ทางออกกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะเดินต่ออย่างไร?
นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สุดท้ายจะถูกบันทึกว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหานี้ ตามมาตรา 44 หรือไม่?
1. รายงานข่าวระบุว่า ผู้ว่าฯ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ตอบกลับความคิดเห็นเรื่องการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปยังกระทรวงมหาดไทยแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (4 พ.ย. 2565)
โดย กทม. เสนอความคิดเห็นไป 2 แนวทางประกอบด้วย
(1) ให้รัฐบาลรับผิดชอบ ในเรื่องงานโยธาโครงสร้างพื้นฐานของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ขออุดหนุนค่าใช้จ่ายโครงสร้างงานโยธา ของส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) ราวๆ 5.5 หมื่นล้านบาท
(2) ขอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องการขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ไม่ควรมีการต่อสัมปทาน โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 3/2562) โดยให้เปิดประมูล ผ่าน พ.ร.บ.เอกชนร่วมทุน หรือ PPP (พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562) หลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572
2. น่าเวทนา... ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แก้ปัญหาเหมือนเด็กเล่นขายของ พายเรือวนในอ่าง
ยิ่งจะทำให้ปัญหาติดหล่ม ความเสียหายบานปลายไปเรื่อยๆ
การขอเงินรัฐบาลราวๆ 5.5 หมื่นล้านบาท มาใช้หนี้งานโยธานั้น ถ้าหากรัฐบาลพร้อมจะจ่ายหนี้ 5.5 หมื่นล้านบาทเอง คงจะไม่ต้องมาเสียเวลาอะไรแบบนี้ นายกฯ พลเอกประยุทธ์จะโง่ถึงขนาดคิดไม่ได้ว่าเอาเงินภาษีคนไทยทั้งประเทศมาจ่ายหนี้งานโยธาก็เรียบร้อย อย่างนั้นหรือ?
คำตอบ คือ มันไม่จบเท่านั้น
แล้วเงินค่าเดินรถ ค่าวางระบบ ที่จะต้องจ่ายเอกชน จะเอาเงินมาจากไหน?
ถึงวันนี้ นายชัชชาติยังไม่กล้าตัดสินใจเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายเลยทั้งๆ ที่ เป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม.โดยตรง
แล้วยังเสนอหน้าไปแนะนำให้รอจนสิ้นสุดสัญญาปี 2572 ถามว่า ระหว่างนี้ จะเอาเงินที่ไหนจ่ายค่าเดินรถ ค่าวางระบบ ทั้งหนี้เก่า และหนี้ใหม่ ?
ทั้งนี้ ศาลปกครองพิพากษาไปแล้วด้วยว่า ให้ กทม.ร่วมจ่ายค่าเดินรถ 1.2 หมื่นล้านบาท (ยังไม่รวมดอกเบี้ย) ทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2
โดยชี้ชัดว่า สัญญาเดินรถมีสภาพบังคับ ภาระหนี้มีอยู่จริง และครบกำหนดชำระนี้แล้วจริงๆ ไม่สามารถอ้างว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการตามมาตรา 44
3. ก่อนหน้านี้ สภากทม.เสนอให้ถอนญัตติของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว
โดยให้เหตุผลว่า การพิจารณาจัดเก็บค่าโดยสาร เป็นอำนาจการตัดสินใจของผู้ว่าฯกทม.
ส่วนการพิจารณาอนาคตรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นไปตามคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 ไม่ใช่อำนาจการพิจารณาของสภากทม.
นี่นายชัชชาติยังไม่สำเหนียกหรือ อุตส่าห์อวดเก่ง ไปเสนอแนะก้าวก่ายในเรื่องไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตัวเองอีก
4. นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา มท.1 ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่และต้องรับผิดชอบตามคำสั่ง ม.44 ที่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย จะต้องทำอย่างไร?
อยากให้ย้อนกลับไปอ่านข้อเสนอแนะของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรีที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีป้ายแดงหมาดๆ เคยให้คำแนะนำไว้ชัดเจน
ว่าด้วยเรื่อง “รถไฟฟ้าสายสีเขียว #ทางออกของครม.” ระบุว่า
“...ปกติการพิจารณาวาระต่าง ๆ ที่ต้องขอมติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นประเพณีมาตลอดประวัติศาสตร์ของไทย ก็คือการซาวเสียงโดยไม่ต้องยกมือลงมติกัน
เพราะเรื่องที่เสนอมานั้น ล้วนเป็นเรื่องที่กว่าจะเข้าสู่การประชุม ครม. ได้จะต้องมีการถามความเห็นจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในกระทรวงเดียวกัน หรือหน่วยงานจากต่างกระทรวง ทั้งนี้ รวมทั้งหน่วยงานที่เป็นกลาง เช่น สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น
การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จึงมักจะไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรง เพราะ #ทุกคนเป็นผู้ใหญ่ของประเทศย่อมไม่มีมิจฉาทิฏฐิ และ #ไม่ควรมีมานะทิฏฐิ ทำใจเป็นกลางๆ หวังผลประโยชน์สุขของประชาชนเป็นใหญ่ จึงย่อมฟังเหตุผลของกันและกันอย่างที่กัลยาณมิตรพึงกระทำกัน
อาจมีการซักถามรายละเอียดกันบ้าง เพื่อให้ทุกอย่างมีความเข้าใจตรงกันที่สมบูรณ์ เพราะเมื่อมีมติเช่นใดออกไป ทุกคนที่เป็นรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมกัน
วาระเพื่อการพิจารณา จึงมักจะผ่านมติ ครม.ไปได้โดยเรียบร้อยดีมาโดยตลอดของประวัติศาสตร์ ครม. ไทย
แต่ทั้งนี้ ก็มิได้หมายความว่าไม่เคยมีมติ ครม. ที่เกิดจากความขัดแย้งทางความคิดจนถึงขั้นที่ต้องยกมือลงมติกันเลยทีเดียว ยกตัวอย่าง เช่น
เมื่อสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระหว่าง พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับนายสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเรื่องการขึ้นภาษีการผลิตเหล้า
เมื่อการโต้เถียงกันของทั้งสองฝ่ายดูแล้วไม่มีทางที่จะรอมชอมกันได้เลยพลเอกเปรม ผู้เป็นประธานที่ประชุมเลยพูดขึ้นว่า “สิ่งที่ผมจะทำดังต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคิดจะทำมาก่อนเลย และขอให้เป็นการกระทำครั้งสุดท้าย ไม่อยากให้เป็นเช่นนี้อีก กล่าวคือ ผมจะขอมติจากที่ประชุมให้ทุกคนใช้วิธียกมือว่าใครเห็นด้วยกับท่านชาติชาย และใครเห็นด้วยกับท่านสมหมายขอให้ทุกคนอย่ายกมือด้วยการเกรงใจผู้ใด ขอให้ใช้จิตสำนึกพิจารณาเพื่อผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก หลังลงมติแล้วขอให้ทุกคนรักกันเหมือนเดิม ขอให้ทุกคนทำงานร่วมกันด้วยความสนุกสนาน บ้านเมืองก็จะเดินหน้าไปได้ดี”
หลังจากการใช้วิธียกมือลงมติกัน ผลปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับคุณสมหมาย มติ ครม.ในเรื่องนั้นจึงออกตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง
แต่ผมยังรู้สึกนับถือสปิริตประชาธิปไตยของพลเอกชาติชาย หัวหน้าพรรคชาติไทยในขณะนั้น ที่ยอมรับมติเสียงส่วนใหญ่ด้วยหน้าตายิ้มแย้ม และหัวเราะอย่างน่ารักมากพร้อมยกมือแสดงสัญลักษณ์ว่า “OK” และพรรคชาติไทยของท่าน (ทั้งรมต. และ สส.) ก็ไม่เคยสร้างปัญหาให้กับเสถียรภาพของรัฐบาลเพราะเหตุของเรื่องนี้แต่ประการใด
#สรุป เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีข้อขัดแย้งกันในด้านเหตุและผล หวังว่าจะจบลงด้วยดีตาม “ประเพณีการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี” ดังที่ผมอธิบายข้างต้น
(หากไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์อย่างอื่นที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวเหนือกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งผมเชื่อว่าคงจะไม่มี)แต่ถ้าด้วยเหตุด้วยผลแล้วยังตกลงกันไม่ได้ อย่าให้เรื่องเรื้อรัง ชาติและประชาชนจะเสียหาย ครม. อย่าทำตัวเหมือน สภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน.....”
นายกฯ พลเอกประยุทธ์ต้องแสดงภาวะผู้นำในการตัดสินใจแก้ปัญหา
มิใช่นั่งทับปัญหาไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นตราบาปติดตัวตลอดไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี