สถานะทางเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศไทย เป็นอย่างไร?
จำเป็นต้องเดินนโยบายแบบทุ่มหมดหน้าตัก หรือไม่?
จำเป็นต้องเอาประเทศเข้าไปเสี่ยง หรือไม่?
ทำเพื่อใคร?
1. ข้อมูลตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) สะท้อนชัดเจนว่า
1.1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
ในปี 2567 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2
สำหรับปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6
และขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ในปี 2569-2570
1.2 สถานะและการประมาณการการคลัง
ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567-2570 เท่ากับ 2,787,000 2,899,000 2,985,000 และ 3,074,000 ล้านบาท ตามลำดับ
ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567-2570 เท่ากับ 3,480,000 3,591,000 3,706,000 และ 3,825,000 ล้านบาท ตามลำดับ
จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2567-2570 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 693,000692,000 721,000 และ 751,000 ล้านบาท
หรือร้อยละ 3.63 3.43 3.40 และ 3.36 ต่อ GDP ตามลำดับ
1.3 ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP
สำหรับปีงบประมาณ 2567-2570 เท่ากับร้อยละ 64.00 64.65 64.93และ 64.81 ตามลำดับ
ทั้งหมดนี้ คือ กรณีที่ยังไม่นับนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เข้ากระเป๋าดิจิทัล วอลเล็ต ให้ประชาชน มูลค่าเม็ดเงินกว่า 560,000 ล้านบาท
ซึ่งจะต้องจัดหาเงินก้อนมหาศาลนี้มาจากการยืมเงินจากที่ใดที่หนึ่ง(น่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ) แล้วรัฐบาลมีภาระตั้งงบประมาณแผ่นดินชดเชย ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันการขาดดุลงบประมาณมากขึ้น และทำให้เสียโอกาสจัดสรรเงินลงทุน ตลอดจนพัฒนาประเทศชาติในด้านต่างๆ มหาศาล
การจะทุ่มเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท ไปกับนโยบายดังกล่าวจึงไม่ต่างกับการทุ่มเดิมพันแบบเทหมดหน้าตัก
ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเงินการคลังและเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ทั้งๆ ที่ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเทหมดหน้าตักขนาดนั้น
2. ระวังหนี้ประเทศพุ่ง-จีดีพีโตไม่ยั่งยืน
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ หนึ่งในผู้มีชื่อในโผเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีคลังของพรรคเพื่อไทยเอง ได้ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ส่งสัญญาณ
เตือนนโยบายแจกเงินหมื่นเข้าดิจิทัล วอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาท
ระบุว่า เป็นเดิมพันสูง เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อ-การบริโภค ไม่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน อาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง-ยั่งยืน เสี่ยงเจอปัญหา “ขาดดุลแฝด” คือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณมากขึ้น
“...นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่รัฐบาลบอกว่าต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นขึ้นมา
ในหลักการอาจจะพูดว่ากระตุ้นแรงมาก เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาทันที ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาเลยมากๆ อันนี้ก็ไม่ว่ากัน แต่ต้องกลับไปดูว่า
สถานการณ์ของเศรษฐกิจมหภาคเอื้ออำนวยต่อการทำนโยบายแบบนั้นหรือเปล่า
เพราะถ้าไม่เอื้ออำนวย คุณจะมีปัญหาว่าที่คาดหวังว่าจะกระตุ้นแรงๆ แต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนก็จะเกิดปัญหาได้
โดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะที่เรียกว่าเคนเซียนอีโคโนมิกส์ จะบอกว่าเป็นไปได้ที่ในระยะสั้นที่เศรษฐกิจเกิดการขาดความมั่นใจทั้งนักลงทุนและทั้งผู้บริโภค ทำให้ไม่บริโภคและไม่ลงทุน ซึ่งทำให้เกิดการว่างงานเยอะ จากการไม่กล้าลงทุน อันนั้น รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องยอมขาดดุลงบประมาณและเอาเงินในอนาคตมาใช้กระตุ้นให้เกิดความมั่นใจ ให้เกิดการลงทุน เพื่อจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน ช่วยให้มีการสร้างรายได้ และเป็นการช่วยให้มีการบริโภค แล้วก็จะมีวัฏจักรในเชิงบวก เรียกว่าตัวทวีคูณเกิดขึ้น
แต่คำถาม คือ สถานการณ์ตอนนี้ของประเทศไทย มันเหมาะสมสำหรับทำสิ่งพวกนั้นหรือเปล่า
วิธีดูอันนึงสำหรับผม คือ การไปดูดุลบัญชีเดินสะพัด ที่บอกว่าประเทศไทยส่งออกสินค้าและบริการมากกว่านำเข้าสินค้าและบริการหรือเปล่า ถ้าเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แปลว่าส่งออกเกินการนำเข้า อันนี้จะสะท้อนว่าภายในเศรษฐกิจมีกำลังการผลิตเหลือ เราถึงส่งออกมากกว่านำเข้า
ถ้าเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ใช้กระตุ้นกำลังซื้อได้ เพราะว่ากระตุ้นไปเดี๋ยวก็จะมาผลิตในประเทศได้ หรือกระตุ้นแล้วนำเข้าสินค้าทุนเพื่อให้ฟื้นการลงทุนในประเทศ เพราะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มันสะท้อนว่าเศรษฐกิจเรามีรายได้เหลือ แต่ถ้าขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งแปลว่าประเทศใช้จ่ายเกินตัว แล้วยังกระตุ้น จะยิ่งทำให้ขาดดุลมากขึ้น
... ช่วงหลังต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือน6-7 ปีก่อน
โดยปี 2021 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็ขาดดุลกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ปี 2022 ก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 14,700 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดย 6 เดือนแรกปีนี้ เกินดุลนิดเดียว คือ 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้วเดือนก.ค.ล่าสุดก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอีก 400 ล้านเหรียญสหรัฐ
อันนี้มีความเสี่ยง ถ้าไปกระตุ้นมากๆ จะมีปัญหา เพราะว่าในการบริโภคของคนไทยจะมีสัดส่วนของการนำเข้าถึง 50% ของจีดีพี ถ้าใส่เงินเข้าไป เป็นไปได้มากเลยว่า ถ้าเอาไปบริโภค เงินจะไหลออกไปครึ่งหนึ่งแม้กระทั่งปุ๋ยการเกษตรก็เป็นการนำเข้า 90% ถ้ากระตุ้นแบบนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายที่บอกว่าจะลดภาษี ทำให้น้ำมันดีเซลราคาลดลง ก็จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น
ฉะนั้น ต้องกระตุ้นซัพพลาย ไม่ใช่กระตุ้นดีมานด์ เพราะการกระตุ้นดีมานด์ จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น แล้วก็จะทำให้เกิดขาดดุลแฝด เหมือนในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง คือขาดดุลงบประมาณ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกัน
ส่วนใหญ่ประเทศที่ขาดสองอันพร้อมกัน ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ยกเว้นประเทศที่พิมพ์เงินเองอย่างสหรัฐ ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะมีข้อดีตรงที่ว่า ถ้ามั่นใจว่าขาดดุลเพราะนำเข้าสินค้าทุนมาลงทุนเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับเศรษฐกิจ แล้วจะทำให้เศรษฐกิจในอนาคตโตมากขึ้น มีผลผลิตมากขึ้น แล้วใช้คืนหนี้ได้
เนื่องจากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ตให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ต้องใช้เงินก้อนใหญ่มาก คือ กว่า5 แสนล้านบาท เพิ่มความเสี่ยงเรื่องสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศ โดยรัฐบาลจะต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำเงินไปใช้ทำนโยบาย และอีกส่วนก็ต้องเป็นการหมุนเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ โดยขยายกรอบวงเงินใช้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
...ถ้านโยบายนี้สำเร็จก็จะทำให้จีดีพีเติบโต มีรายได้เงินภาษีเพิ่มขึ้น แต่ถ้านโยบายไม่สำเร็จ คือไม่สามารถทำให้จีดีพีขยายตัวได้ตามคาดหวัง ก็จะทำให้รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณมากขึ้น และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะสูงขึ้น เพราะจีดีพีไม่ได้ขยายตัว
...นโยบายการแจกเงินเป็นการกระตุ้นดีมานด์ในการบริโภคของประชาชน ไม่ได้จูงใจให้เกิดการลงทุนระยะยาว เป็นการกระตุ้นระยะสั้น และโอกาสที่จะให้จีดีพีโต 5% ต่อเนื่องอย่างที่รัฐบาลต้องการยาก
นอกจากนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่แค่ปัญหาระยะยาว แต่ระยะสั้นจะสังเกตได้ว่าเงินบาทเริ่มอ่อน ซึ่งก็จะทำให้เงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นอีก แล้วพอเงินเฟ้อขึ้น ธปท.ก็จะขึ้นดอกเบี้ยอีก ก็เป็นปัญหาตามมาอีก...” - ดร.ศุภวุฒิอธิบาย
สุดท้าย... ขณะนี้ รัฐบาลเศรษฐาเองก็ยังว้าวุ่น
ยังตอบไม่ได้ว่า จะนำเงินจากไหนมาแจก 5.6 แสนล้านบาท
ถ้ายังเดินหน้าต่อ มันคือ การเอาประเทศไปวางเดิมพันแบบเทหมดหน้าตัก เพื่อใคร?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี