สงครามยุทธหัตถี หมายถึง การสงครามที่พระมหากษัตริย์จะต้องทำการต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานบนหลังช้าง ซึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทยนั้น สงครามยุทธหัตถีครั้งสำคัญที่สุด เกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๓๕ โดยพระเจ้านันทบุเรง แห่งกรุงหงสาวดี พม่า ได้ให้มังสามเกียด พระราชโอรสที่ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชา ยกทัพใหญ่มีกำลังถึง ๒๔๐,๐๐๐ นาย อันประกอบไปด้วย ทัพย่อยสี่ทัพ คือกองทัพเมืองแปร กองทัพเมืองตองอู กองทัพหงสาวดี ที่นำโดยพระมหาอุปราชา ที่เคลื่อนทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้าสู่จังหวัดสุพรรณบุรี และกองทัพเมืองเชียงใหม่ ที่ยกลงมาสมทบ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ของไทย ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า หากกรุงศรีอยุธยาจะตั้งรับอยู่จะเป็นการเสียเปรียบ จึงตัดสินพระทัยนำทัพที่มีกำลังพล ๑๐๐,๐๐๐ นาย เคลื่อนออกจากกรุงศรีอยุธยา โดยมีสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงร่วมนำทัพด้วย จัดขบวนทัพเป็นแบบเบญจเสนา ประกอบด้วย ๕ ทัพคือ ทัพที่ ๑ เป็นกองหน้าทัพที่ ๒ เป็นกองเกียกกาย ซึ่งหมายถึงกองเสบียงทัพที่ 3 เป็นกองหลวง มีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นจอมทัพ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี เป็นปีกขวา เจ้าพระยาจักรีเป็นปีกซ้าย ทัพที่ ๔ เป็นกองยกกระบัตร และทัพที่ ๕ เป็นกองหลัง
กองทัพของกรุงศรีอยุธยายกไปยังตำบลหนองสาหร่าย และตั้งค่ายหลวงอยู่ที่นั่น ในเช้าของวันจันทร์แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเครื่องพิชัยยุทธ โดยสมเด็จพระนเรศวรทรงพระคชาธารนามว่าเจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระคชาธารนามว่าเจ้าพระยาปราบไตรจักร โดยช้างทรงทั้งสองเชือกเป็นช้างชนะงา ถูกฝึกในการต่อสู้มาแล้ว และในขณะนั้นเป็นช้างตกมัน ซึ่งจะมีกำลังมากมาย
ช้างทรงของทั้งสองพระองค์ได้วิ่งฝ่าเข้าไปในกองทัพของพม่า เมื่อฝุ่นตลบได้จางลงก็พบว่าทั้งสองพระองค์ได้ตกเข้าไปอยู่กึ่งกลางของกองทัพหงสาวดี มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงคบาท ซึ่งเป็นทหารที่ประจำเท้าช้างเท่านั้นที่ติดตามไป
สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชา ที่ทรงพระคชาธารชื่อว่าพายพัทธกออยู่ภายใต้ร่มไม้ท่ามกลางแม่ทัพนายกองทั้งหลาย ถึงแม้จะตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึกซึ่งเป็นการเสียเปรียบ แต่ด้วยปฏิญาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวรจึงทรงไสช้างเข้าไปใกล้ และถามพระมหาอุปราชาด้วยความคุ้นเคยตั้งแต่สมัยที่พระองค์ถูกนำไปชุบเลี้ยงโดยพระเจ้าบุเรงนองอยู่ที่กรุงหงสาวดีว่า “พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดิน ภายหน้าไปจะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่ได้ทำยุทธหัตถีแล้ว”
ด้วยความที่เป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ เมื่อพระมหาอุปราชาได้ยิน ดังนั้น จึงไสช้างพายพัทธกอเข้ากระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวร ช้างพลายพัทธกอที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ชนเจ้าพระยาไชยานุภาพจนเสียท่า พระมหาอุปราชาจึงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงพระองค์หลบทัน แต่ถึงกระนั้นพระแสงของ้าวก็ฟันถูกพระมาลาส่วนหนึ่งขาดหายไป จึงเกิดมีคำบันทึกที่เรียกพระมาลาใบนี้ ว่าพระมาลาเบี่ยง
เมื่อช้างเจ้าพระยาไชยานุภาพตั้งหลักได้ จึงชนกระแทกช้างพลายพัทธกอจนเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชาเข้าที่พระอังสะขวา จนสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง
ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้ทรงกระทำยุทธหัตถี กับเจ้าเมืองมังจาปะโร และทรงฟันเจ้าเมืองมังจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน เมื่อทหารพม่าเห็นเช่นนั้นจึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่ทัพหลวงของกรุงศรีอยุธยาตามมาทัน และเข้าช่วยทั้งสองพระองค์กลับออกจากบริเวณที่รบ กองทัพพม่ายกทัพกลับ จึงถือว่ากรุงศรีอยุธยามีชัยต่อกองทัพพม่า
หลังจากยกทัพกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรทรงรับสั่งให้มีการประชุมแม่ทัพนายกองทั้งหลาย และทรงปรึกษาคณะลูกขุนถึงการที่กองทัพส่วนอื่นเสด็จตามทัพหลวงไม่ทัน ซึ่งทำให้พระองค์ทรงตกอยู่ในภยันตราย ซึ่งคณะลูกขุนได้พิจารณาเห็นว่า ควรจะลงโทษให้ประหารชีวิตตามกฎมณเฑียรบาลนายทหาร ๖ นาย คือ พระยาพิชัยสงคราม พระยารามคำแหง เจ้าพระยาจักรี พระยาคลัง พระเทพอรชุน ผู้เป็นแม่ทัพที่ควรจะต้องติดตามพระองค์ให้ทัน และพระยาศรีไสยณรงค์ ซึ่งเป็นทหารเอก
สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ซึ่งเปรียบเสมือนสมเด็จพระราชาคณะในสมัยนั้นและเป็นที่เคารพของสมเด็จพระนเรศวร ได้ถวายพระพรว่าการที่แม่ทัพเหล่านั้นตามเสด็จไม่ทัน ก็เป็นเพราะบุญญาภินิหารของสมเด็จพระนเรศวร ที่จะได้รับการสรรเสริญเกียรติคุณว่าเป็นวีรบุรุษ ด้วยเหตุว่าถ้าเหล่าแม่ทัพทั้งหลายตามเสด็จทันพระองค์ ถึงแม้จะได้รับชัยชนะ ก็จะไม่มีชื่อเสียงใหญ่หลวงเหมือนที่เสด็จไปโดยลำพัง เมื่อพระองค์ได้ฟังดังนั้นก็ทรงเลื่อมใสในคำกล่าวของสมเด็จพระพนรัตน์ จึงเป็นโอกาสที่สมเด็จพระพนรัตน์ได้มีการขอพระราชทานอภัยโทษแก่แม่ทัพเหล่านั้น ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรก็ได้โปรดฯพระราชทานให้
แต่การพระราชทานโทษให้นั้น แม่ทัพทั้งหลายจะต้องทำคุณงามความดี ให้เป็นที่ประจักษ์ โดยให้ยกทัพไปตีเมืองตะนาวศรีและเมืองทวาย ให้ได้รับชัยชนะกลับมา โดยให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพคุมกำลังพล ๕๐,๐๐๐ นาย ไปตีเมืองตะนาวศรี ให้พระยาคลังคุมกำลังพล ๑๐,๐๐๐ นาย ไปตีเมืองทวาย ส่วนแม่ทัพคนอื่นๆ คือพระยาพิชัยสงครามกับพระยารามคำแหงให้ร่วมไปตีเมืองทวายกับพระยาคลัง และพระยาอรชุนกับพระยาศรีไสยณรงค์ไปร่วมตีเมืองตะนาวศรี กับเจ้าพระยาจักรี
ในการไปรบครั้งนี้ แม่ทัพทั้งหลายต่างก็ตระหนักถึงภาระหน้าที่ และความสำนึกต่อการที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และการที่จะต้องตอบแทนคุณของแผ่นดินจึงมีความุ่งมั่นในการเอาชัยชนะ มีความกลมเกลียวในการประสานการรบกันอย่างดียิ่ง และเข้าตีเมืองทั้งสองจนได้รับชัยชนะโดยไม่ยาก ทำให้กรุงศรีอยุธยาได้ครอบครองเมืองทั้งสอง และทำให้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาแผ่ลงไปทางใต้เท่ากับในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
หันกลับมาดูเหตุการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย การที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ได้พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษแก่อดีตนายกรัฐมนตรี โดยลดโทษจาก ๘ ปี เหลือเพียงแค่ ๑ ปีนั้น จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ซึ่งหากอดีตนายกฯพ้นโทษแล้ว ก็ควรจะทำการที่เป็นการตอบแทนคุณแผ่นดินบ้าง และการที่โทษได้ลดลงเหลือเพียง ๑ ปีแล้วนั้นน่าจะเป็นจำนวนปีที่เป็นข้อยุติ การที่ผู้บริหารระดับประเทศหรือหน่วยงานราชการใดๆ อาทิ กรมราชทัณฑ์จะพยายามใช้ระเบียบในการลดโทษให้น้อยลงอีกหลังจากถูกจำขังมาแล้ว ๑ ใน ๓ จึงเป็นเรื่องมิบังควร ทั้งๆ ที่ความจริงยังไม่ได้ถูกจองจำแม้แต่เพียงวันเดียว แต่อ้างเหตุแห่งการเจ็บป่วยหลายโรคและการเป็นผู้สูงอายุ นำไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ โดยเข้าพักรักษาในห้อง VIP ที่น่าจะเป็นห้องพักที่ดีที่สุดของโรงพยาบาลแห่งนั้น และถึงแม้จะเข้ารับการรักษามามากกว่า ๒ เดือน อาการก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร พอที่จะกลับเข้ามารักษาตัวต่อในโรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ได้ ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเกิดความแคลงใจในศักยภาพของโรงพยาบาลดังกล่าว
พรรคการเมืองที่เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน ได้หาเสียงไว้ว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการแจกเงินจำนวน ๑ หมื่นบาทให้แก่ประชาชนทุกคนที่มีอายุ ๑๖ ปีขึ้นไป โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มแจกได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าแหล่งเงินที่อาจจะต้องใช้ถึง ๕๖๐,๐๐๐ ล้านบาทนั้น จะนำมาจากไหน แจกในรูปแบบใด เป็นเงินสดหรือไม่ ขอบเขตบริเวณที่ใช้จะกว้างเพียงใด และในที่สุดโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจและการเงินการคลังโดยรวมของประเทศหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีกระแสข่าวแล้วว่าจะไม่สามารถดำเนินโครงการตามที่พูดไว้ได้ทั้งหมดดังที่เคยหาเสียงไว้ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจะถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชนหรือไม่
แต่ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่ได้เคยพูดไว้ ก็ดูเหมือนกับว่ารัฐบาลได้ให้สิทธิแก่ประชาชนเกือบจะเท่าเทียมกันทั้งหมด ซึ่งเรื่องสิทธิแบบนี้ควรจะถูกนำไปใช้กรณีอื่นๆ ด้วย เช่น กรณีของการจองจำนักโทษด้วย เพราะยังมีนักโทษที่เป็นผู้สูงอายุและเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหลายโรค ที่ควรจะต้องได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิอีกมาก ที่ไม่ได้รับสิทธิเหมือนกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดลักษณะของการเลือกปฏิบัติ จนกระทั่งมีคนพูดกันว่า คุกเป็นสถานที่สำหรับคนจน ซึ่งคงหมายถึงคนที่ไม่มีเส้นสายและพละกำลังใดๆ ในการต่อสู้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศที่รัฐบาลใดๆ ที่เข้ามาบริหารก็ชอบอ้างว่า ประเทศนี้จะต้องเป็นประชาธิปไตยประชาชนต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน
การเข้ามาบริหารบ้านเมือง ถือว่าเป็นการทดแทนคุณแผ่นดิน ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเท่านั้น
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี