลักในการคิดคำนวณ สส. บัญชีรายชื่อ
ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ คะแนนการออกเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีจำนวน 35,532,647 เสียง (คะแนนนี้คือคะแนนดีหมายความว่าเป็นคะแนนที่หักบัตรเสีย บัตรที่แสดงความประสงค์งดออกเสียง) เมื่อนำคะแนนเสียงดีทั้งหมดตั้งแล้วหารด้วย 500 (คือจำนวน สส. ทั้งหมด) ผลลัพธ์คือ 71,057.4980 คะแนน (อ้างตาม พ.ร.ป. เลือกตั้ง มาตรา 128 วรรคหนึ่งที่กำหนดให้ใช้ทศนิยมสี่หลัก) เพราะฉะนั้นคะแนนเฉลี่ยต่อการมี สส. บัญชีรายชื่อหนึ่งคนจึงเท่ากับตัวเลข 71,057.4980 คะแนน
ประเด็นต่อมาคือ คำว่า สส. พึงมีของแต่ละพรรคการเมือง การหาจำนวน สส. พึงมีทำโดยนำตัวเลข 71,057.4980 ไปหารที่แต่ละพรรคได้รับจากการเลือกตั้ง ผลลัพธ์ออกมาเป็นเท่าไรคือจำนวน สส. พึงมี แต่ปัญหาตามมาตรงคำว่า เบื้องต้น ดังปรากฏอยู่ใน พ.ร.ป. เลือกตั้ง มาตรา 128 (2) ซึ่งมีคำว่า จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น และยังบัญญัติต่อไปอีกด้วยว่า และเมื่อได้คำนวณตาม (5) (6) หรือ (7) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่าจำนวนดังกล่าว เป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคนั้นจะพึงมีได้
นี่แค่เพียงข้อความจากวงเล็บเดียว ซึ่งอันที่จริงยังมีข้อความอีกหลายวงเล็บ ซึ่งเมื่ออ่านจนครบทุกวงเล็บก็จะยิ่งสับสนหนักเข้าไปใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้สังคมเกิดคำถามว่า ทำไมผู้ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงต้องเขียนกฎหมายให้สลับซับซ้อนมากมายถึงเพียงนี้
พูดก็พูดเถอะ สาธารณชนกำลังก่นด่าประณามผู้จงใจเขียนกฎหมายแบบซ่อนเงื่อนเช่นนี้ เหตุผลที่สาธารณชนก่นด่าก็เพราะการเขียนกฎหมายเช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับประเทศแม้แต่น้อยมิหนำซ้ำยังรังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมาอีกมากมายในอนาคต
สาธารณชนจึงตั้งคำถามว่า คนหวังดีต่อบ้านต่อเมืองเขาเขียนกฎหมายกันแบบนี้หรือ หากบ้านเมืองเกิดความแตกแยกเพราะกฎหมายฉบับนี้แล้ว ประชาชนถามว่าผู้ร่างกฎหมายมีปัญญาแก้ปัญหาของบ้านเมืองหรือไม่ หรือว่าสักแต่ว่าเขียนๆ ไปเท่านั้น บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร คนร่างกฎหมายไม่สนใจ และไม่รับผิดชอบ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี