ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร(สส.) เมื่อวันที่7 พฤศจิกายน และการประชุมวุฒิสภา(สว.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทั้ง 2 สภา ได้ทยอย รับทราบวาระรายงานประจำปี 2561 ของหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
น่าสนใจคือ รายงานของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ซึ่งสส.และสว.ได้ร่วมกับอภิปรายสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ
อย่างสภาผู้แทนราษฎร นายอัครเดชวงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.จังหวัดราชบุรี เขต 4พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กองทุนกสศ. ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับภารกิจ และวัตถุประสงค์ของกสศ. ทำอย่างไรให้กสศ.แก้ปัญหาให้ได้ตรงเป้าให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาที่ดี แต่ตอนนี้จัดสรรนักเรียนยากจนพิเศษ5 แสนราย เงินอุดหนุน 1,600 บาทต่อปี หรือวันละ 4.50 บาท เงินจำนวนเท่านี้จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ไหม หรือช่วยเหลือเด็กนักเรียน 5 แสนคน เท่านี้เงินก็หมดกองทุน แล้วจะลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร
“ผมเป็นอนุกรรมาธิการกองทุนและองค์กรมหาชน พบว่ามีหลายกองทุนที่มีเงินมากมายมหาศาล เช่น กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บางกองทุนมีเงินเป็นหมื่นล้าน พันล้าน เอาเงินไปใช้สะเปะสะปะในขณะที่กองทุนกสศ.สามารถช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสจริงแต่กลับได้รับงบประมาณน้อยมาก นี่คือความเหลื่อมล้ำตั้งแต่การบริหารกองทุน ควรนำเงินเหล่านั้นมาแบ่งให้กองทุนนี้” นายอัครเดช กล่าว
หรือในที่ประชุมวุฒิสภา นพ.เฉลิมชัยบุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายว่า กสศ. เป็นกองทุนเดียวที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่หน่วยงานของรัฐจะไปทำให้โอกาสนี้ลดน้อยลง ในครั้งแรกก็เข้าใจข้อจำกัดเรื่องงบประมาณนี้ว่าอาจจะจัดสรรไม่ได้ถึง 25,000 ล้านบาท แต่ถ้าคำนวณ 25,000 ล้านต่อปีดูแลเด็กและเยาวชนที่เลือกเกิดไม่ได้ 4 ล้านคน คำนวณตกเดือนละไม่เกิน 600 บาท เป็นปัญหามากมายมหาศาลทุกขั้นตอน ปี 2563 เรายังจัดสรรเงินที่ 5,000 ล้าน จาก 25,000 ล้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดเหลือ 3,000 ล้าน หน่วยงานที่ตัดงบประมาณ คือหน่วยงานไหน มีเหตุผลอะไร มีความคิดอะไร เรื่องไหนสำคัญกว่ากัน สาธารณะน่าจะมีส่วนร่วมรับทราบเรื่องนี้ การช่วยคนยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่มีเงินมีอำนาจจะทำสำเร็จ ผมเห็นว่า กสศ. ได้ถูกออกแบบ ผ่านการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์เป็นระบบ ด้วยงานวิจัยจากต่างประเทศ มีความเชื่อว่าการจัดงบประมาณลักษณะนี้จะทำให้เข้าถึงโอกาส ทำให้ทุกคนเสมอภาคกัน
นายตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า ดีใจที่มีส่วนเริ่มต้นในการออกแบบกองทุนนี้ คิดว่าจะเป็นกองทุนที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้ เพราะจะสามารถโน้มตัวเองถึงคนยากจนตอนเขียนร่างกฎหมายนี้
ทั้งนี้ ในการประชุม สส.และสว. ทางนพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.ได้ชี้แจงที่ประชุมว่า กสศ.เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา ที่ชี้ว่าจุดอ่อนมากที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศคือความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาค จึงต้องตั้ง กสศ.ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
“จำนวนงบประมาณเป็นคำตอบแค่ครึ่งเดียวไม่สำคัญเท่ากับเงินจำนวนนี้ไปเติมที่จุดไหน ไม่จำเป็นต้องเข้าที่ กสศ.ทั้งหมด เข้ามาเป็นส่วนน้อยก็ได้โดยมีข้อแม้ 2 ข้อ คือเน้นเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะไม่ใช่จับจ่ายเหมือนงบปกติหลายแสนล้าน และต้องเติมงบประมาณให้ผูกกับผู้เรียน เป็นดีมานด์ไซด์ไฟแนนซิ่งโดยมีเงื่อนไขต้องเปลี่ยนผู้เรียนให้ได้ ไม่ได้เติมไปในระบบราชการปกติที่เป็นฝั่งซัพพลายไซด์” นพ.สุภกร กล่าว
กลุ่มเป้าหมายของกสศ.ตามมาตรา 5เริ่มตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงวัยเรียนทั้งในระบบและนอกระบบ ไปจนถึงทรัพยากรมนุษย์ที่พ้นวัยเรียนแล้ว รวมทั้งหมด ประมาณ 4 ล้านคนแต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด ทำให้ต้องหาวิธีการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดฐานข้อมูลนี้จะดูแลต่อเนื่องระยะยาว ไม่ว่าเด็กจะย้ายไปเรียนต่อสังกัดไหน ภายในเวลา 10 ปี จะพาประเทศไทยออกจากสภาพความเหลื่อมล้ำตรงนี้ได้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี