หัวข้อนี้เป็นผลสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (School Readiness) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือติดตามสถานการณ์เด็กปฐมวัย ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมแถลงผลสำรวจดังกล่าวไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดี คณะการศึกษาปฐมวัย และผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความพร้อมของเด็กปฐมวัย ต้องประกอบด้วย ความพร้อมของเด็ก ความพร้อมของสถานศึกษา และความพร้อมของครอบครัว ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้สำรวจความพร้อมเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ใน 6 จังหวัด โดยมีข้อมูลเด็กชั้นอนุบาล 3 ทั้งหมด 3,402 คน จาก 229 โรงเรียน ข้อมูลครอบครัว 2,900 ครัวเรือน
และข้อมูลครู 460 คน ส่วนปีการศึกษา 2562 ดำเนินการสำรวจข้อมูลทั้งสิ้น19 จังหวัด โดยมีข้อมูลเด็กชั้นอนุบาล 3 ทั้งหมด 9,526 คน จาก 684 โรงเรียน ข้อมูลครอบครัว 8,332 ครัวเรือน และข้อมูลครู 774 คน โดยใช้เครื่องมือทดสอบทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ ภาษา และความพร้อมของกล้ามเนื้อมัดเล็ก พบว่าเด็กพื้นที่ชายแดนใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพัฒนาการด้านการศึกษาต่ำกว่าภาคอื่นๆ
และมีการสำรวจเชิงลึกซ้ำอีกครั้งเพื่อจัดเก็บข้อมูลเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ โดยในปีล่าสุด(2562) มีกลุ่มตัวอย่างเด็กปฐมวัยทั้งสิ้น 1,437 คน จาก 1,237 ครัวเรือนพบว่า ปัญหาความยากจนหรือความขัดสนในครอบครัว มีผลเสียต่อความพร้อมด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัย ความยากจนทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลาทำกิจกรรมกับลูก ส่งผลให้เด็กใช้เวลาว่างที่บ้านอย่างไม่มีคุณภาพ รวมถึงไม่มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ ซึ่งการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ สามารถช่วยพัฒนาความพร้อมด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัยได้ โดยการที่ท้องถิ่นช่วยพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชนบทให้มีคุณภาพ
ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า School Readiness จะช่วยสะท้อนภาพในแต่ละจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชนว่าเด็กปฐมวัย มีสถานการณ์และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้คนในพื้นที่นำมาวางเป้าหมายพัฒนาหรือระดมทรัพยากรช่วยเหลือเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ กสศ. มีบทบาทสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยในครอบครัวที่รายได้น้อยได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพได้จนสำเร็จการศึกษาตามศักยภาพและความถนัดของแต่ละคน โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย
ในปีการศึกษา 2563 นี้ กสศ. สนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่กลุ่มเด็กปฐมวัยหลายลักษณะ ครอบคลุมสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเกือบ 700 แห่ง โดยมีเด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัยมากกว่า 60,000 คน กระจายทั่วประเทศ ผ่านมาตรการ ดังนี้ 1.สนับสนุนทุนส่งเสริมโอกาสเข้าถึงการศึกษาแก่เด็กปฐมวัยจากครอบครัวยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย (ศพด. ศูนย์เด็กเล็ก กทม.) คนละ 800 บาทต่อปีการศึกษา หรือ 400 บาทต่อภาคเรียน 2.สนับสนุนงบประมาณสำหรับพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัด อปท. 400 แห่ง แห่งละไม่เกิน 25,000 บาท เพื่อนำไปใช้พัฒนาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ.2561 3.สนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กเล็กสังกัดกทม.อีก 295 แห่ง นอกจากนี้ยังเป็นปีแรกที่ กสศ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในการสนับสนุนทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาลทุกสังกัด (สพฐ. ตชด.และอปท.) คนละ 3,000 บาทต่อปี มากกว่า 60,000 คน ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ
“ศพด.ถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้ปกครองต้องไปทำงานไม่มีใครเลี้ยงดูบุตรหลาน หรือมีญาติพี่น้องมาดูแลเด็ก การส่งไปเรียนใน ศพด. จึงมีความสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงเด็กหลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยได้ และผลสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย ไม่ใช่เป็นการไปจับผิดการทำงานในพื้นที่ หรือทำให้แต่ละพื้นที่ต้องแข่งขันกัน แต่เป็นข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ตัวเองมีสถานการณ์แบบไหน เพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเป้าหมาย ระดมการมีส่วนร่วม ตลอดจนติดตามผลเพื่อให้เกิดพัฒนาการต่อเนื่องซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต” ดร.ไกรยส กล่าว
ผมหยิบยกเรื่องการศึกษามาเขียนหลายครั้งเพราะนายกฯพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และขอร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวงการการศึกษาไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี