“ถามว่าภาวะเศรษฐกิจในวันนี้ ขอโทษนะ ถ้าผมไม่เสือกแล้วใครจะเสือก?”
คือหนึ่งในคำกล่าวของ “ทักษิณ ชินวัตร” ภายในงาน 55 ปี เนชั่น Exclusive Talk ผ่าทางตันประเทศไทย Chapter 1 ในวันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท โดย 3 บรรณาธิการแห่งเครือเนชั่น
เรื่อง “ความเสือก” ของ “ทักษิณ” เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันให้ชัดๆ เสียที ว่าเสือกได้ไหม เสือกได้เพียงใด และหากเสือกเกินไป ใครควรต้องจัดการ
1) วันที่ 11 ก.ค. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจากบ้านพิษณุโลกว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้เรียกประชุม “ทีมไทยแลนด์” พร้อมทั้งทีมที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อรับมือมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา หลัง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เผยแพร่จดหมายแจ้งอัตราภาษีนำเข้า ซึ่งไทยถูกเก็บที่ 36%
โดยตั้งแต่เวลา 07.00 น. รัฐมนตรีทีมไทยแลนด์และทีมที่ปรึกษานโยบายของนายกฯทยอยเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร
รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งยังมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตโฆษกประจำสำนักนายกฯ
กระทั่งเวลา 07.47 น. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมประชุมวงดังกล่าวด้วย โดยการหารือใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ก่อนที่เวลา 10.54 น. นายทักษิณ เดินทางออกจากบ้านพิษณุโลก โดยมี นายจตุพร ร.อ.ธรรมนัส และนายอรรถกร เดินออกมาส่ง
2) ต่อมาเวลา 11.05 น. นายพิชัย แถลงผลการประชุมว่า วันนี้เชิญหลายหน่วยงาน มีทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก รวมถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาหารือกรณีที่สหรัฐเผยแพร่จดหมายเรียกเก็บภาษีจากไทย 36% ขอย้ำว่าอันนั้นเป็นการเลื่อนเวลาให้เรา เรายังไม่ได้เจรจาถึงที่สุด วันนี้ได้มีการทบทวนกันว่าเรามีเวลาถึงวันที่ 1 ส.ค. เพื่อให้ได้ข้อยุติกับสหรัฐ ตนยังเชื่อว่าการได้ข้อยุติวันที่ 1 ส.ค. จะได้ข้อยุติระดับกว้างๆ เสร็จแล้วยังต้องคุยกันอีกนาน
สำหรับการหารือในวันนี้เป็นเพราะวันที่ 10 ก.ค. ตนได้เรียกประชุม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และบริษัทใหญ่ๆ ว่าหากได้รับผลกระทบในเรื่องใดจะมีมาตรการอย่างไรในการรองรับโดยแยกเป็นหมวดๆ ไป เรามีข้อมูลเยอะพอสมควรและกลับไปทำการบ้านกัน ซึ่งคงได้ก่อนวันที่ 14 ก.ค. เพื่อดูผลกระทบของแต่ละส่วนเป็นอย่างไร และเพื่อให้การทำงานระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐเดินไปได้อย่างเรียบร้อย จึงเป็นที่มาของการคุยกันวันนี้
นายพิชัยกล่าวอีกว่า สิ่งที่คุยกันคือเราได้ให้ข้อมูลทั้งหมดที่ทำงานไปให้รู้ในรายละเอียดว่าทำอะไรไปบ้างและมีท่าทีความคิดเห็นอะไรกันบ้าง เพื่อมาดูกันว่าถ้าเกิดผลกระทบจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยพอจะสรุปได้ว่าวิธีที่จะคุยกับสหรัฐ มองในมุมมองการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐแล้ว ทั้งหมดที่เราจะทำข้อที่หนึ่งต้องไม่ให้ได้รับผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ ทั้งภาคเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมรายย่อย สองเราได้แจ้งไปว่าการทำครั้งนี้หลายเรื่องเราอาจต้องรับซื้อสินค้าเข้ามา ซึ่งเรารับซื้อปกติอยู่แล้ว ก็ได้โอกาสในการปรับตัวเราเอง โดยคุยกันว่าจะมีวิธีการปรับอย่างไรให้สินค้าที่นำเข้ามาได้รับการกำกับดูแลให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากที่สุด และเร่งความรวดเร็วเพิ่มประสิทธิภาพทั้งขาเข้าขาออก สิ่งสำคัญที่สุดได้พูดกันว่าเรารองรับมาตรการที่จะช่วยเหลือหลายเรื่อง ซึ่งจะไปทำการบ้านในรายละเอียด หลักการมีแล้ว กลุ่มเกษตรจะทำอย่างไร อุตสาหกรรมรายย่อยจะทำอย่างไร กำหนดกว้างๆ ไว้แล้วว่ามาตรการคืออะไรและจะไปลงรายละเอียดต่อไป
เมื่อถามว่า ตัวเลขภาษีที่เวียดนามได้ 20% ทำให้ภาคเอกชนเป็นห่วงว่าหากไทยได้มากกว่า 20% อาจทำให้กระทบต่อสินค้าประเภทเดียวกันเพราะเราเสียภาษีมากกว่าคู่แข่ง จะมีมาตรการอย่างไร นายพิชัยกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราคุยกันว่าสิ่งที่เราทำจะทำให้ดีที่สุด เราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำไปหลายๆ เรื่อง ที่ไม่ใช่เรื่องอัตราภาษีอย่างเดียวมีเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย เราจะชี้แจงให้ชัดเจนและหวังว่าสิ่งที่เราได้ เราน่าจะได้ในส่วนที่ไม่ทำให้เป็นการเสียเปรียบ และทางสหรัฐเขาแบ่งสินค้าเป็นสองสามประเภทใหญ่ๆ ประเภทที่เป็นสินค้าทั่วไปเริ่มที่ 10% ประเภทไหนตกที่ 20% เช่นเวียดนาม และอีกประเภทคือสินค้าผ่านทางที่นำเข้ามาประกอบแล้วส่งออก เราเชื่อว่าประเทศไทยวันนี้เริ่มเข้มงวดและกวดขันส่วนนี้ เราสามารถดูแลได้ดีเมื่อเทียบกับบางประเทศ
ส่วนข้อมูลที่ประชุมกันแล้วจะสรุปส่งไปยังสหรัฐเมื่อใดนั้น นายพิชัย กล่าวว่า เราส่งข้อเสนอเรื่องมาตรการภาษีไปแล้ววันที่ 6 ก.ค. วันนี้เรามาดูรายละเอียดเป็นรายสินค้า และให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำเพื่อยืนยันว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว จะส่งข้อมูลไปเพิ่มหรือไม่นั้นอยู่ระหว่างพูดคุย หาโอกาสคุยทางออนไลน์กับผู้ปฏิบัติว่ายังต้องการอะไรอีก ส่วนจะยื่นหรือไม่นั้น หากมีก็อีกเล็กน้อยที่เราจะปรับปรุงในสิ่งที่เราควรปรับปรุงอยู่แล้ว อย่างไรก็ต้องทำ และถ้าจำเป็นก็พร้อมเดินทาง
เมื่อถามถึงการที่นายทักษิณมาร่วมประชุมด้วยนั้น ได้ให้ความเห็นอะไรบ้าง นายพิชัย กล่าวว่า ได้เชิญทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกมาร่วมประชุม และเห็นว่านายทักษิณรู้เรื่องเหล่านี้ดีน่าจะให้ข้อคิดเห็นได้ดี จึงเชิญมาร่วมประชุมด้วย
3) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์รูปภาพนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะเดินทางเข้าบ้านพิษณุโลก เพื่อร่วมประชุมกับ “ทีมไทยแลนด์” เพื่อหาแนวทางรับมือภาษีทรัมป์ โดยระบุข้อความว่า “ภาพมันฟ้อง ประชุมทีมไทยแลนด์ที่บ้านพิษณุโลก เพื่อหาลู่ทางสู้กับภาษีทรัมป์” พร้อมทั้งระบุว่า
บุรุษหนึ่งเดินโชว์ตัวเข้าร่วมประชุมด้วย ไม่หนีกล้อง ไม่อายสื่อ ไม่หน้าด้าน แอบเข้าเงียบๆ ก็ได้ แต่ไม่ทำ ตั้งใจให้ถ่าย จะผิดจะถูกทำนองธรรมเนียมกฎหมายไหม ไม่สน เข้าใจไหม
กูคือความถูกต้อง กูคนเก่ง
เก่งแบบไหนไม่รู้นะ หนีเก่ง โกงเก่งไหม ไม่รู้
คนที่ร่วมประชุม คงถามตัวเอง กูมาทำไม ต้องนั่งฟังโมฆะบุรุษร่ายยาวอวดศักดา เสร็จแล้ว ก็โบ๋เบ๋ ไม่มีอะไรใหม่
นักการเมืองบ้านนี้สมควรลาออกให้หมด อย่ามัวกินหญ้ากันอยู่เลย สงสารลูกเต้า มีสมองไม่ต้องใช้ คอยรับคำสั่งอย่างเดียว
4) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่บ้านพิษณุโลก โดยระบุว่า เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนมุมมองในฐานะอดีตผู้นำ เพื่อรับมือกับกำแพงภาษี 36% ของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้าไทย 1 ส.ค.นี้ โดยนายพร้อมพงศ์ระบุว่า ข้อเสนอของนายทักษิณบนเวทีวิสัยทัศน์ก่อนหน้านี้ได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลควรดูแล SME และเกษตรกร ไม่ยอมให้ไทยตกเป็นฐานเคลื่อนไหวในลักษณะกระทบต่อความมั่นคง
“ไม่เข้าใจพวกอคติหน้าเดิมๆ หมดมุกเรื่องไทย–กัมพูชา วันนี้หยิบภาษีมาขวางอีก หากเจรจาสำเร็จ ไทยโดนเก็บภาษีต่ำกว่า 36% คนที่ได้คือ SME เกษตรกร และประเทศชาติ ไม่ใช่ทักษิณ”
เขายังกล่าวด้วยว่า การเมืองยังไม่ถึงทางตัน หากทุกฝ่ายช่วยกันเสนอทางออก ไม่ใช่พายไม่ไหวแล้วยังเอาเท้าราน้ำ
ส่วนกรณีคลิปเสียงและการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีชั่วคราว นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ท่านยังลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา แสดงความห่วงใยปัญหาน้ำและได้รับเสียงต้อนรับอบอุ่นจากประชาชน พร้อมย้ำว่า “ไม่ว่าท่านจะอยู่ในตำแหน่งไหน จะรับใช้ประชาชนเสมอ” เขายังกล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทยเตรียมคำชี้แจงครบถวนเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอะไรน่ากังวล พร้อมย้ำว่า “การเมืองไม่ตัน มีแต่บางฝ่ายอยากให้ตัน เพื่อฉวยจังหวะปลุกปั่น”
5) สิ่งที่เห็นจากเรื่องนี้ คือ อะไร?
5.1. “ทักษิณ” ยังเสือก เพราะ “ลูกสาว” คือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร กับ “บริวาร” คือ พรรคเพื่อไทย กำลังจะไปไม่รอด ทักษิณจึงต้องออกโรงกอบกู้สถานการณ์ ในฐานะ “นายกฯตัวจริง” เจ้านาย เจ้าของ และผู้นำทางจิตวิญญาณ
5.2. เขาจะเสือกไม่ได้ ถ้าไม่มีคน “ออกบัตรเสือก” ให้กล่าวคือ ถ้าสื่อไม่เชิญเขาขึ้นเวที เพราะรู้ผิดชอบชั่วดี อะไรเหมาะสม อะไรไม่เหมาะสม “ทักษิณ” จะได้ขึ้นเวทีไหม? ถ้าทักษิณขึ้นเวทีแล้ว ไม่มีรายได้ ผลประโยชน์ สอนเซอร์ หรือกระแสตามมา สื่อจะเชิญทักษิณขึ้นเวทีไหม?
5.3. “พิชัย” จึงเป็นตัวแทนของกลุ่ม “บริวาร” ที่ไม่อาจทัดทานอะไรได้ นอกจาก “รองมือรองตีน” ทักษิณ, สื่อที่เชิญทักษิณขึ้นเวที (ครั้งแล้วครั้งเล่า) จึงเป็นตัวแทนของ “กลุ่มสมประโยชน์” ขณะที่ “เด็จพี่” คือตัวแทนของ “บ่าวสอพลอ” หรือ “ทนายหน้าหอ” ที่ไม่ได้มีบทบาท ตำแหน่งทางการเมืองเหมือนพิชัย องค์ประกอบเหล่านี้ ใบเบิกทางเหล่านี้ ที่ “ไม่ยี่หระ”ต่อความเหมาะ/ไม่เหมาะ ควร/ไม่ควร ไม่เป็นตัวแทนของการกลั่นกรองให้สังคม ทักษิณ ชายผู้มีมลทินติดตัว ทั้งเรื่องโกง เรื่องติดคุกทิพย์ เรื่องป่วยทิพย์ เรื่องหมิ่นสถาบัน จึงมีเวทีให้เฉิดฉายได้ อย่าไปคาดหวัง “ความละอาย” ใดๆ จากส่วนประกอบเหล่านี้ เช่นที่ “นายนันทิวัฒน์” รู้สึกอาย รู้สึกไม่เหมาะ
แล้วอะไรล่ะ จะเป็นเครื่องมือจัดการ “ความไม่สำนึก” ของผู้คน และ “ความไม่สำนึก” ถึงความควรไม่ควรของทักษิณ
6) นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ทักษิณน่าจะครอบงำและชี้นำกิจกรรมพรรคเพื่อไทยจนอาจถูกยุบพรรคได้ และอาจมีความผิดอาญาตามกฎหมายพรรคการเมือง” โดยมีเนื้อหาระบุว่า
1.กฎหมายเลือกตั้ง สส. ห้ามผู้ไม่มีสัญชาติไทยเข้ามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง สส. (มาตรา 77) นายทักษิณ ชินวัตร มีสัญชาติไทย (จะมีสัญชาติอื่นและมี passport ของประเทศอื่นด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ) จึงมีสิทธิเป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง สส.ของพรรคเพื่อไทยได้
2.ทักษิณถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ในข้อหาทุจริตหรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายรวม 3 คดี ลงโทษจำคุกรวม 8 ปี แต่ได้รับพระมหากรุณาอภัยลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566
3.ทักษิณเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ เพราะ เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในข้อหาทุจริตหรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย ต้องห้ามตามกฎหมายพรรคการเมือง (มาตรา 24 (2)) ปัจจุบันทักษิณจึงไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว เป็นหัวหน้าพรรค
4. มีการกระทำโดยเปิดเผยอย่างน้อย 4 ครั้ง ที่แสดงให้เห็นว่า ทักษิณซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย น่าจะครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทย ในลักษณะที่ทำให้พรรคหรือสมาชิกพรรคขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ดังนี้
• การให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ที่สำนักงาน ป.ป.ส. กรุงเทพฯ
• การให้สัมภาษณ์ในรายการของ Nation TV ชื่อว่า “3 Editors” เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2568
• การเข้าร่วมงาน “55 Years Nation Exclusive Talk : Breaking Through Thailand’s Crisis-Chapter 1” ณ Nation TV สตูดิโอ ช่อง 22 และตอบคำถามของพิธีกร เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568
• การร่วมถกแผนรับมือภาษีทรัมป์กับแกนนำพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 ที่บ้านพิษณุโลก
5.พรรคเพื่อไทยจึงอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้เมื่อ กกต.ร้องขอ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 (3))
6.ทักษิณอาจมีความผิดอาญาซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลต้องสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 108).
ข้อเสนอของนายวัส จึงอาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะ “ระงับบัตรเสือก” และ “ระงับความเสือก” ของทักษิณได้ รวมถึงลงโทษ “ผู้อนุญาตให้เสือก” บางคณะ แต่คำถามคือ ใครล่ะ จะทำ “มิติทางกฎหมาย” นี้ ให้เกิดขึ้น?!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี