ในช่วงประมาณ 17-18 ปีที่ผ่านมา การขับเคี่ยวทางการเมืองไทยนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้น ดุเดือดและร้อนแรง โดยมีรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งประมาณ 10 ปี และรัฐบาลทหารพร้อมรัฐบาลพลเรือนหน้าฉากรวมประมาณ 7 ปี จนมาถึงรัฐบาลกึ่งทหารกึ่งพลเรือน 1 ปี (ชุดปัจจุบัน)
ด้านการขัดแย้ง และการต่อกรกัน ก็มีหลายรูปแบบ โดยช่วงรัฐบาลพลเรือน (ทักษิณ, สมัคร, สมชาย, อภิสิทธิ์, ยิ่งลักษณ์) ก็เป็นสงครามการเมืองแบบสองสี คือ ฝ่ายเหลืองฝ่ายแดง ผสมผสานไปกับการเมืองแบบเผด็จการเสียงข้างมากในรัฐสภา และระหว่างการเอาไม่เอานโยบายมาตรการประชานิยม หรือการทุจริตเชิงนโยบาย
จนเมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 การต่อสู้ขับเคลื่อนก็พัฒนามาเป็นเรื่องของการขับไล่ทหารการเมือง กับการเรียกคืนประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐบาลทหาร คสช. จะเป็นรัฐบาลประชานิยม (ที่ใช้ชื่อว่าประชารัฐ) เต็มตัวตามแบบอย่างรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
มาบัดนี้ มี “ผู้เล่นใหม่” ในสนามการเมือง คือกลุ่มเยาวชน พร้อมกับโทรศัพท์มือถือที่มากด้วยข้อมูล รูปแบบ และวิธีการสื่อสารที่รวดเร็วทั่วถึงซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวที่มุ่งต่อสู้เพื่ออนาคตที่สดใสของเขา เพราะเห็นว่าการเมืองของรุ่นผู้หลักผู้ใหญ่ได้ทำการปู้ยี่ปู้ยำประเทศชาติ และสาละวนอยู่กับผลประโยชน์ของตนเอง โดยมิได้ทำตัวให้เป็นแบบอย่างและที่พึ่ง และควรแก่การเคารพนับถือ เชื่อฟัง เชื่อถือให้กับพวกเขา
กลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวมิได้พึงพอใจกับเพียงคำว่า “ปฏิรูป (Reform)” โดยเห็นว่าคำว่าปฏิรูปนั้นถูกใช้อย่างดาษดื่น พร่ำเพรื่อ แต่กลับไร้สาระ และไร้ความจริงใจในทางปฏิบัติ เขาต่างเห็นว่าเป็นแค่วาทะเป็นการหลอกลวงเท่านั้น
กลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวจึงต้องการ “ปฏิวัติสังคมไทย” นั่นคือไม่เอาอะไรๆ ที่เป็นอยู่หรือเคยเป็นมากัน
เมื่อมีการเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนที่กว้างขวางมากขึ้น การตอบสนอง หรือปฏิกิริยาจากบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายกลับยิ่งทำให้เรื่องเลวร้ายลงไปอีก เพราะแทนที่จะรับฟัง หาข้อยุติ หาจุดปรองดอง ฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายยึดมั่นถือมั่นกับฐานันดรเดิมของตน (Status quo) ก็เลือกที่จะเพิ่มความเข้มข้นเข้าไปสู่สนามการเมืองเข้าไปอีก ด้วยการจัดตั้งขบวนการตามเช็ดตามล้าง และขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อชน อันเนื่องมาจากการคิด
แต่จะตอกย้ำของเดิม ยึดติดกับความคิดเก่าๆโบราณๆ รวมทั้งยึดติดกับอำนาจ ยึดติดกับการเป็นชนชั้นปกครองที่การใช้อำนาจเป็นวิถีทางเดียวในการปกครองประเทศ
สนามการเมืองไทยในวันนี้จึงอยู่ท่ามกลาง 2 กลุ่ม2 เส้า หรือ 2 ข้อ คือ
1.กลุ่มปฏิวัติสังคม กับ
2.กลุ่มยืนหยัดกับความเป็นอภิสิทธิ์ชนและฐานันดรเดิม
หากใช้ภาษาอังกฤษก็เป็นกลุ่ม Revolutionaryกับกลุ่ม Reactionary หรือกลุ่ม Status quo
อย่างไรก็ดี เมืองไทยนั้นถือเป็นเมืองแห่งศาสนา โดยเฉพาะเป็นเมืองพุทธ ซึ่งยึดมั่นในหลักทางสายกลางมาโดยตลอด ในสถานการณ์นี้ก็อาจจะเป็นการเหมาะสม ถ้าการเมืองไทยจะมีเส้าที่ 3 หรือ ทางที่สาม ซึ่งจะมีหลักและกรอบความคิด ดังนี้
1.คงความเป็นราชอาณาจักร (ปฏิเสธความเป็นสาธารณรัฐ)
2.คงความเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองต้องเป็นพรรคที่แท้จริง
3.ผู้อาสารับใช้ชาติต้องมีศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม และเป็นผู้รักษาและปฏิบัติตามกฎหมายเป็นแบบอย่าง
4.สร้างความชัดเจนให้กับอุดมการณ์ของประเทศ ว่าด้วยชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในกรอบหลักการประชาธิปไตย และกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย
5.เสริมสร้างสังคมไทยที่ธรรมะเป็นตัวนำและกำกับ
6.เสริมสร้างสังคมไทยที่ประชาชนพลเมืองทุกคนมีความมั่นคงและศักดิ์ศรีในชีวิต ด้วยการได้รับการดูแลและบริการในเรื่องครอบครัว ที่อยู่อาศัย การศึกษา การแพทย์ ที่ทำกิน (เกษตรกร) การจ้างงานที่แฟร์และยุติธรรม การสวัสดิการสังคม เพื่อมิให้ผู้ใดและท้องถิ่นท้องที่ใดตกหล่น
7.งบประมาณ ทรัพย์สิน และทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องตอบสนองประชาชนพลเมือง และมิใช่ตอบสนองแค่ภาคธุรกิจอีกต่อไป เพื่อเสริมสร้างสังคมแห่งความเป็นธรรม ที่ทัดเทียมเสมอภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตให้เสมอเหมือนให้มากที่สุด
ในการนี้ ก็อยากจะขอให้ช่วยกันพิจารณา วิพากษ์วิจารณ์ และขอเชื้อเชิญ ชวนเชิญเข้าร่วมในพลัง หรือแนวทางที่สามนี้กันครับ
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี