ลุ่มทะเลสาบสงขลามีอาณาบริเวณคาบเกี่ยวกับพื้นที่สามจังหวัด คือ สงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุง เป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น มี สส. รวมกันเกือบๆ ครึ่งหนึ่งของภาคใต้ พรรคใดครองใจ
ชาวลุ่มทะเลสาบสงขลาได้ก็เท่ากับครองเสียง สส.ภาคใต้จำนวนมาก
ลุ่มทะเลสาบสงขลามีลักษณะพิเศษคือนอกจากจะเป็นทะเลสาบใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 ของโลกแล้ว ยังมีพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่สามทะเลคือมีทะเลติดต่อกันถึงสามทะเล ได้แก่ ทะเลสาบสงขลาทะเลน้อย และทะเลหลวงหรืออ่าวไทย
พื้นที่ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบที่มีลักษณะพิเศษสุดของโลก เป็นทะเลที่มีสามน้ำ คือตั้งแต่ปากอ่าวสงขลาเข้ามาถึงปากรอเป็นพื้นที่น้ำเค็มจากปากรอมาถึงเกาะสี่ เกาะห้า เกาะใหญ่ เป็นพื้นที่น้ำกร่อย และจากเกาะใหญ่ไปทางฟากอำเภอระโนดและจังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่น้ำจืด โดยปลายทางของทะเลสาบสงขลาที่อำเภอระโนดนั้นมีคลองกว้างยาวไปออกทะเลหลวงหรืออ่าวไทย
ส่วนทะเลน้อยนั้นเป็นทะเลน้ำจืด ที่เป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของลุ่มทะเลสาบสงขลา มีปลามากมายหลายชนิด ชนิดหนึ่งคล้ายกับปลาไข่ของญี่ปุ่นคือมีไข่ปลาเต็มท้อง รสชาติอร่อยเป็นพิเศษ เรียกว่าปลาลูกขาว
ในยามเทศกาลหน้าฝนมีน้ำจืดมากหลั่งไหลมาจากภูเขาและพื้นที่นครศรีธรรมราชและพัทลุง ปริมาณน้ำจืดที่มากนั้นก็จะดันพื้นที่น้ำกร่อยไปขับน้ำเค็มออกไปทางปากอ่าวสงขลาทางหนึ่ง และดันน้ำจากคลองระโนดไปออกทะเลหลวงที่เรียกว่าเป็นปากระวะอีกทางหนึ่ง ซึ่งตรงจุดนี้จะมีทรายปิดกั้นปากทางไว้ เมื่อน้ำจืดดันออกไปเขื่อนทรายธรรมชาติก็จะทะลุทะลวงออกทะเลหลวงเป็นการชะลอคลองระโนดได้อีกทางหนึ่ง
พอพ้นหน้าฝน 4-5 เดือนก็จะเป็นเทศกาลลมนอก น้ำทะเลหลวงที่เป็นน้ำเค็มก็จะไหลบ่าเข้ามาทางปากอ่าวสงขลา ก็จะดันน้ำกร่อยและน้ำจืดให้กลับคืนสู่พื้นที่เดิม ในขณะที่ปากระวะที่ระโนดก็จะถูกน้ำพัดพาทรายมาปิดกั้นปากคลองที่ปากระวะนั้น กลายเป็นฝายธรรมชาติกั้นน้ำเค็มไว้ไม่ให้ไหลเข้ามาในคลองระโนดที่เป็นธรรมชาติที่เป็นมาแต่โบราณ
พื้นที่อำเภอระโนดเป็นพื้นที่ทุ่งราบที่อุดมสมบูรณ์และปลูกข้าวได้อย่างเต็มที่ เป็นพื้นที่กว้างขวางในอดีตมีโรงสีในอำเภอระโนดกว่า 200 โรง จึงรองรับผลผลิตข้าวในแต่ละปี และข้าวที่สีได้ก็จะส่งไปขายทั่วทั้งจังหวัดสงขลา รวมทั้งยะลา ปัตตานี นราธิวาส และส่งข้ามแดนไปยังมาเลเซียด้วย
ดังนั้นพื้นที่อำเภอระโนดจึงอุดมสมบูรณ์มาก ชาวนาแม้ปลูกข้าวปีละครั้งก็อยู่ดีมีสุข พอกินพอใช้
ต่อมาทางราชการก็มีน้ำใจดี อยากจะเพิ่มรายได้ให้ชาวนาอำเภอระโนด จึงตั้งโครงการชลประทานขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้ปลูกข้าวได้ปีละ 2-3 หน ดังนั้นในการปลูกข้าวหนที่ 2 และหนที่ 3 จึงไม่มีน้ำฝนตามธรรมชาติดังที่เคยเป็นมา แต่ด้วยความปรารถนาดีต่อราษฎรจึงให้ระบบชลประทานสูบน้ำจืดจากทะเลสาบสงขลาตลอดแนวฝั่งอำเภอระโนดผ่านคลองชลประทานเพื่อไปบำรุงเลี้ยงนาข้าว ซึ่งใน 2-3 ปีแรกก็ได้ผลดีมากเพาะปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง 3 ครั้ง ชาวนาก็มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นที่ชื่นชมยินดีโดยถ้วนหน้ากัน
มีแต่เสียงทักท้วงคัดค้านของผู้เฒ่าผู้แก่ว่าการทำเช่นนั้นเป็นการดัดแปลงธรรมชาติ จะประสบกับความทุกข์ยากและความลำบากในภายหลังแน่นอน แต่ก็หามีใครเชื่อฟังคนเฒ่าคนแก่ไม่ ปรากฏว่าพอล่วงเข้าปีที่ 3 น้ำที่สูบจากทะเลสาบสงขลาไปบำรุงเลี้ยงนาข้าวกลายเป็นน้ำกร่อยมากและเป็นน้ำเค็มด้วย ข้าวในนาฉิบหายป่นปี้ย่อยยับตามๆ กัน
ความจริงธรรมชาติก็ได้ส่งสัญญาณเตือนตั้งแต่ปีแรกแล้ว คือเมื่อสูบน้ำจืดขึ้นไปทำนาข้าว ปริมาณน้ำจืดในทะเลสาบฝั่งระโนดและอำเภอพัทลุงก็ลดน้อยลงน้ำกร่อยกลางทะเลสาบก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่น้ำเค็มจากปากอ่าวสงขลาก็รุกไล่ตามน้ำกร่อยมา ปีแรกก็เห็นไม่ชัดเพราะฤดูฝนมาถึงเสียก่อน
ครั้นพอปีที่สองก็คล้ายกับปีแรก คือมีสัญญาณเตือนให้เห็นแล้วว่าน้ำกร่อยได้รุกคืบเข้ามาใกล้เคียงกับแดนอำเภอระโนดและจังหวัดพัทลุงเพราะถูกน้ำเค็มดันหลังมา อันเป็นเหตุผลมาจากการที่น้ำจืดจากฝั่งทะเลสาบด้านอำเภอระโนดและจังหวัดพัทลุงถูกสูบเข้าไปทำนา แต่เพียงแค่น้ำกร่อยมาถึงฤดูฝนก็มาจึงยังไม่ได้รับผลเสียหาย
เพราะสภาพน้ำเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ พอย่างเข้าปีที่สามน้ำกร่อยซึ่งมาจ่ออยู่ที่ใกล้อำเภอระโนดแล้วโดยมีน้ำเค็มดันหลังมา ทำให้ปริมาณน้ำจืดมีน้อยกว่า2 ปีแรก ครั้นสูบน้ำจืดไปบำรุงเลี้ยงนาข้าวได้ไม่ทันไรน้ำกร่อยก็มาถึง เพราะน้ำเค็มดันหลังตามมาอีก จึงเป็นการสูบน้ำกร่อยตามด้วยน้ำเค็มไปหล่อเลี้ยงนาข้าว ข้าวกล้าจึงเสียหายวายวอดทั้งหมด
พอรุ่งขึ้นปีที่สี่น้ำกร่อยก็มาอยู่ฝั่งอำเภอระโนดและจังหวัดพัทลุงแล้วก็ยังไม่สนใจ สูบน้ำกร่อยไปบำรุงนาข้าวไม่ทันไรน้ำเค็มก็มาแทนที่ แล้วสูบน้ำเค็มเข้านาข้าว จึงเสียหายวายวอดหมดเกลี้ยง
เพราะเหตุที่น้ำเค็มมีเกลืออยู่มาก เมื่อสูบไปเลี้ยงนาข้าว ความเค็มนั้นก็ฝังอยู่ในดินปลูกข้าวไม่ได้อีก ตั้งแต่นั้นมาก็มีปัญหาการปลูกข้าวไม่ได้ โรงสีกว่า 200 โรงก็หายไปเกือบหมดสิ้น
เวลาผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้วที่ไม่ได้ใช้น้ำในทะเลสาบสูบเข้านาข้าว ดังนั้น ธรรมชาติจึงค่อยๆ ฟื้นคืนมา แต่กว่าธรรมชาติจะฟื้นชาวนาระโนดก็หมดอาชีพ กลายเป็นคนยากจนข้นแค้น ต้องอพยพกันจ้าละหวั่น
นี่คือบทเรียนของความปรารถนาดี แต่ขาดความรู้และความสังเกตความเป็นไปแห่งชาติ จึงเกิดหายนะครั้งใหญ่ให้แก่ชาวลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งควรต้องถือเป็นบทเรียนอันล้ำค่า อย่าให้เสียหาย
ซ้ำอีก
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี