สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยได้ยกระดับและขยายวงเพิ่มขึ้นจากทุกระยะที่ผ่านมาและทำให้ประเทศตกอยู่ในความเสี่ยงขั้นสูงสุดแล้ว เป็นความเสี่ยงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือความเสี่ยงที่กระทบต่อความเป็นชาติที่อาจถูกยึดครองเป็นอาณานิคมและกระทบต่อสถาบันครั้งร้ายแรงที่สุด
จากแรกเริ่มเดิมทีที่ความขัดแย้งก่อตัวขึ้นในช่วงการเลือกตั้งที่จะเอาชนะคะคานกันโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรมและขื่อแปบ้านเมือง ฮึกเหิมลำพองใช้อำนาจและกลไกทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ
ได้กลายเป็นปฐมบทที่ทำให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาเกิดการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางในขอบเขตทั่วประเทศหลังจากที่นอนหลับทับสิทธิ์และไม่สนใจการบ้านเมืองมาตั้งแต่ยุคหลัง 6 ตุลาคม 2519 และเปิดจังหวะให้กับนักล่าอาณานิคมใหม่เข้าแทรก กลายเป็นสองกระแสคือกระแสภายในและกระแสภายนอกโหมประดังเข้ามาพร้อมกัน
โหมเข้ามาพร้อมกันกับสถานการณ์ที่ประเทศจมดิ่งอยู่ในวิกฤติทางเศรษฐกิจ และถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยเสียงต่อต้านการโกงบ้านกินเมือง อุ้มคนรวย ไม่ช่วยคนจน ที่กึกก้องกระหึ่มยิ่งกว่าครั้งใด และยังซ้ำเติมด้วยเภทภัยของโรคระบาดที่มีบางพวกฉวยโอกาสโกงชาติกินเมืองซ้ำเติมความทุกข์ยากให้แก่อาณาประชาราษฎรเข้าไปอีก
หากจะดูจากภายนอกก็อาจเห็นเพียงความขัดแย้งระหว่างนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนกับกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจ ซึ่งถ้าเพียงเท่านี้ความขัดแย้งนั้นก็มิได้สลับซับซ้อนเพราะเห็นได้ง่าย แก้ไขได้ง่าย
แต่ทว่าในครั้งนี้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนหนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่านั้น โดยสรุปคือ
ขบวนของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ลุกฮือขึ้นเรียกร้องให้มีการปฏิรูปใหญ่ ซึ่งเนื้อใหญ่ใจความก็คือเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองต่อรัฐบาล เช่น การเรียกร้องให้ยุบสภา ให้แก้รัฐธรรมนูญ หรือให้นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งเป็นเรื่องปกติทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
แต่กลับถูกแทรกแซงชักนำโดยนักล่าอาณานิคมใหม่แทรกแฝงข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันและยกระดับไปเป็นการรังแกระรานกระทั่งบางกลุ่มก็เลยเถิดไปถึงขั้นล้มล้างสถาบัน
สภาพเช่นนี้ชัดเจนไม่มีข้อสงสัยใดๆ และคนจำนวนมากก็สามารถจำแนกแยกแยะได้ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องเรียกร้องกับนักการเมือง เรื่องใดเป็นเรื่องที่มุ่งร้ายต่อสถาบัน และถ้าหากจำแนกแยกแยะแก้ไขปัญหาไปให้ตรงเป้าเข้าจุดก็ใช่ว่าจะเหลือบ่ากว่าแรง
อีกฝ่ายหนึ่งคือนักการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในบ้านเมือง แทนที่จะรับฟังแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งมีแต่จะเป็นประโยชน์ กลับลำพองในอำนาจ ตั้งความปรารถนาจะปราบปรามและสลายการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนอยู่ท่าเดียว ถึงขนาดคิดกลวิธีที่โหดเหี้ยมอำมหิตเตรียมออกมาใช้ทุกรูปแบบ
ในขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มบางก๊วนที่เกาะตัวแทรกอยู่กับกลุ่มอำนาจ แอบอ้างสถาบันเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อทำลายฝ่ายที่มีความเห็นต่าง ตั้งแต่ยัดเยียดข้อหาชังชาติ ชังเจ้า ไปถึงขั้นล้มเจ้า และยกระดับไปสู่การจัดตั้งกองกำลังเพื่อจะประหัตประหารคนไทยด้วยกันเอง
ยิ่งสถานการณ์แหลมคมขึ้นเท่าใด กลุ่มนี้กลับดูเหมือนว่ามีบทบาทและแนบแน่นกับอำนาจที่เผชิญหน้าอยู่กับขบวนการนักเรียนนิสิตนักศึกษา
การบิดเบือนความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชนและประชาชนกับฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นปกติในระบอบประชาธิปไตยให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา กับสถาบันชัดเจนรุนแรงและหนักหน่วงทุกรูปแบบ
การผลักไสประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชนด้วยการยัดเยียดข้อหาล้มเจ้า ถึงขนาดตั้งกองกำลังจะประหัตประหารกันด้วยข้ออ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบัน ทั้งที่แท้จริงเป็นแค่ปกป้องนักการเมืองจึงสมประโยชน์ของนักล่าอาณานิคมใหม่ เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มกำลังให้กับขบวนการที่ต่อต้านทางการเมืองและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสถาบันมากขึ้นทุกวัน
การล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของเนปาลจะมีลักษณะที่น่าสนใจศึกษาอย่างยิ่ง เพราะกระบวนการและขั้นตอนได้ดำเนินไปในลักษณะที่ไม่ต่างกันกับสถานการณ์ในบ้านเมืองของเราในขณะนี้
ข้อแรก ประเทศเนปาลเคยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงเป็นกลาง และไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง ดังนั้นการกระทำของรัฐบาลทั้งปวงเป็นการกระทำและเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองโดยตรง
ข้อสอง รัฐบาลเนปาลเป็นรัฐบาลที่โกงชาติฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักหนาสาหัส โกงทุกเรื่อง โกงทุกโครงการ โกงทุกพื้นที่ และมีการใช้อำนาจบิดเบือนฉ้อฉลปกป้องคนชั่ว ปราบปรามผู้ต่อต้านการทุจริต จนทำให้ฝ่ายต่อต้านเพิ่มแรงต่อต้านมากขึ้น และถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเหมาอิสต์หรือพวกล้มเจ้านั่นเอง
ข้อสาม ยิ่งมีการต่อต้านรัฐบาลเนปาลมากเท่าใดก็มีการยัดเยียดข้อกล่าวหาผู้ที่ต่อต้านไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ หรือประชาชนเด็กเล็กเด็กน้อยโดยทั่วไปว่าเป็นพวกเหมาอิสต์ การต่อต้านรัฐบาลจึงกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของเนปาล เพราะสถาบันของเนปาลก็ไม่สามารถที่จะชี้แจงหรือแก้ไขการกระทำของรัฐบาลได้
ข้อสี่ ประชาชนถูกผลักไสให้กลายเป็นพวกเหมาอิสต์มากขึ้นเท่าใด รัฐบาลเนปาลก็ระดมผู้คนออกมาต่อต้านมากขึ้น แต่ในที่สุดประชาชนเนปาลที่ได้รับความเดือดร้อนสารพัดก็เห็นอกเห็นใจและเข้าร่วมกับพวกเหมาอิสต์ ปฏิเสธอำนาจการปกครองทั้งระบอบ และในที่สุดพวกเหมาอิสต์ก็ได้รับชัยชนะ ระบอบการปกครองของเนปาลจึงล่มสลายลง
บทเรียนเหล่านั้นควรนำมาคิดพิจารณาว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นไปถึงขั้นไหนแล้ว และจะป้องกันแก้ไขอย่างไร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี