ถ้าอยู่ๆ รัฐบาลเศรษฐาเกิดพบเหมืองทองคำใหม่เป็นรายได้ก้อนมหึมาเพิ่มขึ้นมาจากเดิม
หรืออยู่ๆ พบบ่อน้ำมันใหม่ใหญ่กว่าเดิม ใหญ่ยิ่งกว่าซาอุฯ หรือถูกล็อตโต้ได้เงินจากรัฐบาลประเทศอื่นมาสัก1 ล้านล้านบาท ฯลฯ
พูดง่ายๆ ว่า ถ้ารัฐบาลมีรายได้ใหม่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมแบบเฉียบพลันมหาศาล ผมจะไม่คัดค้านโครงการแจกเงิน 10,000 บาทนี้เลย
แต่นี่อะไร... หนี้เก่ายังสุมหัว ทั้งหนี้ระบบสถาบันการเงิน หนี้จำนำข้าว ฯลฯ รัฐบาลยังขาดดุลงบประมาณ ประเทศยังขาดเงินจะเอาไปทำโครงการที่จำเป็นอื่นๆ มากมายด้วยซ้ำ
รัฐบาลยังกู้เงินมาจ่ายในกิจการงานต่างๆ ปีละหลายแสนล้านบาท (งบประมาณขาดดุล)
แล้วรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรี ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน กลับยังดึงดันจะเดินหน้าหาแหล่งยืมเงินมาแจกจ่ายบุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไป กว่า 5.6 แสนล้านบาท !!!
ก่อนหน้านี้ ผมจึงเขียนบทความเตือน เรื่อง “ยืมมาจ่ายกู้มาแจกฯ”
มาวันนี้ มีบุคคลสำคัญ ผู้มีประสบการณ์ความรู้นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ มากหน้าหลายตา ออกมาคัดค้าน เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการจะทำโครงการนี้
แต่นายกฯ เศรษฐา และบริวาร ก็ยังออกมาประกาศเดินหน้าต่อ
ทั้งๆ ที่ ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของผู้ออกมาตักเตือนนั้น น่ารับฟังอย่างยิ่ง
1. การดึงดันทำแบบนี้ ไม่ตรงปก ไม่เหมือนตอนหาเสียงไว้
เพราะตอนหาเสียง พรรคเพื่อไทย นำโดยนายเศรษฐาทวีสิน ประกาศว่าจะแจกเงินหมื่นบาท โดยไม่ต้องกู้เพิ่มสักบาทเดียว
พอเป็นรัฐบาล นายกฯเศรษฐาประกาศเดินหน้าแจกเงินหมื่น ราวๆ เดือน ก.พ.ปีหน้า จะต้องขาดดุลงบประมาณเพิ่ม (ก็คือการต้องกู้เพิ่ม เพื่อเอาเงินไปทำโครงการต่างๆ) และยังไม่พอ จะต้องยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจเพื่อมาแจกเงินหัวละหมื่นบาทอีกต่างหาก !!!!
ในขณะนี้ รัฐบาลเศรษฐายังไม่มีโครงการประกันรายได้เกษตรกร ชาวนา ชาวสวนยางพารา ปาล์มน้ำมันมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ เลย ถ้าราคาตกต่ำก็ต้องใช้เงินเข้ามาช่วยเหลือกันอีก
2. ล่าสุด อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2 ท่านที่ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย มีแต่ผลงานการทำงานที่ตรงไปตรงมา
ได้ลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการทำโครงการแจกเงินหมื่นบาท เนื่องจากเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย
ได้แก่ ดร.วิรไท สันติประภพ และคุณธาริษา วัฒนเกสอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ
ร่วมกับอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ กว่า 100 คน
ในจำนวนนี้ เป็นระดับอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กว่า 6 ท่าน
ที่เหลือ ก็ล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์มหภาค
ที่สำคัญ ท่านเหล่านี้ ไม่ใช่นักวิชาการประเภท “หิวแสง”หรือ “ด้อมส้ม ก้าวไกลการละคร”
แต่แสดงเหตุผลอย่างมีน้ำหนัก ไม่เกี่ยวกับขั้วการเมืองใดๆ สมควรรับฟังอย่างตั้งใจอย่างยิ่ง
ถ้ามันไม่สำคัญและจำเป็นต้องคัดค้านจริงๆ ท่านเหล่านี้จะไม่ออกมาแน่นอน
3. เหตุผลที่ท่านเหล่านี้ออกมาคัดค้าน ประเด็นสำคัญบางส่วน ได้แก่
(1) เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว
โดยสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปีนี้ และร้อยละ 3.5 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้น การบริโภคภายในประเทศ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา มีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึงร้อยละ 7.8 ซึ่งสูงที่สุด ใน 20 ปี คิดเป็นกว่า 2 เท่า ของค่าเฉลี่ย 10 ปี คาดว่าปีนี้ทั้งปี จะขยายตัวร้อยละ 6.1 และ 4.6 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า
นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้จะทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation)สูงขึ้น และอาจนำไปสู่สภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด
(2) เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัด ย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ
เงินจำนวนมากถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นต้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป
ค่าเสียโอกาสสำคัญ คือการใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน
(3) การกระตุ้นการขยายตัวของ GDP โดยรัฐแจกเงินจำนวน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบ เป็นการคาดหวังที่เกินจริง
ปัจจุบัน ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลัง สำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ
การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่า นโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย
“ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปใดก็ตาม สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และ/หรือ ราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะเงินเฟ้อ อันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน”
(4) เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565
เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น
หนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่ายคืนหรือกู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปีนี่ยังไม่นับจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงิน digital คนละ 10,000 บาทนี้ด้วย
(5) จะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของประเทศ
ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างก็จำเป็นที่จะต้องมีการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมาก เพื่อใช้จ่ายด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หลังจากวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation)ทั้งนี้ เพื่อสร้าง “ที่ว่างทางการคลัง”(fiscal space) ไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต
“นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาทนี้ ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับภาษี เพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก การทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย”
(6) ไม่เป็นธรรม
การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปีเป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง
เศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น
(7) เพิ่มรายจ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่า
สำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกล จึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด
“ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก ‘นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท’ แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป
เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้น น้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว
แม้รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ต้องไม่ทำลายความยั่งยืนทางการคลัง
หากจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อยก็ควรทำแบบเฉพาะเจาะจง แทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมทุกกลุ่ม
เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทย และความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น”
4. ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนปัจจุบัน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย ห่วงว่าจะกระทบเสถียรภาพการเงิน
หรือแม้แต่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ หนึ่งในผู้มีชื่อในโผเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีคลังของพรรคเพื่อไทยเอง ก็ออกมาเตือน
ระบุว่า การทำโครงการแจกเงิน 5.6 แสนล้าน เป็นเดิมพันสูง เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อ-การบริโภค ไม่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน อาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง-ยั่งยืน เสี่ยงเจอปัญหา “ขาดดุลแฝด” คือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณมากขึ้น
5. พฤติกรรม “กู้มาจ่าย ยืมมาแจก(แบบเหวี่ยงแห) เทหมดหน้าตัก ใครทักก็ไม่ฟัง ดึงดันพังประเทศชาติ”
กำลังเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศชาติอย่างยิ่ง
หากดึงดันเดินต่อ ยิ่งแสดงพิรุธ ว่ามีผลประโยชน์อะไรแอบแฝง
นี่คือ เค้าลางหายนะ!!!
ทบทวนเสียเถอะ
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี