ในบรรยากาศที่การเมืองไทยกำลังเข้มข้นไปด้วยการเดินเกม ชิงไหวชิงพริบ เจรจาต่อรอง
“เขี้ยวลากดิน” กันทุกฝ่าย
ยึกยัก ยื้อยุด โยกโย้ ดึงกันไปมา
คอการเมืองลุ้นกันแทบฉี่เล็ด ว่าบ้านเมืองจะเดินต่อไปทางไหน อย่างไร
ปรากฏว่า เมื่อวานนี้ นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แนะนำให้คนไทยอ่านหนังสือ Animal Farm
1. พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นคนเปิดเผยแก่สื่อมวลชน ระบุว่า
นายกฯ กล่าวถึงกรณีการจัดตั้งรัฐบาล ว่าเป็นเรื่องของพรรคการเมือง จึงขอให้รอความชัดเจน ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติ ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีเคารพกฎหมาย คะแนนเสียงของทุกพรรค และความต้องการของประชาชน ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกพรรคการเมือง
นอกจากนี้นายกฯ หวังเพียงให้บ้านเมืองเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้สังคมมองเรื่องของผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลักด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะขณะนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายหลายอย่าง ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจโลก การแข่งขันในภูมิภาค และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยไม่อยากให้โยงนายกรัฐมนตรีไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองของพรรค ดังนั้น หากเป็นเรื่องการเมืองให้สอบถามกับพรรคการเมืองจะเหมาะสมกว่า
“นายกฯ ฝากแนะนำให้อ่านหนังสือ Animal Farm ฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นหนังสือน่าอ่าน ที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี”
2. เจตนาของนายกฯ พลเอกประยุทธ์ แท้จริงเป็นอย่างไร สุดจะคาดเดา
แต่หนังสือ Animal Farm นั้น เป็นหนังสือสุดคลาสสิก
มีการแปลเป็นภาษาไทยจำนวนมากมายหลายเวอร์ชั่น
เนื้อหาสาระก็มีการตีความ แปลความ รวมไปถึงวิเคราะห์ต่อยอดจากเนื้อหาในหนังสืออย่างกว้างขวาง ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมเชิงอำนาจของมนุษย์ ของนักการเมือง ตลอดจนองคาพยพต่างๆ ในแวดวงอำนาจด้วย
เรียกว่า วิพากษ์ เสียดสี ไม่เว้นแม้แต่ฝ่ายปฏิวัติด้วย
ถ้าเช่นนั้น ก็แสดงว่านายกฯ คงจะเสียดสี และเตือนทุกคน ทุกฝ่าย รวมถึงตัวเองด้วย
3. หนึ่งในบทวิเคราะห์เนื้อหาสาระจากหนังสือเล่มนี้ ที่น่าสนใจ น่าอ่าน น่าขบคิดต่อ ได้แก่ “บทเรียนอำนาจจาก Animal Farm ของจอร์ช ออร์เวลล์” โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ บอกว่า
“... เรื่องย่อมีอยู่ว่า ฟาร์มสัตว์แห่งหนึ่งไม่พอใจเจ้าของที่เป็น “คน” ที่ขี้เกียจ เมา ไม่เอาการเอางาน มีแต่ใช้งานสัตว์ ผู้นำหมูจึงรวมตัวกันขับไล่ เมื่อผู้นำหมูตัวแรกตายไปก็ตั้งทายาทเป็นหมูสองตัว แย่งอำนาจกันจึงเหลือแต่ตัวที่ชื่อ “นะโปเลียน”
นะโปเลียนแรกๆ ก็ดูดี แต่นานเข้าก็เริ่มหลงอำนาจ แก้บัญญัติ 7 ประการให้ตอบสนองตนเอง ใช้สื่อเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโฆษณาชวนเชื่อครอบงำผู้คนในสังคม จนที่สุดหมูเดินสี่ขาก็เริ่มเดินสองขา เริ่มใส่เสื้อผ้า เริ่มนอนเตียง เริ่มกินเหล้า เริ่มฆ่าสัตว์อื่น ซึ่งผิดกฎ 7 ข้อที่ตั้งกันไว้แต่ต้น
โดยเฉพาะข้อสุดท้ายที่เขียนไว้แต่เดิมว่า “สัตว์ทุกตัวย่อมเท่ากัน” ก็มาเพิ่มว่า “แต่บางตัวเท่ากันมากกว่าอีกบางตัว” “All animals are equal, but some animals are more equal than others” เมื่อหมูทำตัวเหมือน “คน” ในตอนจบพวกมันก็พบว่า ตัวเองไม่ได้ต่างไปจาก “คน” (ที่มันได้ยึดอำนาจมา) นั่นเลย
จอร์ช ออร์เวลเสียดสีคอมมิวนิสม์ และผู้นำรัสเซีย ซึ่งประกาศอิสรภาพจากอำนาจเก่า ประกาศความเท่าเทียมและความยุติธรรม แต่แล้วก็ “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”….
มีบทเรียนสำคัญเรื่องการใช้อำนาจ เมื่อคนมีอำนาจก็จะใช้อำนาจในทางที่ผิด และยิ่งมีอำนาจมากก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจผิดมาก (Absolute power, corrupts absolutely) มีบทเรียนสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ
1. การเคารพและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้เดิมจะเป็นอุดมคติของผู้นำในฟาร์ม แต่เมื่อมีอำนาจ ก็ไม่ได้ทำตามนั้น หมูมีสิทธิมากกว่าและได้รับการปฏิบัติต่อเหนือกว่าสัตว์อื่นๆ ในฟาร์ม ผู้นำสูงสุดอย่างนะโปเลียนปรับกฎระเบียบตามอำเภอใจโดยไม่ได้ปรึกษาสัตว์อื่นๆ ซึ่งนำไปสู่จุดจบในตอนท้ายของนิทานเรื่องนี้
ตามท้องเรื่อง การใช้อำนาจในทางที่ผิดไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่ค่อยๆ เกิดขึ้น การมีอำนาจทำให้คนหลงอำนาจ และมัวเมากับอำนาจ คิดว่าตนเองถูกเสมอ และดีกว่าคนอื่น รับไม่ได้กับคำวิพากษ์วิจารณ์ หรือการตำหนิติเตียน การประท้วงต่อต้าน ในฟาร์มสัตว์ถึงเกิดการตายอย่างมีเงื่อนงำและการฆ่า “อย่างมีเหตุผล” มากมาย (กฎข้อที่ 6 ที่ตนเองแก้ไขอนุญาตให้ทำได้ถ้ามีเหตุผล)
2. การยึดมั่นในความถูกต้องเป็นธรรม และไม่เกรงกลัวต่ออำนาจ พร้อมที่จะยืนยันในสิ่งที่ถูก และปฏิเสธหรือประณามในสิ่งที่ผิด สัตว์ในฟาร์มไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง ไม่กล้าเผชิญกับนะโปเลียน ยอมรับสิ่งที่หัวหน้าหมูพูดและทำไปเสียทั้งหมด แม้ว่าจะอยู่อย่างไม่มีความสุข ไม่มีเสรีภาพ อย่างสัตว์บางตัวถูกฆ่าอย่างไม่เป็นธรรม แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดกล้าบอกใครเพราะกลัว แม้จะรู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎระเบียบของฟาร์ม
3. อำนาจทำให้ทำความผิด อำนาจมากที่สุดทำให้ผิดมากที่สุด นะโปเลียนหลงอำนาจ ตัดสินใจ และสั่งการตามอำเภอใจ ให้สัตว์ต่างๆ ทำงานในฤดูหนาวท่ามกลางความหนาวเย็น โดยไม่ได้สนใจให้อาหารและเวลาพักผ่อนอย่างพอเพียง ไม่ใส่ใจต่อความเดือดร้อนของสัตว์อื่น คิดถึงแต่ตัวเองและพวกพ้อง
นิทานเรื่องฟาร์มสัตว์ทำให้เห็นว่า อำนาจทั้งหลายล้วนมีแนวโน้มที่จะทำให้คนทำผิดได้มากถ้าหากไม่มีกลไกในการตรวจสอบและคานอำนาจนั้น ด้านหนึ่งก็เป็นกลไกทางการสังคมการเมืองในระบบ อีกด้านหนึ่งเป็นกลไกของสังคมพลเมือง ด้านหนึ่งเป็น “สถาบัน” อีกด้านหนึ่งเป็น “ขบวนการ”
สังคมพลเมืองนี้มีความสำคัญมากที่สุด เพราะหากว่าอ่อนแอ และไม่เข้าใจว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง แม้ในสังคมประชาธิปไตย ท้ายที่สุดคนที่ได้รับเลือกตั้งก็คิดว่าตนเองมีอำนาจ หรือได้รับมอบอำนาจ (เหมือนประชาชนเซ็นเช็คเปล่าให้) ก็มีแนวโน้มที่จะไป “กรอกตัวเลขตามใจชอบ” ถึงได้มี “เผด็จการรัฐสภา เผด็จการการเมือง” และคอร์รัปชั่นในยุครัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
สังคมไทย 85 ปี ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มีรัฐบาลพลเรือนและทหารสับเปลี่ยนการเข้าสู่ “อำนาจ” มานับครั้งไม่ถ้วน มีรัฐธรรมนูญนับ 20 ฉบับ ร่างใหม่ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร ไม่ว่าทหารหรือพลเรือน เมื่อเข้าสู่อำนาจก็มีแนวโน้มสถานการณ์อย่างที่เกิดขึ้นใน “Animal Farm”…”
4. สิ่งน่าคิดเวลานี้ คือ ในสถานการณ์ความขัดแย้ง การเดินเกม การต่อรองทางการเมือง หากมุ่งเอาชนะกันเฉพาะหน้า สุดท้าย บ้านเมืองส่วนรวมก็จะวนกลับไปสู่สถานการณ์เดิม
อำนาจพ้นจากคนนี้ กลับไปอยู่ในมือคนนั้น
เปลี่ยนเพียงมือของตัวละคร แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพที่แท้จริง
แน่นอนว่าตัวผู้มีอำนาจ คือคนต้องรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ แต่เราทุกคนก็อยู่ในฟาร์มอันเดียวกัน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี