เมื่อมีข่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยข้อมูลล่าสุด พบตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษากว่า 100,000 คน โดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาความยากจนของครอบครัว ที่ผลักให้เด็กต้องออกจากการเรียน เพื่อไปทำงานหาเงินแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง
ผมรอคอยที่เห็นเจ้าของวาทกรรม “เด็กทุกคนไม่ควรที่จะต้องหลุดพ้นจากระบบการศึกษา” อย่าง น.ต.ศิธา ทิวารี ออกมามีความเห็น แสดงความห่วงใย หรือเสนอวิธีแก้ไขปัญหาบ้าง
ไม่ใช่แค่กระโดดเข้าร่วมกระแส “หยก” เด็กที่แม่ไม่ไปมอบตัวเพื่อเข้าเรียนตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการที่ “เด็กและผู้ปกครอง” อีกหลายล้านคนทั่วประเทศเขาทำกันได้ และไม่สร้างปัญหา
บางที หากศิธารับหยกเป็น “ลูกบุญธรรม” และช่วยทำให้ชีวิตกับการศึกษาของเธอไปด้วยกันได้ เรื่อง “สถานภาพนักเรียน” ที่เป็นปัญหาหลักก็จะได้จบไป แล้วไปแก้ปัญหาเรื่อง “นิสัย” อื่นๆ ของเธอกันต่อ
1) ล่าสุด นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีชุดเครื่องแบบนักเรียน โดยได้เขียนข้อความในเฟซบุ๊กของเขาว่า
“เชียร์กันจนเกินไปไหม มันไม่ไช่ใส่ชุดอะไรไปโรงเรียน แต่มันคือการสร้างเด็กไทยให้เคารพกฎระเบียบ และการมีวินัยเพื่อพัฒนาชาติต่อไป ถามหน่อย ศิธา ตอนเป็นทหารทำไมพี่ใส่ชุดทหารครับ”
2) น.ต.ศิธา ทิวารี แกนนำพรรคไทยสร้างไทย ตอบผ่านผู้สื่อข่าวว่า “ระเบียบวินัยต้องเริ่มจากข้างใน มีระดับความรู้สึกนึกคิดของคน หรืออาจจะเป็นศีลธรรมก็ได้ ซึ่งระดับต่ำสุดของศีลธรรม คือการบังคับให้ต้องฝืนทำ และคนต้องยอมทำเพราะถูกบังคับ แต่เมื่อเด็กคนนั้นไปอยู่ในจุดที่ไม่มีการบังคับ ก็อาจควบคุมอะไรหลากหลายอย่างไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ฝึกวินัยตั้งแต่เด็ก
นอกจากนี้หลายประเทศทั่วโลกก็ไม่ได้บังคับให้เด็กใส่ชุดนักเรียน ซึ่งหลายประเทศก็มีความเจริญมากกว่าประเทศไทยด้วย จึงอยากถามว่าเด็กไทยมีความรู้สึกนึกคิดด้อยกว่าเด็กต่างชาติหรือไม่ ขณะเดียวกันหากไม่บังคับให้ใส่ชุดนักเรียนจะเกิดความฟุ้งเฟ้อ มีการแข่งแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าราคาแพง เรากำลังจะบอกว่า การบังคับให้ทุกคนทั้งหมดต้องทำเหมือนกันเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งไม่ฟุ้งเฟ้อ ซึ่งถ้าโรงเรียนบอกว่าใส่ชุดอะไรไปก็ได้ การแข่งขันเหมือนกันแต่เมื่อมีการแข่งขันเรื่องการฟุ้งเฟ้อ โรงเรียนสามารถออกกฎห้ามใส่เสื้อคลุมผ้าที่มีราคาแพงก็ได้ ซึ่งก็จะเป็นการออกกฎที่ตรงกับเจตนารมณ์ และไม่รบกวนสิทธิคนอื่น”
“ยกตัวอย่างว่า หากเป็นลูกของผมอยู่ในโรงเรียนอยู่ในโรงเรียนที่ต้องแต่งเครื่องแบบ ผมก็จะบอกลูกให้แต่งเครื่องแบบให้ถูกต้องตามระเบียบ แต่ถ้าโรงเรียนบอกใส่ชุดอะไรก็ได้ แล้วลูกมาถามก็จะบอกว่าโรงเรียนไม่ได้บังคับอยากจะใส่ชุดอะไรก็ได้ แต่ถ้าแต่งชุดนักเรียนไปก็น่ารักดี เพราะผมมีปัญญาที่จะซื้อชุดนักเรียนให้ลูก แต่ถ้าคนที่ลำบากในการซื้อชุดนักเรียน จะได้ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ ซึ่งมันก็มีหลายเหตุผล” น.ต.ศิธา
น.ต.ศิธา ยังกล่าวอีกว่า ในช่วงที่ตนรับราชการ ก็ใส่เครื่องแบบ เพราะราชการกำหนด ก็ใส่เครื่องแบบเพราะราชการกำหนดแบบนั้น แต่ตอนนี้ตนไม่ใช่ข้าราชการแล้วก็ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ส่วนในรัฐสภา ไม่ได้มีการบังคับให้ใส่เครื่องแบบรัฐสภา ดังนั้น บางคนก็แต่งกายด้วยเครื่องแบบ บางคนก็แต่งกายด้วยสุภาพเรียบร้อย ดังนั้น สำหรับโรงเรียนตนมองว่า การปลูกจิตสำนึกให้กับเด็ก ควรบาลานซ์เรื่องสิทธิเสรีภาพด้วย
น.ต.ศิธา กล่าวอีกว่า เมื่อวานนี้ตนก็ได้พูดเรื่องโรงเรียนด้วยว่า ถ้าโรงเรียนมีข้อกำหนดอยู่แล้ว หากเด็กเข้าไป ก็ต้องทำ ก็ต้องทำตามกฎ และตนไม่ได้ให้ท้ายว่า เด็กที่ไม่ทำตามระเบียบโรงเรียนไม่ควรถูกลงโทษ เพราะควรทำตามระเบียบของโรงเรียน ดังนั้น ก็ให้เป็นไปตามบทลงโทษ แต่ความผิดเหล่านี้ไม่ใช่ให้พ้นสภาพการเป็นนักเรียน ถ้าระเบียบที่บังคับให้เด็กต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้จะมีเรื่องของจริยธรรมและศีลธรรม ถ้าไม่ทำแล้วจะมีความผิด แต่ถ้าเด็กรู้ว่า ทำเพราะควรทำ เด็กจะเป็นคนที่พัฒนาตัวเองได้ดี
เมื่อถามย้ำว่านายสาธิตได้ตั้งคำถามว่ามีการเชียร์กันเกินไปหรือไม่ น.ต.ศิธา กล่าวว่า ตอนนี้คนมีความคิดสุดโต่งสองข้าง คือ 1.ต้องบีบบังคับเอียงไปทางเผด็จการ และ 2.คือสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประเทศเราเป็นประเทศประชาธิปไตย ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่การเปิดโอกาสให้ทำอะไรทุกอย่างได้ คำว่าประชาธิปไตย คือ การปกครอง การปกครองคือการจำกัดสิทธิของคน แต่ก็พอจะมีสิทธิเสรีภาพดีที่สุด ดีที่สุดเท่าที่จะไม่ไปล่วงละเมิดผู้อื่น เพราะฉะนั้น ถ้าโรงเรียนมีกฎระเบียบแบบนี้เด็กก็ควรทำตาม หากทำผิดโรงเรียนก็ควรลงโทษตามกฎ แต่ไม่ใช่เอาหลายเรื่องมาโยงกัน
“ขอยกตัวอย่างความผิดที่ไม่ใส่ชุดนักเรียน การทำสีผม มีบทลงโทษความผิดตามขั้นตอน หากทำผิดหลายครั้งก็อาจจะไม่ให้เข้าเรียน หรือให้พ้นสภาพความเป็นนักเรียนก็เป็นไปได้ แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าผมไม่ได้ให้ท้ายหยก แต่การพิจารณาโทษเด็กที่อายุ 15 ปีซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ แล้วทำความผิดแค่นี้ โรงเรียนบอกว่าไม่รับ เมื่อกลับไปดูในเนื้อหา แล้วมาบอกว่าไม่ได้มามอบตัวตามเวลา ทั้งที่ผู้ปกครองกับตัวเด็กก็ยืนยันว่า มามอบตัวและจ่ายเงินแล้ว แค่ไหนก็ต้องไปดูว่าจริงๆ แล้วผิดแค่ไหน”
3) ควรทราบว่า “ผู้ปกครอง” ที่ น.ต.ศิธากล่าวถึงนั้น คือ บุ้ง เนติพร กลุ่มทะลุวัง ที่ออกมายืนยันว่า หยกต้องการเข้าเรียน หลังสามารถสอบเข้าได้ตามปกติแต่ไม่สามารถติดต่อผู้ปกครองได้ ดังนั้น หยกจึงพักอยู่กับตน และตนก็จ่ายค่าเทอมให้เรียบร้อยแล้วทาง ผอ.โรงเรียน ก็ยินดี ให้ถือว่าการมอบตัวของหยกเสร็จสมบูรณ์ พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นกลับเปลี่ยนไม่ให้เข้าเรียนตนมองว่าโรงเรียนควรมองสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน คือการศึกษาของเด็ก เรื่องการแต่งกายที่ไม่ถูกต้องก็มาพูดคุยกัน
4) 19 มิถุนายน 2566 หยก ระบุว่า วันนี้ถูกผู้ปกครองของนักเรียนคนอื่นๆ ตำหนิระหว่างทางไปโรงเรียน และได้รับรู้ถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ ขอบคุณที่สังคมได้มีการโต้แย้งกัน ไม่ว่าจะโต้กันด้วยเหตุผลหรือไม่ก็ตาม ยืนยันเจตนาของการยกเลิก “บังคับ” การแต่งกาย-ทรงผม ไม่ได้จะบังคับให้ถูกคนยกเลิกเหมือนที่ตนคิด
“หากวันนี้ โรงเรียนมีการประชาพิจารณ์ ให้เด็กมีส่วนร่วมกับการออกแบบกฎระเบียบใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่า นักเรียนทุกคนต้องได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แล้วหากผลออกมาให้คงไว้ซึ่งระเบียบเดิม ตนก็ยินดีที่จะทำตามเสียงส่วนมากนั้น เพราะที่ผ่านมามีปัญหากับการที่กฎระเบียบในโรงเรียนที่ถูกเขียนขึ้นโดยครูและผู้ใหญ่ มิใช่นักเรียนผู้ต้องรับคำสั่ง ปฏิบัติตามกฎนั้น ซึ่งไม่สมเหตุสมผล”
5) ขณะที่ “กันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์”อดีต สส.ประชาธิปัตย์ จังหวัดพังงา โพสต์เฟซบุ๊กว่า
“นร.ดี ทำความดี กลับค่อยๆ เงียบหายจากพื้นที่สื่อ ต่างกับ นร.บางคนที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกลับมีสื่อทุกชนิดจับจอง ติดตาม เพื่อชิงพื้นที่ข่าว วันนี้ขอเริ่มต้นเช้าวันใหม่ ด้วยความดีของนร. คนหนึ่งในประเทศของเรา
นายวุฒิศักดิ์ มั่งคั่ง หรือ “น้องยูโร” นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนนครนายกวิทยาคม กระโดดน้ำช่วย 3 พ่อแม่ลูกรอดตาย เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา
น้องสำลักน้ำ ติดเชื้อในกระแสเลือด พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนครนายก และปัจจุบันได้รับการรักษาพยาบาลจนหาย และสามารถกลับไปเรียนเป็นปกติแล้วค่ะ
ครอบครัวน้องยูโร มีธุรกิจทำธูป น้องมีความฝันอยากเป็นตำรวจ จบ ม.6 จะไปสอบนักเรียนนายสิบตำรวจค่ะ น้องคือแบบอย่างเยาวชนที่ดีแบบนี้ที่สื่อและสังคมควรพูดถึง
อยากให้สื่อนำเสนอข่าวเยาวชนที่มีพฤติกรรมดีๆ ได้รับการยกย่อง และเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนไทย มากกว่า การนำเสนอข่าวของเยาวชนที่มีพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสม
เยาวชนที่ดีแบบนี้ ที่สังคมหรือหน่วยงานภาครัฐต้องสนับสนุน!!!!!
ขอชื่นชมครอบครัวที่ให้การอบรม ดูแลลูกชายได้เป็นอย่างดี เติบโตเป็นเยาวชนที่ดี และเป็นคนดีของสังคมในอนาคต รอคอยน้องยูโร ได้เป็นตำรวจตามตั้งใจนะคะ และเชื่อว่าน้องจะเป็นตำรวจที่ดีของประชาชนค่ะ
สรุป :
1.) กรณีหยก ไม่ใช่เรื่องสิทธิส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องการขาดความเคารพต่อ “ระเบียบที่คนส่วนใหญ่เขาปฏิบัติ” อย่าเอาสิทธิส่วนบุคคลมาอ้างไปเสียทุกเรื่อง-ทุกที่ เพราะแต่ละสถานที่ ก็มีสิทธิที่จะกำหนด “ระเบียบ” เช่นกัน หากปฏิบัติตามมิได้ ก็อย่าเข้าไปในสถานที่นั้นๆ
2.) เรื่องนี้ต้องไล่ประเด็นให้ถูกต้องเริ่มจาก “สถานภาพนักเรียน” ก่อน สำหรับผมเห็นว่าผ่อนปรนได้แต่อาจติดขัดว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย ใครจะรับผิดชอบ?ส่วนเรื่องเสื้อผ้า สีผม การเข้าเรียน/ไม่เข้าเรียน ก็ใช้เกณฑ์การตัดคะแนนจัดการไป หยุดให้พื้นที่ หยุดต่อล้อต่อเถียง เว้นเสียแต่อยากให้เป็นวาระสำคัญ ก็จงนำไปสู่การถกเถียงเพื่อหาบทสรุปซะ
ถึงที่สุดก็ควรเป็นอย่างที่กันตวรรณว่า
ให้พื้นที่กับนักเรียนดีๆ บ้าง !!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี