ตั้งแต่นายทักษิณ ชินวัตร สามารถกุมชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2545 จนถึงบัดนี้ ก็ร่วมจะ 15 ปีผ่านมาแล้ว แต่รูปแบบ ลักษณะ และเนื้อหาของการเมืองไทย ก็ยังคงเป็นแบบเผชิญหน้ากันไปมา ขัดแย้ง ปะทะ ประท้วงกัน ทั้งในรัฐสภา และนอกรัฐสภา
และไม่ว่าจะด้วยความหวังดีต่อบ้านเมืองหรือด้วยความทะเยอทะยานใฝ่หาอำนาจ ฝ่ายกองทัพ ก็ได้เข้าแทรกแซง ทำการปฏิวัติรัฐประหารถึง 2 ครั้ง 2 ครา (เมื่อปี 2549 และปี 2557) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกู้สถานการณ์ แก้ไขปัญหาบ้านเมือง โดยครั้งหลังสุด ได้ใช้คำว่า ปฏิรูปและปรองดองสมานฉันท์ เป็นตัวนำ ขับเคลื่อน เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากสภาวะชะงักงันทางการเมือง และถดถอยในการพัฒนาประเทศ
แต่เมื่อระยะเวลา 5 ปีแห่งการปฏิรูปประเทศได้ผ่านไป การปฏิรูปและการเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองตามคำมั่นสัญญาของผู้ยึดอำนาจ ที่สร้างความคาดหวังต่อชาวประชา ก็มิได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด
จนแล้วจนรอด สังคมไทยก็ได้เห็นแต่การนั่งทับอยู่บนอำนาจของฝ่ายกองทัพอย่างมั่นคงถึง 5 ปีกว่า (2557-2562) แถมยังสามารถทำการสืบทอดการครองอำนาจของฝ่ายกองทัพในเวทีการเมืองไทยได้อีกด้วย ผ่านทางกติกาภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ฝ่ายกองทัพคิดเอง เขียนเอง เห็นชอบเอง แล้วก็ยัดเยียดให้ประชาชนพลเมือง ซึ่งแม้จะมีการตบแต่ง แต่งหน้าแต่งตาว่า ได้มีการรับฟังความคิด เป็นการเปิดโอกาสการมีส่วนร่วม มีการลงประชามติ ก็หาได้เกิดความเชื่อมั่นจากสังคม หรือมีใครเคลิ้มตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายกองทัพสามารถครองเมืองได้ต่อตามแผน แต่ความเห็นต่าง ความคิดตรงกันข้าม ความประสงค์ที่จะหักล้างกัน ก็ยังคงมีอยู่เพื่อต่อสู้กันไป ในสังคมก็ยังคงมีข้อขัดแย้งที่กว้างขึ้น และดูจะไม่มีวันเลิกรา
หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ นายทักษิณเริ่มต้นครองเมือง ได้มีปรากฏการณ์พิเศษในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือ ผู้นำรัฐบาลไม่ใส่ใจที่จะมาชี้แจงแถลงไขที่รัฐสภา แล้วยังไม่ฟังเสียงผู้เห็นต่างอีกด้วย เพราะไม่มีความคิด ความตั้งใจใดที่จะยื่นมือออกไปเพื่อจับเข่าคุยกันกับใครตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตย แถมยังมีการจัดตั้งขบวนการต่อต้าน และข่มขู่ผู้เห็นต่าง ผสมกับการใช้กลไกต่างๆ ของรัฐ และกระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือในการตีกรอบ “คู่อริ” ทางการเมืองอีกด้วย
ผลของการเมืองเช่นนี้ก็คือ การต่อสู้ระหว่างฝ่าย เหลือง และ แดง
และในวันนี้ วงการขัดแย้งได้ขยายตัวออกไปมากกว่าเพียงสีเสื้อเหลือง-แดง โดยในทางปฏิบัติก็คือ ฝ่ายร่วมรัฐบาลทหารนำพา กับฝ่ายค้าน ที่ผู้เป็นตัวแทนของนายทักษิณ (Proxy)
ซึ่งสถานการณ์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการพูดจากันได้ แต่กลับดูตั้งท่าจะทำการหักหาญกันต่อไป โดยไม่สนใจว่าประเทศจะบอบช้ำ ผู้คนตกอยู่ในภาวะท้อแท้ ขาดความสุขทั้งทางกายทางใจ ทั้งๆ ที่เป็นผู้จ่ายเงินค่าจ้างให้กับทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายทหารนิยมการเมือง
แล้วเราคนไทย จะปล่อยให้สังคมไทยอยู่กันแบบนี้ต่อไปงั้นหรือ?
แล้วภาระหน้าที่ของการต้องคิดแก้ไขปัญหาบ้านเมืองนั้นเป็นของใครกันเล่า
คำตอบก็คือ ใครที่มีอำนาจ ก็จะต้องมีหน้าที่ดำเนินการ
ในที่นี้ก็คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก็ล้มเหลวมา 5 ปีกว่าแล้ว ในฐานะผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร เนื่องจากเลือกที่จะไม่พูดจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ของประเทศอย่างสิ้นเชิง
แต่บัดนี้ พลเอกประยุทธ์ ดำรงสถานะผู้นำประเทศที่มาจาก “การเลือกตั้ง” พลเอกประยุทธ์ จะทำเฉยเมยต่อความขัดแย้งอันยาวนานอีกต่อไปไม่ได้แล้ว
แม้พลเอกประยุทธ์ และฝ่ายกองทัพการเมืองจะสามารถนิรโทษตนเอง จากการฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำการยึดอำนาจรัฐ (ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย) และยกโทษให้กับตัวและพวกตนได้ แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหน้าที่ความรับผิดชอบต่อผู้ได้รับผลกระทบและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไปได้เรียกว่า จะ “เอาแต่ได้” อย่างเดียว นั้นมิได้
ฉะนั้น พลเอกประยุทธ์ จะต้องเริ่มทำการพูดจากับ “คู่อริ” ทางการเมือง โดยเฉพาะ นายทักษิณ ชินวัตร และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้ชัดเจน ว่าจะสามารถหาจุดร่วมเพื่อประคับประคองประเทศไทย ให้ก้าวไปข้างหน้าภายใต้กฎหมายและกรอบธรรมาภิบาล และหลักถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้อย่างไรบ้าง
นั่นก็เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจและผู้เล่นทางการเมืองที่ต้องทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติเสียที
ในขณะเดียวกัน อีกกลุ่มบุคคลหนึ่ง ที่สามารถช่วยเหลือประเทศชาติได้ คือ บรรดาอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งหลาย รวมทั้งบรรดาผู้เป็นจิตวิญญาณของสังคม เช่น นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิด
นักปราชญ์ และนายแพทย์ประเวศ วะสี นักคิดนักขับเคลื่อนภาคประชาสังคม ที่น่าจะร่วมกันนัดพบหารือกันว่า จะช่วยนำเสนอทางออกให้กับประเทศไทยได้อย่างไร
ในขณะเดียวกัน ประชาชนพลเมืองผู้ห่วงใยบ้านเมืองและรักชาติและผู้ต่อสู้กับความถูกต้องชอบธรรม ก็น่าจะออกมาให้ความคิด เพื่อหาจุดร่วม จุดสมานฉันท์ด้วย โดยถือว่าเป็นสิทธิและหน้าที่ต่อชาติบ้านเมือง
ทั้งนี้ได้มีการเพียรพยายามให้มีการเสวนากันบ้างแล้วอย่างน้อยก็ 3 ครั้งด้วยกันในช่วง ภาวะวิกฤติที่ผ่านมา เช่น
-การพบปะระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี กับผู้นำเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดง ที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2553
-การพบปะระหว่าง 6-7 ฝ่าย จัดโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557
-และเวที The Friends of Thailand จัดโดย กลุ่มประเทศยุโรป ให้กับพรรคการเมืองหลักของไทย
แม้จะไม่ได้นำไปสู่การหาข้อยุติร่วมกันในทันที แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงจะอ้างเอาความไม่คืบหน้ามาสรุปเอาว่า ไม่ต้องมีการเสวนากันต่อไป มิได้
เพราะการจะแก้ปัญหาอะไร ก็ต้องเริ่มจากการเจรจาพูดคุยกัน ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ทางเลือกที่เหลือทางเดียว ก็คือการประหัตประหารกันให้สิ้นไปเท่านั้น
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี