ขณะเขียนบทความนี้ ยังไม่ปรากฏผลการเลือกตั้ง
แต่เชื่อแน่ว่า จะไม่มีพรรคใดพรรคเดียวได้คะแนนเกิน 376 เสียง (เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา) ที่จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี
เลือกตั้งเสร็จ สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้มีอะไรบ้าง?
1. เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เสนอชื่อในบัญชีนายกฯของพรรคเพื่อไทย จะมีพรรคใดสนับสนุนบ้าง?
จุดยืนของพรรคเพื่อไทย ยืนยันไว้ชัดเจนว่า นายกฯจะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย คือ แพทองธาร เศรษฐา หรือชัยเกษม เท่านั้น!
แพรทองธารประกาศไว้ชัดเจน ไม่จับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ
พรรคใดจะโหวตให้นายกฯของพรรคเพื่อไทย?
เมื่อนโยบายหลัก คือ การเอาเงินแผ่นดิน 5.5 แสนล้านบาทมาแจกหัวละหมื่นเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล (คนรวยได้ด้วย)
การปราศรัยเวทีปิดท้ายของพรรคเพื่อไทย ก็เห็นได้ชัดถึงความผูกโยงกับทักษิณกลับบ้านอ้างว่าจะปรึกษาการบริหารประเทศ ทั้งๆ ที่ทักษิณคือคนโกงหนีคดีทุจริตประพฤติมิชอบ
ไม่มีใครเชื่อว่า ทักษิณจะกลับมาติดคุก 10 ปี ตามคำพิพากษาที่ติดตัวอยู่ โดยไม่มีการอาศัยอำนาจรัฐเอื้อประโยชน์บางประการ
2. พรรคก้าวไกล พร้อมจับมือกับพรรคเพื่อไทยแน่นอน
แต่นโยบายของก้าวไกลที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ทำลายระบบนิติรัฐนิติธรรม คือ แก้ไขมาตรา 112 และนิรโทษกรรมคดีการเมือง (รวมคดี ม.112) ซึ่งก็คือคดีของแกนนำม็อบที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลโดยออกมาป่วนเมือง ด่าในหลวง จาบจ้วงสถาบันอยู่ก่อนหน้านี้นั่นเอง
ให้ท้ายม็อบด่าในหลวง แล้วก็จะอาศัยอำนาจรัฐล้างผิดให้กับพวกด่าในหลวง พร้อมๆ กับแก้ไขมาตรา 112
3. จำนวนเสียง สส. ของพรรคเพื่อไทย และก้าวไกล รวมกัน จะถึง 376 เสียงหรือไม่?
ถ้าถึง 376 เสียง คนเป็นนายกรัฐมนตรีก็อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย
4. แต่ถ้าเพื่อไทยกับก้าวไกล รวมไม่ถึง 376 เสียง
จะมีเสียงของ สส.และ สว.มาสนับสนุนจนครบ 376 เสียงหรือไม่?
เห็นได้ว่า พรรคการเมืองที่จะมีเสียง สส.มากพอ ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า ล้วนแต่ไม่มีนโยบายสอดคล้องกับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล
ตรงกันข้าม หลายเรื่องจุดยืนอยู่คนละขั้วชัดเจน
เพราะฉะนั้น ยากที่พรรคการเมืองเหล่านี้จะตระบัดสัตย์ ทรยศประชาชนผู้ลงคะแนนให้ตนเองข้ามมายกมือหนุนนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยเพราะพรรคเพื่อไทยยืนยันแล้วว่า นายกฯต้องมาจากพรรคเพื่อไทย และ “ไม่แบ่งกระทรวงดีๆ ให้แม่...ง”
ส่วน สว.ยิ่งเป็นไปได้ยาก เพราะ สว.ต้องคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์โลก
แต่ปรากฏว่า นโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ล้วนสร้างความเสี่ยงรุนแรง ทั้งแจกเงินแผ่นดิน 5.5 แสนล้าน ซึ่งอาจจะต้องกู้เพิ่มแน่นอน ทั้งแก้กฎหมายในหมวดความมั่นคง นิรโทษกรรมคดี 112 ทั้งยกเลิกเกณฑ์ทหาร อีกทั้งยังมีข้อครหาว่าจะรื้อคดีโกงทักษิณ ฯลฯ
5. เมื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาไม่ถึง 376 เสียง
พรรคที่มีคะแนนเสียง สส.ลำดับถัดไป ก็ต้องจัดตั้งรัฐบาล
แต่ก็จะต้องได้คะแนนเสียงเกิน 376 เสียงในรัฐสภา
และต้องได้คะแนนจาก สส.เกิน 250 เสียง เพื่อให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยปกติ
6. พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า ย่อมมีโอกาสสูงที่จะเจรจารอมชอมนโยบายการทำงานร่วมกัน
เพราะไม่มีนโยบายหลักเรื่องใดที่ขัดแย้งกันถึงขนาดไม่สามารถร่วมงานกันได้เลย
ไม่มีแก้ 112 116 ไม่มีแจกเงิน 5.5 แสนล้านบาทไม่มีนิรโทษคดีการเมือง ไม่มีล้างผิดคดีโกง ฯลฯ
อย่างน้อย 4 พรรคนี้ จำนวน สส. รวม เกิน 250 หรือไม่?
จะมีพรรคใดเข้าร่วมอีกจนเกิน 250 หรือไม่?
แล้ว สว. 250 คน ก็ไม่มีเหตุใดที่จะไม่สนับสนุนบุคคลที่พรรคการเมืองกลุ่มนี้ตกลงร่วมกันที่จะเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี
คะแนนเสียงรวมก็จะได้เกิน 376 คน หรือไม่?
ถ้าได้ นายกฯ ก็จะมาจากบุคคลที่อยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองกลุ่มนี้นั่นเอง
7. เชื่อว่า สว.ส่วนใหญ่จะไม่สนับสนุนให้มีรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร
สว.จะไม่มีอำนาจหน้าที่ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้
เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ โดยผ่านประชามติ สว.ก็ต้องทำหน้าที่บนพื้นฐานของประโยชน์แผ่นดินเป็นสำคัญ
หนึ่งในอำนาจหน้าที่ คือ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ในระหว่าง 5 ปีแรก
ดังนั้น เมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ถือว่ามีรัฐสภา (สส.และ สว.)
จากนั้น จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาเลือกบุคคลผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ (บัญชีของพรรคการเมืองที่มี สส. 25 คนขึ้นไป)
มติของรัฐสภาที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกฯ ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
วุฒิสมาชิก 250 คน มาจากการสรรหาและแต่งตั้งโดยดําเนินการตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ดังต่อไปนี้
ส่วนแรก คสช.คัดเลือกผู้ได้รับเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ได้จํานวน 50 คน
อีกส่วน คสช. คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาให้ได้จํานวน 194 คน
ที่เหลือ 6 ตําแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ
เชื่อแน่ว่าสว.ก็จะต้องไม่สนับสนุนบุคคลที่จะไปล้างผิดช่วยเหลือคนโกง หรือลบล้างคดีโกง คดี ม. 112 อันจะสร้างความขัดแย้งวุ่นวายในบ้านเมืองอย่างรุนแรง
ขณะดียวกัน บุคคลที่ สว.สนับสนุน จะต้องเป็นบุคคลที่ได้คะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพราะถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็จะเกิดปัญหาเสถียรภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน
เชื่อมั่นว่า บ้านเมืองมีทางออกที่ถูกต้อง เหมาะสม ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และจะไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกำหนดการเมืองไทยอย่างแน่นอน
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี