ช่วงนี้ ผมได้รับคำถามหนึ่งเป็นประจำจากทั้งแวดวงวิชาการ สื่อต่างประเทศ ไปจนถึงฝ่ายการเมือง และนักการทูตต่างประเทศว่า นโยบายของรัฐบาลใหม่ของไทยต่อวิกฤตพม่าเป็นอย่างไร? หรือรัฐบาลใหม่ของไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของไทยต่อพม่าต่างออกไปจากรัฐบาลชุดก่อน (ภายใต้การนำพาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) หรือไม่? อย่างไร?
ทุกครั้ง ผมก็ตอบไปอย่างตรงไปตรงมาว่า ผมเองก็ไม่ทราบว่ารัฐบาลของนายกฯเศรษฐา ทวีสินชุดนี้ จะดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ไทย-พม่าอย่างไร แต่ผมก็เดาเอาว่า น่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางมากนัก ด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลผสมระหว่างฝ่ายทักษิณนำพา กับฝ่ายพลเอกประยุทธ์ นำพา จึงเป็นการยากที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน พร้อมด้วยคุณปานปรีย์ มหิทธานุกรในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะสามารถเปลี่ยนทิศทางนโยบายได้ เนื่องจากฝ่ายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังนั่งค้ำคอ กระดิกเท้าอยู่ข้างๆ
ฉะนั้น หากรัฐบาลนี้จะทำการอย่างไรในเรื่องการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่า นายกฯ เศรษฐา ทวีสินและรัฐมนตรีต่างประเทศ ปานปรีย์ มหิทธานุกร พร้อมด้วย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีกลาโหม ก็ยังคงต้องไปหารือกับฝ่ายพรรครวมไทยสร้างชาติ และแม่ทัพนายกองทั้งอดีตและปัจจุบันเป็นสำคัญ
ตั้งแต่เกิดการปฏิวัติรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตยโดยฝ่ายกองทัพพม่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายไทยได้ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ รวมทั้งนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการปฏิวัติรัฐประหารพม่า ในการพิจารณาเพื่อช่วยกันแก้ไขวิกฤตพม่า โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำพม่ากลับสู่สังคมประชาธิปไตย และที่ประชุมเมื่อเดือนเมษายน 2565 ได้มีข้อมติหรือข้อตกลงร่วมกัน ว่าด้วยฉันทามติ 5 ประการ (Five Point Consensus) อาทิ การหยุดยิงการร่วมเจรจาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษว่าด้วยเรื่องพม่าของประเทศประธานอาเซียนประจำปีนั้นๆ ซึ่งความดังกล่าวมีผลผูกมัดต่อฝ่ายไทยในการร่วมดำเนินการกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ภายในกรอบฉันทามติ 5 ประการดังกล่าว เพื่อบรรลุเป้าหมายของความสงบสุขและการกลับคืนสู่สังคมประชาธิปไตยของประเทศพม่า
แต่ต่อมาไม่นานก็เริ่มการแตกแถวในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน มีพฤติกรรมการดำเนินการนอกกรอบฉันทามติ 5 ประการ แบบ “ข้าไปคนเดียว” โดยไม่คิดอ่านที่จะปรึกษาหารือล่วงหน้ากับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เพื่อรักษาแนวร่วมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ในกรณีของไทย ฝ่ายไทยก็ได้ไปร่วมกับอินเดีย จัดประชุมแบบ 1.5 คือ ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ฝ่ายราชการและฝ่ายวิชาการ เพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตพม่า โดยฝ่ายไทยอ้างว่าที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะไทยมีชายแดนร่วมกับพม่าถึง 2,400 กว่ากิโลเมตร และเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงต้องพูดจาข้องแวะกับฝ่ายกองทัพพม่าโดยตรง ซึ่งก็เป็นข้ออ้างที่ค่อนข้างแปลก เพราะฝ่ายไทยได้ไปร่วมจัดทำฉันทามติ 5 ประการอย่างเต็มที่ และมิได้ยกความเป็นพิเศษของไทยในเรื่องเขตแดนร่วมกับพม่าดังกล่าวแต่อย่างใด
การดำเนินการของผู้นำกัมพูชาในช่วงปี 2565 ก็ดีและการดำเนินการของฝ่ายไทยในช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 ก็มิได้รับการสนับสนุนจากประเทศอาเซียนหลักๆ อื่นๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็ได้สร้างความไม่สบายใจ และสะท้อนซึ่งความแตกแยก ไม่ลงเอยลงรอยกันภายในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้งก็เป็นการให้ใจกับฝ่ายกองทัพพม่าในการที่จะไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการ และไม่แยแสที่จะให้เกียรติและเคารพประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน
โดยสรุปรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายกองทัพพม่า โดยมิได้คำนึงถึงเรื่องการทำลายระบอบประชาธิปไตย และไม่คำนึงถึงหัวอกของประชาชนพม่าที่ต้องการสิทธิเสรีภาพ และรังเกียจระบบเผด็จการ อีกทั้งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังให้ความช่วยเหลือทางด้านอาหารและของใช้ให้กับฝ่ายกองทัพพม่า ขณะที่ชาวพม่าโดยทั่วไปตกอยู่ในความยากลำบากและคนจำนวนกว่าล้านคนต้องพลัดถิ่นที่อยู่ นอกจากนั้นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังปิดชายแดนไทย-พม่า เพื่อป้องกันมิให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าจากการสู้รบภายในพม่าได้เข้าพักพิงในเขตแดนไทย และแถมยังตีตราว่าผู้คนพม่าเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพราะไม่มีเอกสารเดินทาง หรือเอกสารสำแดงตัวแต่อย่างใดซึ่งก็เป็นการยกข้ออ้างที่ไร้ซึ่งจิตใจแห่งความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ในยามยาก โดยไม่คำนึงถึงต้นเหตุหรือที่ไปที่มาของการที่ชาวพม่าต้องอพยพมาจากบ้านเกิดเมืองนอนของเขา และในการนี้ก็เป็นช่องทางให้เกิดขบวนการค้ามนุษย์ และช่องทางของการทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยวิธีการรีดไถต่างๆ นานา อีกทั้งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ปฏิเสธที่จะรับฟังคำเรียกร้องของวงการไทยและเทศในการอำนวยความสะดวกเพื่อการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อชาวพม่า ทั้งที่พรมแดนไทย-พม่า และลึกเข้าไปในประเทศพม่า โดยหลายๆ ประเทศและองค์กรการกุศลต่างก็มีงบประมาณที่จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และการเปิดทางการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมนั้นก็จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นและโรงงานผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ไปจนถึงโรงงานเวชภัณฑ์ต่างๆ ด้วย ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น มิได้มีภาพกว้างของประเด็นปัญหาและโอกาสที่จะพึงมีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นของไทย และที่สำคัญไทยเรามีประวัติอันดีงามสูงส่งในการเปิดพรมแดน เพื่อให้ผู้ประสบความหายนะต่างๆ ในประเทศของเขาได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของไทย นโยบายและมาตรการของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงออกนอกลู่นอกทางไปอย่างมาก ไม่สอดคล้องกับจิตใจอันดีงามของคนไทยและสังคมไทย
ก็หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ของไทยภายใต้การนำพาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จะได้นำเอาเรื่องนโยบายและท่าทีของไทยต่อวิกฤตพม่ามาทบทวนอย่างขะมักเขม้นและละเอียดถี่ถ้วน เพื่อเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี และความสูงส่งในจิตใจของสังคมไทยต่อผู้ประสบเคราะห์กรรมอย่างแสนสาหัส
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี