ยังหาข้อสรุปในบรรทัดสุดท้ายไม่ได้ กรณี สหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้(Reciprocal Tariff) สำหรับ 22 ประเทศมีผลบังคับใช้ 1 สิงหาคมนี้ โดยไทยถูกเก็บภาษีสูงถึง 36% สูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เช่น เวียดนาม (20%) มาเลเซีย (25%) และอินโดนีเซีย (32%) แต่แนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลดูเหมือนยังไม่มีอะไรชัดเจน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ในการเจรจาภาษีการค้ากับประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์เฟซบุ๊ก วันก่อนว่า ได้พูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 กับผู้แทนการค้าอเมริกา (USTR) โดยได้ส่งข้อเสนอที่ได้รับการปรับปรุงไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้ และได้นำข้อเสนอเพิ่มเติม ซึ่งเราได้ย้ำว่า การปรับปรุงข้อเสนอครั้งนี้ เชื่อว่าจะเข้าตรงเป้า และเป็นที่พอใจกับอเมริกา ในขณะที่จะสร้างความสมดุลประโยชน์กับคนไทยและอุตสาหกรรมไทยได้เป็นอย่างดีเชื่อได้อัตราภาษีไม่เกิน 20% ใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้าน
มีประเด็นน่าสนใจวันก่อน นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภายหลังการบรรยายในโครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง ประจำปี 2568 “รู้ทันโลกการเงิน ทลายหนี้สู่ความยั่งยืน” ถึงการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผ่านมา ธปท. มีมาตรการตามแนวทางการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ หรือ Responsible Lending คือเมื่อลูกหนี้มีปัญหาการชำระหนี้ก่อนจะเป็นหนี้เสีย (NPL) และหลังเป็นหนี้เสียเจ้าหนี้ยังต้องช่วยเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งมาตรการดังกล่าวใช้มาตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิดสำหรับมาตรการภาษีตอบโต้ที่อาจทำให้รายได้ลดลง จนประสบปัญหาการชำระหนี้ ไม่ต้องรอให้เป็น NPL สามารถเข้าไปขอเจรจา เพื่อปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ได้
ส่วนการปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต (min pay ) ที่มีการปรับลดการจ่ายขั้นต่ำในช่วงโควิด จาก 10% เหลือ 5% และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ได้มีการปรับเพดานการจ่ายขั้นต่ำขึ้นมาที่ 8% อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้มีหลายฝ่ายมองว่ามีโอกาสที่จะปรับลดจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำไปในระดับ 5% อีกครั้งหรือไม่ นางสุวรรณีกล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว กำลังพิจารณาทบทวนและจะประกาศเร็วๆ นี้
ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท โดยไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 87.4% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 0.1% ส่วนหนึ่งเกิดจากจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหลังสถานการณ์โควิด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทยอยปรับลดลงจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง สอดคล้องกับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง โดยยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อในระยะต่อไป โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง
ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้อะไรได้หลายๆ ในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแค่สัญญาณ การปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต (min pay) ที่มีการปรับลดการจ่ายขั้นต่ำในช่วงโควิด จาก 10% เหลือ 5% และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ได้มีการปรับเพดานการจ่ายขั้นต่ำขึ้นมาที่ 8% และจะมีการจะปรับลดลงอีกในอนาคตข้างหน้า เราๆ ท่านๆ พอเข้าใจอนาคตเศรษฐกิจคงไม่ได้สดใสไปมากกว่าเดิม
ก็ขอเอาใจช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยภาพรวมให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี