โลกในยุคสมัยนี้ต่างพูดกันมากในเรื่องสิทธิของปัจเจกชน (Rights of the individual) โดยมีองค์กรมากมายออกมาขับเคลื่อนเรียกร้องเรื่องสิทธิหรือกล่าวโดยรวมว่า สิทธิมนุษยชน (Human Rights) โดยเฉพาะสิทธิในการแสดงออก สิทธิในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อถือ สิทธิในการมีส่วนร่วมสิทธิในการเข้าถึงซึ่งการบริการของรัฐ ในการถือครองทรัพย์สิน ในการเข้าถึงซึ่งข้อมูลข่าวสาร ไปจนถึงสิทธิในการร่วมรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และธรรมชาติแวดล้อม เป็นต้น
ในทางคู่ขนานกัน สิทธิต่างๆ ต้องไม่ถูกละเมิดโดยฝ่ายผู้ปกครอง หรือบุคคล หรือกลุ่มคนหนึ่งใด และสิทธิก็ต้องได้รับอย่างทัดเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งสิทธิต่างๆ นั้นต้องได้รับการคุ้มครองและได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
สิทธิจึงเป็นเรื่องสำคัญและใหญ่โตมากของความเป็นมนุษย์ โดยสิทธิต่างๆ ดังกล่าวจะพึงได้เห็นเป็นจริงเป็นจังได้อย่างลึกซึ้งกว้างขวาง ก็จะต้องอยู่ในบริบทสังคมเสรีประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว คือจะเป็นบริบทเผด็จการใดๆ มิได้ เพราะนั่นคือการไม่รับและลิดรอนสิทธิ
ถือเป็นเรื่องธรรมดาในปัจจุบันนี้ ที่มนุษย์จะเรียกร้อง และมีสิทธิอย่างกว้างขวาง เพราะมนุษย์เป็นที่ตั้งของสังคม (หรือมนุษย์เป็นใหญ่) แต่เรื่องสิทธิมิได้อุบัติขึ้นตามธรรมชาติ แต่มีวิวัฒนาการทั้งทางความคิด และการเรียกร้อง ขับเคลื่อน ที่ว่าด้วยเรื่องการบ้านการเมือง ที่เริ่มจากการปฏิเสธระบอบศักดินา (Feudal) หรือระบบขุนนางกับไพร่ และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือนัยหนึ่งการเรียกร้องเพื่อล้มเลิกการผูกขาดอำนาจ และให้มีสิทธิของการร่วมมือ แบ่ง และคานอำนาจกัน
เมื่อฝ่ายตะวันตกผงาดขึ้นเป็นเจ้าโลก เป็นเจ้าอาณานิคม ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ ความคิด ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติของเขาจะหลั่งไหลไปยังพื้นที่อื่นๆ ของโลก ซึ่งต่างก็มีการรับ และปรับใช้กันอย่างกว้างขวาง บ้างก็มีการผสมผสานกับของพื้นเมือง หรือรากเหง้าของสังคมนั้นๆ ที่มีกันอยู่ บ้างก็ขาดการกลั่นกรอง คัดกรองอย่างลึกซึ้ง โดยรับของพวกฝรั่งมาทั้งดุ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยเกิดปัญหาการยอมรับ ปัญหาการเข้าถึงด้วยความเข้าอกเข้าใจ และปัญหาการปฏิบัติอย่างลักลั่นกันไป หรืออย่างกระท่อนกระแท่น
และทั้งหมดนี้หลายสังคมมุ่งไปที่เรื่องสิทธิเป็นหลัก โดยลืมหรือมองข้ามเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบ (Responsibilities) ซึ่งมีอยู่ในแต่ละสังคมนั้นๆ มานมนาน หรือนัยหนึ่งสิทธิและความรับผิดชอบต้องควบคู่ กับไปทั้งความรับผิดชอบนั้น มีทั้งต่อตัวเองและต่อสังคมโดยรวม เพื่อความอยู่กันได้แบบสมานฉันท์ และไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ทางด้านภาคพื้นเอเชีย ในอารยธรรมฮินดู-พุทธ ที่มีอิทธิพล และเป็นรากเหง้าของสังคมไทยและหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจุดเริ่มต้นจากความคิดเกี่ยวกับพฤติกรรม หรือการปฏิบัติตนของมนุษย์ โดยมองว่าปัจเจกชนนั้นมิได้เริ่มต้นที่ “สิทธิ (Rights)” หากแต่เริ่มต้นที่ความรับผิดชอบ (Responsibilities) ต่างหาก
โดยหลักฮินดูมีการแบ่งชนชั้น ซึ่งบ่งบอกถึงสถานะ หรือฐานันดรและหน้าที่ และเมื่อต่างทำตามสถานะ หรือหน้าที่สังคมนี้ก็จะเคลื่อนไปได้ สังคมก็จะอยู่ได้แบบสมานฉันท์
ในหลักพุทธ จุดเริ่มต้นคือการละเว้นจากการกระทำทั้งหลายที่จะมีผลร้ายต่อตนเอง และต่อสังคมรอบๆ ตัว นั่นคือการยึดและปฏิบัติตามศีล 5 ควบคู่ไปกับการทำทาน หรือช่วยเหลือผู้อื่นด้วย และนอกจากนั้นที่สำคัญยิ่งก็คือจักต้องขัดเกลาจิตใจด้วยการภาวนาเพื่อความสงบ
ทั้งหมดดังกล่าวจึงเป็น “ความรับผิดชอบ” ที่แต่ละปัจเจกชนต้องพึงมีพึงปฏิบัติเพื่อตนเองและสังคม ควบคู่กันไปเป็นคู่แฝด
หลักฮินดู-พุทธ มิได้เริ่มจากเรื่อง “สิทธิ” หากแต่ให้ความสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นในสังคมไทยเราจะมีการทบทวนกันหรือไม่ โดยให้เน้นเรื่องความรับผิดชอบกันเสียก่อน แล้วเรื่องสิทธิว่ากันทีหลัง เป็นการกลับมาที่รากเหง้าของเรา แทนที่จะหลงใหลไปกับแนวคิดของพวกฝรั่ง ว่าด้วยเรื่องสิทธิ
หากพลเมืองมีศีลธรรม มีใจโอบอ้อมอารี ก็จะเป็นพลเมืองมีคุณภาพ ส่งผลให้สังคมมีคุณภาพ ดังนั้นเรื่องสิทธิก็ไม่ต้องไปกังวล เพราะเมื่อทุกคนทำตามความรับผิดชอบด้วยหลักศีลธรรมแล้ว สิทธิก็ได้รับการรับรองไปโดยปริยาย
เมื่อเรามาเริ่มกลับมาสำรวจดูรากเหง้าว่าด้วยหลักคิดของเรา แล้วนำไปประยุกต์กับหลักประชาธิปไตยตะวันตก เราก็จะได้ประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมและวัฒนธรรมของเรา เมื่อนั้นประเทศไทยจึงจะสามารถเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้ เพราะมีพลเมืองรู้หน้าที่ของตน มิใช่มีแต่พลเมืองที่มุ่งแต่จะเรียกร้องสิทธิของตน โดยไม่สนใจถึงภาระหน้าที่ ในการที่จะได้สิทธินั้น
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี