“20.2 ล้านคน” เป็นจำนวนของ “แรงงานนอกระบบ”ตามรายงาน “การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2565”โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากจำนวนคนไทยที่มีงานทำทั้งหมดในปีนั้นคือ 39.6 ล้านคน ในขณะที่แรงงานในระบบมีอยู่ 19.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนแรงงานนอกระบบกับในระบบ อยู่ที่ร้อยละ 51 ต่อร้อยละ 49 และหากไปดูสถิติในปีก่อนๆ ก็จะพบว่าแทบไม่แตกต่างกัน จึงพอสรุปได้ว่า แรงงานนอกระบบถือเป็นกำลังแรงงานส่วนใหญ่ในไทย
อาชีพที่แรงงานนอกระบบนิยมทำมากที่สุดอันดับ 1 เกษตรกร (เกือบ 11.2 ล้านคน) อันดับ 2ค้าขายหรือรับซ่อมยานพาหนะ(ราว 3.4 ล้านคน)อันดับ 3 ที่พักแรมและบริการอาหาร (กว่า 1.7 ล้านคน)ทั้งนี้ นิยามของแรงงานนอกระบบ หมายถึงผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ แตกต่างจากแรงงานในระบบ ที่หมายถึง ผู้มีงานทำที่ได้รับความคุ้มครองหรือหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน เช่น ข้าราชการที่มีระบบสวัสดิการ ลูกจ้างเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นต้น
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น รายงานการศึกษาฉบับร่างและข้อเสนอเชิงนโยบายการบริการจัดการ “กองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ” ณ รร.เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯซึ่งกองทุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “(ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ..” ที่กระทรวงแรงงานจัดทำขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
วัตถุประสงค์ของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการประกอบอาชีพและใช้จ่ายเกี่ยวกับ
การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งที่ผ่านมา แรงงานนอกระบบประสบปัญหา เช่น รายได้หรือค่าตอบแทนที่ไม่ต่อเนื่องแน่นอน ซึ่งเชื่อมโยงกับการเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ตลอดจนการไม่มีสวัสดิการ อาทิ การคุ้มครองและเยียวยาจากสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย วันหยุด ชั่วโมงการทำงาน ฯลฯ
รายได้จากกองทุนมาจาก 1.โอนทรัพย์สิน สิทธิ หนี้งบประมาณและรายได้ที่ประกอบเป็นกองทุนสำหรับกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้, เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความจำเป็น และเงินอื่น เช่น ค่าปรับ เงินบริจาค ดอกผลหรือผลประโยชน์อื่น 2.เงินค่าสมาชิกที่ผู้ประกอบอาชีพส่งเข้ากองทุน (720 บาท/ปี) 3.เงินสะสมที่ผู้ประกอบอาชีพจ่ายเข้ากองทุน(ร้อยละ 3 ของค่าตอบแทน) และ 4.เงินสมทบที่ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายเข้ากองทุน (ร้อยละ 3 ของค่าบริการที่เรียกเก็บ)
กองทุนนี้เรียกแรงงานนอกระบบว่า “แรงงานอิสระ” แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้าง-ให้บริการ ผู้ผลิตเนื้อหาที่ไม่ใช่โฆษณาเพื่อเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือบริการอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน (อาทิ ยูทูบเบอร์, อินฟลูเอนเซอร์)ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระตามที่มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพนั้น เป็นต้น กับ 2.ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ เช่น บริการขนส่งคนหรือสิ่งของ หรือรับทำความสะอาด โดยรับงานผ่านผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล และได้รับค่าตอบแทนผ่านผู้ประกอบธุรกิจนั้น(อาทิ ไรเดอร์ส่งอาหาร)
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการขึ้นทะเบียน สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น การพัฒนาฝีมือที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน คุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าถึงหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสม การระงับข้อพิพาทหรือช่วยเหลือในการดำเนินคดี และหากเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุน จะได้สิทธิการกู้เงินจากกองทุน การเข้าถึงประกันภัย ขณะที่สำหรับผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ นอกจากสวัสดิการพื้นฐานเช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอิสระแล้ว หากเข้าร่วมกองทุนจะยังได้รับความคุ้มครองเรื่องเงื่อนไขการให้บริการและค่าตอบแทนที่เป็นธรรมการได้รับใบรับรองการทำงาน การกู้เงินจากกองทุน รวมถึงมีประกันอุบัติเหตุจากการประกอบอาชีพ
“ข้อเสนอแนะ” ต่อการจัดทำกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ 1.การกำหนดทิศทางของกองทุนและการมีส่วนร่วม เน้นการพัฒนาฝีมือและส่งเสริมการรวมกลุ่มของแรงงานเพื่อสร้างเครือข่ายที่มีอำนาจต่อรอง 2.การประชาสัมพันธ์เชิงรุกและการเข้าถึงที่สะดวกและง่าย โดยการเข้าถึงอาจเริ่มจากแรงงานที่ใช้อินเตอร์เนตก่อน 3.รัฐควรเข้ามาสมทบเงินเข้าสู่กองทุน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นต่อกองทุนมากขึ้น อีกทั้งยังนำเงินสมทบนั้นไปเป็นสิทธิประโยชน์ของสมาชิกกองทุนได้
4.ควรทำความร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อบริหารจัดการสินเชื่อ และไม่ควรนำเงินค่าสมาชิก เงินสะสมและเงินสมทบมาใช้ปล่อยสินเชื่อ แต่ควรเป็นเงินจากส่วนอื่น 5.ภาคเอกชนควรมีส่วนร่วมในการทำประกันภัย โดยกองทุนไม่ควรดำเนินการเรื่องนี้เองเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและการบริหารความเสี่ยงตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย และ 6.การสร้างความยั่งยืนด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ โดยเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่นคง และแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามาเป็นผู้บริหารสินทรัพย์นั้นตามแนวทางที่กองทุนกำหนด
ในห้องประชุมยังมีหลากหลายความเห็น อาทิ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบคำถามว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่สถาบันการเงินซึ่งกังวลความเสี่ยงจึงมักไม่ปล่อยเงินกู้ให้กับแรงงานนอกระบบจะร่วมมือกับกองทุน ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การให้ธนาคารเข้าไปบริหารเต็มรูปแบบเพื่อหวังผลกำไร แต่เป็นการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวิเคราะห์การเงิน และไม่ใช่จากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่เป็นธนาคารเฉพาะ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือหากเป็นธนาคารพาณิชย์ รัฐก็อาจต้องมีมาตรการอุดหนุน เช่น รัฐตั้งกองทุนเพื่อค้ำประกันในกรณีปล่อยกู้ไปแล้วเกิดปัญหาค่าใช้จ่ายกันสำรองธนาคาร (Bank Backup)
มงคล ยางงาม รองประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม ตั้งข้อสังเกตเรื่องนิยามของแรงงานอิสระ เช่น อาชีพค้าขายที่มีลูกน้อง จะนับเป็นแรงงานอิสระหรือไม่เพราะอีกสถานะหนึ่งก็ถือเป็นนายจ้างด้วย คนกลุ่มนี้มีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบและต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ขณะที่แรงงานกึ่งอิสระซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในปัจจุบัน ควรนิยามคำว่าลูกจ้างให้ครอบคลุมแรงงานกลุ่มนี้ อนึ่ง แม้แรงงานจะทำงานกับนายจ้างหลายเจ้าก็ไม่ใช่ปัญหาของการเข้าถึงประกันสังคม เพราะมีกฎหมายให้แนวทางการเก็บเงินสมทบอยู่แล้ว
พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) ตั้งคำถามว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือไม่ เพราะหากไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนก็จะไม่ได้รับการดูแลทั้งความปลอดภัยในการทำงาน การพัฒนาทักษะ จึงอยากให้รัฐปรับวิธีคิด (Mindset) ว่าแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ราว 20 ล้านคนนี้ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทย!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี