พรรคเพื่อไทยหาเสียงเรื่องการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ก็ถูกคนบางพวกคัดค้านโต้แย้งกระทั่งระบุเหตุผลสารพัดว่าทำไม่ได้ หรือถ้าทำได้ก็จะเกิดความเสียหายมากมาย และยังโวยวายกันอยู่จนกระทั่งถึงวันนี้ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้อธิบายเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไรกันแน่
เป็นที่น่าสังเกตว่าหัวหอกในการโต้แย้งเรื่องนี้ บางคนเป็นอดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย อ้างว่าจะกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง และจะเกิดความเสียหายมากมาย บางพวกก็เป็นนักวิชาการหรือไม่ก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งแนวทางโต้แย้งก็เป็นไปในทางเดียวกันคือจะเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ
ครั้นจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลก็ยืนยันที่จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างเด็ดเดี่ยว และแถลงว่าจะลงมือแจกเงินดิจิทัลแก่ประชาชนคนละ 10,000 บาท โดยมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 500,000 ล้านบาท ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และระหว่างนี้เป็นระหว่างการเตรียมการ โดยเฉพาะระบบที่จะแจกหรือส่งเงินดิจิทัลดังกล่าวแก่ประชาชน รวมถึงการใช้สอยทั้งระบบ
ซึ่งหมายความว่านโยบายเรื่องนี้รัฐบาลเอาจริงแน่ แต่น่าแปลกใจที่ไม่อธิบายให้เกิดความเข้าใจโดยทั่วไป ดังนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ก็สมควรที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้กันสักครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้หายคลายกังวลและเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง กระทั่งสามารถรับเอาประโยชน์ทั้งหลายที่จะพึงเกิดขึ้นจากเรื่องนี้
ในประการแรก ก็ต้องบอกว่าวงเงินดิจิทัลที่จะแจกกันนี้มียอดรวมทั้งสิ้น 500,000 ล้านบาทและจะแจกครั้งเดียวในวงเงินคนละ 10,000 บาทดังนั้น ถ้าหากเรื่องนี้ผิดพลาดล้มเหลว อย่างมากก็จะฉิบหายมากที่สุดก็ไม่เกิน 500,000 ล้านบาท เทียบไม่ได้กับการกู้เงินมาแจกในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อหนี้สร้างสินให้แก่ชาติบ้านเมืองหลายล้านล้านบาท และยังควักล้วงเอาเงินออมของประชาชนไปสมทบใช้จ่ายอีกด้วย
ก็น่าแปลกใจว่าทำไมการกู้เงินมาแจกและด่าว่ากันตลอดมาซึ่งเกี่ยวข้องกับวงเงินหลายเท่านัก แต่พอมาถึงรัฐบาลนี้จะแจกเงินดิจิทัลแค่ 500,000 ล้านบาท กลับโวยวายยิ่งกว่าการกู้เงินมาแจกหลายล้านล้านบาท ก็ตั้งข้อสังเกตให้เห็นกันว่าอคติของคนเรานั้นบางทีก็ทำให้เกิดความมืดบอดทั้งแก่ตนเองและแก่สังคมด้วย
ประการที่สอง ขอทำความเข้าใจอย่างง่ายที่สุดว่าการออกเงินดิจิทัลครั้งนี้ก็เหมือนกับห้างสรรพสินค้าออกคูปองให้ผู้เข้าไปในห้างสรรพสินค้าคนละ 150 บาท เพื่อเอาคูปองนี้ไปจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าต่างๆ ของห้างสรรพสินค้านั้น แล้วร้านค้าทั้งหลายที่รับเอาคูปองไว้ก็เอาเงินไปขึ้นกับห้างสรรพสินค้านั้น มันมีลักษณะเดียวกันไม่มีผิดเลย ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วก็จะเข้าใจเรื่องนี้ทั้งระบบ
ความแตกต่างอันมหัศจรรย์อยู่ตรงที่เงินดิจิทัลหรือถ้าจะเรียกให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คือคูปองดิจิทัลที่จะแจกให้คนละ 10,000 บาทนั้น มันจะไม่ใช่คูปองที่จ่ายได้เพียงครั้งเดียวทอดเดียว แต่สามารถใช้สอยต่อกันไปเป็นทอดๆ ได้ไม่จำกัด จนกว่าจะถึงเวลากำหนดที่จะต้องเอาเงินดิจิทัลนั้นมาขึ้นเงินเอากับรัฐบาล
ขอให้เข้าใจอย่างนี้ก็จะเข้าใจเรื่องนี้ชัดเจนแจ่มแจ๋ว
ประการที่สาม ผู้รับเงินดิจิทัลหรือคูปองดิจิทัลสามารถใช้คูปองดิจิทัลนี้ต่อไปได้ไม่จำกัดทอด ใครมีไว้ก็เอาไปใช้จ่ายได้ในมูลค่า 10,000 บาทตามที่กำหนดไว้ และทุกทอดที่มีการใช้จ่ายไม่ว่าจ่ายเป็นค่าสินค้าหรือค่าบริการ ผลตามกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยทุกคนไม่ได้คิดก็คือค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่รัฐบาลจัดเก็บจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการในอัตรา 7%ดังนั้นทุก 100 บาท ที่มีการจับจ่ายใช้สอยหรือมีการซื้อบริการรัฐบาลก็เก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มได้เป็นเงิน 7 บาท
ดังนั้น วงเงินคูปองดิจิทัล 500,000 ล้านบาท เมื่อจับจ่ายใช้สอยกันไปในทอดแรกรัฐบาลก็สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้จ่ายในงบประมาณได้ถึง 35,000 ล้านบาท
เมื่อมีการจับจ่ายใช้สอยเงินดิจิทัลหรือคูปองดิจิทัลนี้ในทอดต่อไป รัฐบาลก็จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเรื่อยไป เมื่อจ่ายไปถึงทอดที่สิบ รัฐบาลก็จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าคลังได้ถึง 350,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อมีการจ่ายเงินไปถึงทอดที่ยี่สิบ รัฐบาลก็จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ถึง 700,000 ล้านบาท มาใช้จ่ายเป็นงบประมาณได้สบายใจเฉิบ
เพราะเงินภาษีที่เก็บได้นี้มากกว่าวงเงินคูปองดิจิทัลไปแล้วถึง 200,000 ล้านบาท โดยที่รัฐบาลยังไม่ได้จ่ายเงินเลย นี่คือมายาภาพที่เป็นจริงของสิ่งที่เรียกว่าการปริวัตร ซึ่งเป็นมาตรการทางการคลังที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล เป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่เรียกว่ามาตรการทางการเงินที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้น การจะแหยมหรือล้ำเส้นในเรื่องนี้จึงควรพิจารณาจรรยาบรรณมารยาทและความรับผิดชอบกันสักหน่อย
ประการที่สี่ เมื่อถึงเวลากำหนดที่รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินแก่ผู้ถือเหรียญดิจิทัลคนสุดท้าย ถ้าใครคิดว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินก็อาจจะตื้นไปสักหน่อย เพราะรัฐบาลอาจออกมาตรการบางอย่างให้บุคคลอื่นเข้าซื้อเอาเงินดิจิทัลนี้ไปเก็บไว้ ยกตัวอย่างเช่น
รัฐบาลออกมาตรการว่าผู้ใดก็ตามถือเหรียญดิจิทัล 100,000 บาท สามารถใช้เหรียญดิจิทัลนี้ไปค้ำประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ 200,000 บาท หรือถ้าใครนำเหรียญดิจิทัลนี้ 100,000 บาท ไปวางเป็นประกันด้านภาษีอากรหรือคลังสินค้าทัณฑ์บนหรือหลักประกันใดๆ ที่ต้องวางกับรัฐ เช่นเงินประกันซอง หรือเงินประกันสัญญาต่างๆ ถ้าใช้เงินดิจิทัล 100,000 บาท ก็ให้ถือเป็นหลักประกันได้ 200,000 บาท เพียงเท่านี้ก็จะมีคนแห่กันไปซื้อเงินดิจิทัลมาใช้ประโยชน์จนจะไม่พอขาย
ดีไม่ดีรัฐบาลอาจจะออกเงินดิจิทัลชุดที่สองอีก 500,000 ล้านบาท หรือมากกว่านั้นก็ได้
แผ่นดินประเทศไทยในวันนี้ ถ้าเปรียบเหมือนแผ่นดินก็ขาดน้ำคือเงินที่หล่อเลี้ยงจนเหือดแห้งทั้งประเทศ ผู้คนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ผู้รับผิดชอบมาตรการทางการเงินจะทำอะไร ผู้คนก็คอยดูกันอยู่ แต่ทันทีที่เงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาท แจกออกไปก็ดุจดังฝนแรกที่โปรยปรายลงมาให้ชุ่มฉ่ำทั้งแผ่นดินในต้นฤดูฝน
ก็คอยดูความมหัศจรรย์แห่งการปริวัตรของการใช้มาตรการทางการคลังในครั้งนี้ ดีไม่ดีเรื่องนี้อาจจะสร้างคะแนนเสียงให้กับพรรคเพื่อไทยยิ่งกว่าครั้งออกนโยบายกองทุนหมู่บ้านแล้วพวกหัวเก่าไม่เข้าใจ คัดค้านกันเกรียวกราว แล้วเป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งก็ได้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี