ด้วยปฏิทินที่ผันเปลี่ยนเข้าสู่เดือนมีนาคมอย่างเต็มรูปแบบ ช่วงปลายสุดท้ายของรัฐบาลในยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะครบวาระในการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 มีนาคมนี้ และเมื่อถึงปลายสมัยรัฐบาลเช่นนี้ ก็ยังคงมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการยุบสภาฯ ทั้งๆ ที่ไทม์ไลน์เลือกตั้งที่หลายฝ่ายต่างประโคมข่าวกันว่ามีการปักหมุดไว้เป็นวันที่ 7 พฤษภาคม เรียบร้อยแล้วหรือไม่?
ซึ่งแม้จะมีการคาดคะเนวันเลือกตั้งที่ค่อนข้างชัดแล้ว แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจเป็นตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใดก็ตามของการแข่งขันในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาก่อนวันหมดสมัยที่อาจทำให้เกิดการย้ายพรรคได้จนถึงวันนั้น หรือ การยุบพรรคการเมืองที่ตอนนี้ก็เริ่มจะมีข่าวซึ่งเมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อนก็ได้เกิดเหตุการณ์ยุบพรรคหลังวันรับสมัครแต่ก่อนวันเลือกตั้งมาแล้ว และอีกปัจจัยสำคัญคือการกำหนดแคนดิเดตนายกฯของขั้วอำนาจใหญ่ที่อาจส่งผลต่อการแข่งขัน
และเมื่อย่างกรายเข้าสู่เดือนสุดท้ายของวาระรัฐบาลเช่นนี้แต่น่าแปลกที่ตอนนี้ในแต่ละพรรคยังไม่สามารถเปิดตัวผู้สมัครในทุกพื้นที่ได้ เหมือนจะเป็นความไม่ลงตัวแบบพร้อมกันทุกพรรคในรอบนี้ ที่ตลาดสส.ค่อนข้างดุเดือดและยังไม่ลงตัวมากที่สุดรอบหนึ่งเลย?
โดยเฉพาะสำหรับพรรคการเมืองที่แนวร่วมซึ่งเคยได้ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมาแต่ต้นทาง เริ่มที่จะลดน้อยถอยลงไปอย่างในรายของพรรคเพื่อไทย ที่มีแนวร่วมสำคัญอย่างคนเสื้อแดงหรือนปช.แต่ล่าสุดอดีตแนวร่วมบางท่านตัดสินใจเก็บหมอนทิ้งเสื่อเพื่อย้ายสังกัดไปยังขั้วการเมืองต่างสังกัดแบบข้ามขั้ว อย่างกรณี นายเสกสกลหรือแรมโบ้ อีสาน อดีตแกนนนำนปช. ที่แม้จะบอกว่าย้ายออกไปนานแล้วเพื่อมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ แต่สุดท้ายเมื่อได้ตัดสินใจช่วยพลเอกประยุทธ์ออกศึกอีกครั้งในฐานะรวมไทยสร้างชาติ ก็ได้งัดไม่เด็ดดึงอดีตแนวร่วมนปช. มาเข้าร่วม โดยล่าสุดพรรครวมไทยสร้างชาติก็ได้มีการเปิดบ้านต้อนรับอดีต 2 แกนนำเสื้อแดง อย่างนายสมหวังอัสราษี และเจ๋ง ดอกจิก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรค ยังไม่นับรวมถึงอดีตสมาชิกที่ย้ายสังกัดไปยังพรรคการเมืองด้วยหรือไม่และจะทำให้ความเข้มแข็งที่บอกว่าแดงเหนียวแน่นในภาคอีสานไหลตามหรือไม่?
แล้วพรรคเพื่อไทยจะแก้เกมหรือมีไม้เด็ดที่จะดึงคะแนนเสื้อแดงกลับคืนได้อย่างไร?
ซึ่งแม้จะสูญเสียกำลังพลไปบ้าง แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังคงเดินหน้าต่อ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยที่มีการขยับโดยการยกทัพขึ้นภาคเหนือ ในงานเปิดเวทีปราศรัยของพรรคเพื่อไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าบริเวณภาคเหนือนั้น เป็นหนึ่งในฐานที่มั่นที่สำคัญและแข็งแกร่งที่สุดสำหรับ พรรคเพื่อไทยมาอย่างช้านาน โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่เป็นบ้านเกิดของคนตระกูลชินวัตร การปรากฏตัวของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยของแพรทองธาร ชินวัตร จึงปลุกกระแสความนิยมในพื้นที่ขึ้นมาได้มากกว่าเดิม
เอาเข้าจริงในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้เอง พรรคเพื่อไทยก็ดูจะยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนนัก ว่าในท้ายที่สุดนั้นใครจะเป็นแคนดิเดตเบอร์หนึ่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทยกันแน่ เพราะก่อนหน้านี้แม้พรรคจะมีทั้งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอย่างหมอชลน่านแล้ว ก็ยังปรากฏชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน เข้ามาร่วมวงเป็นหนึ่งในเบอร์หนึ่งของพรรคเพื่อไทยอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงระยะหลังเมื่อไม่นานมานี้ ก็ปรากฏข่าวว่า มีอดีตรัฐมนตรีชื่อ ส. ตัวใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกระแสข่าวว่า ส. ตัวใหญ่นั้นอาจเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยที่แท้จริง ซึ่งสื่อหลายสำนักก็ต่างคาดการณ์ไปที่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ว่ามีโอกาสหรือไม่?
แต่อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดเหมือนว่าการคาดเดาเบอร์หนึ่งของพรรคเพื่อไทยดูจะเป็นเพียงสีสันทางการเมืองเพียงเท่านั้น เมื่อใกล้เวลามากขึ้นความกระจ่างก็ปรากฏ?
เมื่อเปรียบเทียบลักษณะการให้สัมภาษณ์ ของแพทองธารหากย้อนไปสามเดือนในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการเปิดตัวพร้อมทั้งให้สัมภาษณ์ออกไปในเชิงของการเข้ามามีส่วนร่วม และเพื่อซัพพอร์ตการทำงานของเพื่อไทยมากกว่า มาเทียบกับการให้สัมภาษณ์และลักษณะในการเดินเกมของพรรคเพื่อไทยในตอนนี้ก็จะทำให้เห็นว่าแคนดิเดตนายกฯ ตัวหลอกของพรรคเพื่อไทย ก็เริ่มที่จะจางและค่อยๆ หายไปจากหน้าสื่อ
ภาพดังกล่าวถูกทดแทนด้วยการวางภาพลักษณ์และกระแสที่ร้อนแรงของแพทองธารที่ดีเกินคาด และจากการให้สัมภาษณ์ ในครั้งหลังๆ และทั้งจากแบบสำรวจของสำนักต่างๆ รวมถึงการกำหนดให้ป้ายหาเสียงตามสถานที่ต่างๆ ที่ล้วนบ่งชี้ในทิศทางเดียวกันว่า แพทองธารในตอนนี้ถูกวางตัวให้เป็นเบอร์หนึ่งของพรรคเพื่อไทย?
ชัดเจนแล้วหรือไม่?
อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่ากระแสของพรรคเพื่อไทยที่ดีขึ้น จนอาจเรียกได้ว่า แทบจะขึ้นสู่จุดสูงที่สุดในรอบระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้ อาจเป็นผลบวกมาจากการที่ บุตรสาวพ่อใหญ่สีแดง เข้ามารับบทเป็นผู้นำครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งแม้จะเป็นการลงทุนและเดิมพันที่สูงมาก แต่ก็อาจบอกได้ว่าได้กระแสแรงที่คุ้มค่า อย่างไรก็ตามก็ต้องบอกว่าอาจมีราคาที่ต้องจ่ายอยู่ไม่น้อยหรือไม่?
เพราะเมื่อนายใหญ่ของพรรคเพื่อไทยได้ทิ้งไพ่เด็ดที่สุดในมือลงมาแล้วในรอบนี้เลย หากผลสุดท้ายที่ออกมานั้น ไม่เป็นดังที่หวังเอาไว้ ในระยะยาวนั้นก็เห็นจะเป็นการยากที่จะผงาดกลับขึ้นมาในการเลือกตั้งครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้น
แต่อย่างไรเสียเมื่อเป้าหมายสูงสุดของพรรคเพื่อไทยต่างมองไปที่การแลนด์สไลด์ ก็คงมีทางเลือกไม่มากนัก และการส่งแพทองธารลงมาเล่นเกมนี้ด้วยตัวเองก็ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่มี ซึ่งก็มีโอกาสไม่น้อยที่แพทองธารจะสามารถพาพรรคเพื่อไทยให้เข้าใกล้คำว่าแลนด์สไลด์ได้มากกว่าแคนดิเดตคนอื่นของพรรคที่มีชื่อมาก่อนหน้านี้ แต่จะมากพอที่จะส่งให้ตนเองสามารถนั่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้จริงๆ หรือไม่นั้น ก็คงขึ้นอยู่กับความเห็นและการทำงานของสมาชิกวุฒิสภาฯ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทางการเมืองด้วยหรือไม่?
ซึ่งหากจะกล่าวถึงหนึ่งในพรรคการเมืองที่มีโอกาสจับมือกับพรรคเพื่อไทย คงหนีไม่พ้นพรรคร่วมขั้ว ร่วมรั้วฝ่ายค้านในเวลานี้ อย่างในรายของพรรคก้าวไกลที่ก็น่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น แม้ก่อนหน้านี้จะเกิดกระแส “โปลิตบูโร” จากการที่นายคริส โปตระนันทน์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่และแกนนำมูลนิธิเส้นด้าย ได้ทิ้งทวนวิจารณ์การทำงานภายในของพรรคก้าวไกล ก่อนที่จะหอบทีมงาน สก. ของพรรคออกไปก่อร่างสร้างสังกัดพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อว่า พรรคทำได้ ซึ่งก็น่าจะกระทบต่อชื่อเสียงของพรรคไม่ใช่น้อย
แต่อย่าลืมว่าจุดขายของพรรคก้าวไกลนั้น คือเรื่องของอุดมการณ์ที่แรงกล้าและเมื่อพรรคการเมืองที่พร้อมฟันฝ่าทุกอุปสรรคเพื่ออุดมการณ์ที่อ้างถึง แต่กลับมีกระแสการจัดการภายในที่ดูจะผิดแปลกไปจากสิ่งที่สังคมคาดคิด ซึ่งก็ท้าทายฝีมือการควบคุมหรือจัดการของคณะผู้บริหารพรรค เพราะแน่นอนว่าหากควบคุมจัดการไม่ได้ จะไม่ได้ส่งผลแค่คะแนนเสียงแต่ยังส่งผลต่อพรรคพันธมิตรต่างๆ ในอนาคตที่คาดหวังการจับมือแบบไปด้วยกันไม่ใช่แบบตัวใครตัวมัน ใช่หรือไม่?
นี่ยังไม่นับปมประเด็นส้มเก่า ส้มใหม่ ที่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมากระแสนิยมของพรรคก้าวไกลเติบโตมาได้ก็ด้วยกระแสความนิยมของแกนนำหลักพรรคอนาคตใหม่ในอดีตโดยเฉพาะแกนนำหลักสามคน แต่เมื่อในพักหลังที่ได้แบ่งบทบาทคณะก้าวหน้าแยกออกมายิ่งกลับทำให้ดูทิศทางในบางครั้งไม่สอดคล้องกันด้วยหรือไม่ อย่างล่าสุดกรณีข่าวหัวหน้าพรรคก้าวไกลกับอาจารย์ปิยบุตร ที่แม้สุดท้ายจะบอกว่าจบลงด้วยดีแต่ถ้ามีแบบนี้บ่อยๆ อาจบั่นทอนบรรดาแฟนคลับส้มเก่าให้ต้องลังเลได้หรือไม่?
จริงอยู่ที่สถานการณ์ในตอนนี้ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จะอยู่ในพรรคของชายคาฝ่ายค้านเช่นเดียวกัน จึงดูแล้วก็คงมีโอกาสไม่น้อยที่จะร่วมงานกันในสมัยการจัดรัฐบาลในครั้งถัดไป แต่เอาเข้าจริงแม้จะมีโอกาสอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่ง่ายนัก เมื่อพรรคการเมืองทั้งสองพรรคก็ต่างมีฐาน
คะแนนเสียงที่มีฐานคะแนนเสียงคล้ายกัน หรือทับซ้อนกัน เอาง่ายๆ ว่าในหลายเขตที่พรรคอนาคตใหม่ได้มาจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็ยังถูกมองว่าได้มากเพราะพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบในเขตที่เพื่อไทยไม่ส่งลง ดังนั้นเอาเข้าจริงๆ การแข่งขันของเพื่อไทยกับก้าวไกลในรอบนี้อาจถือว่ามีพื้นที่แข่งขันทับซ้อนมากกว่าพรรคขั้วตรงข้ามด้วยซ้ำ ก็ย่อมต้องฟาดฟันกันในสนามการประลองเสียก่อน
อีกทั้งหากว่ากันตามลักษณะการเดินเกมของพรรคการเมืองทั้งสองแล้ว ว่ากันตามตรงทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยก็ดูจะไม่ได้วิ่งบนลู่วิ่งเดียวกันสักเท่าไหร่นักไปจนถึงโอกาสและมุมมองที่มีต่อ 3 ป.?
หนึ่งในกระแสข่าวที่ถูกโหมประโคมอย่างหนักในช่วงหลัง คงหนีไม่พ้นในเรื่องของดีลลับจับมือข้ามขั้วระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำทัพของพลเอกประวิตร จึงไม่แปลกที่หนึ่งในสิ่งที่บรรดาแฟนคลับของพรรคเพื่อไทยกังวลมากที่สุดคือ หากลงคะแนนเสียงให้กับพรรคเพื่อไทยจนนำไปสู่การแลนด์สไลด์ได้สำเร็จ แต่ในท้ายที่สุดแพทองธารหรือคนจากพรรคเพื่อไทยกลับไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีดั่งที่หวังเอาไว้ หรือไม่?
อาจเพราะหากย้อนกลับไปเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 แม้ผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้น พรรคเพื่อไทยจะมาวินได้คะแนนเป็นที่ 1 แต่กลับไม่สามารถผลักดันแคนดิเดตนายกฯจากสังกัดพรรคของตนเองเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ จนโอกาสนั้นหลุดลอยไปเข้าทางของนายธนาธร ในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในเวลานั้น ก่อนที่ในท้ายที่สุดพลเอกประยุทธ์จะสามารถเข้าเส้นชัยเป็นผู้นำได้ในที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้นหากกระแสข่าวการจับมือระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐอย่างที่เป็นกระแสข่าว ก็ยิ่งจะเป็นการส่งผลให้ในท้ายที่สุดพลเอกประวิตรอาจได้รับโอกาส ในการเสนอชื่อและจบลงด้วย นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประวิตรก็เป็นได้หรือไม่? โดยเฉพาะเมื่อกระแสข่าวการจับมือข้ามขั้วดันไปสอดคล้องกับ สโลแกน การก้าวข้ามความขัดแย้งของพรรคพลังประชารัฐ ก็ยิ่งน่าติดตามว่าท้ายที่สุดแล้วเรื่องราวทั้งหมดจะจบลงไปในทิศทางใดกันแน่? หรือกระแสข่าวที่เกิดขึ้นเป็นการปั่นขึ้นมาเพื่อดิสเครดิต เพื่อหวังผลต่อฐานคะแนนเสียงเพียงเท่านั้นหรือไม่?
ซึ่งนี้นับเป็นโจทย์ยาก ของพรรคเพื่อไทย เพราะนอกจากต้องแลนด์สไลด์แล้ว ก็ต้องประสานกลุ่มร่วมต่างๆ ซึ่งสุดท้ายความได้เปรียบสูงสุดอาจไม่ได้เกิดกับพรรคที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งหากไม่ชนะขาดเพียงพรรคเดียว และความยากนี้ก็ถูกจับจ้องกลายเป็นจุดอ่อนให้คู่แข่งขันไม่ว่าฝ่ายใดนำมาเป็นเครื่องมือในการโจมตีได้
ซึ่งหมอชลน่านในฐานะหัวหน้าพรรค ก็ได้ประเดิมตอบคำถามนักข่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันเมื่อนักข่าวหันไมโครโฟนไปให้แพทองธาร คำตอบที่ออกมากลับไม่ได้ตอบแบบมั่นอกมั่นใจว่าต้องเป็นคนของพรรคเพื่อไทย เพียงแค่กล่าวว่า ต้องเป็นคนมีคุณภาพเพียงเท่านั้น ซึ่งแม้จะเป็นคำตอบที่ชัดเจน แต่ก็ดูจะยังไม่กระจ่างมากนัก?
“เรื่องราวของชั่วชีวิตหนึ่ง คล้ายเป็นความฝันอย่างยิ่งจริงหรือเท็จ
ความจริงมีน้อยคนนัก จะสามารถแยกแยะได้แน่ชัด”
โกวเล้ง จาก เหยี่ยวเดือนเก้า
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี