ประวัติศาสตร์ชาติไทย หากนับตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๑๗๙๒ ก็ต้องนับว่า มีประวัติที่ยาวนานมาเกือบจะ ๘๐๐ ปีแล้ว มีกษัตริย์ปกครองมารวมทั้งสิ้น ๕๓ พระองค์ และประวัติที่น่าสนใจส่วนหนึ่งนั้นอยู่ในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้เป็นมหาราชองค์ที่ ๑ ของชาติไทย ซึ่งพระองค์ได้ทรงกู้ชาติให้กลับมามีอิสรเสรีภาพ หลังจากที่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรหงสาวดี โดยพระองค์ทรงประกาศอิสรภาพในปีพ.ศ.๒๑๒๗
พระมหากษัตริย์ไทยเกือบจะทุกพระองค์ในอดีตสมัยนั้น หากมีการศึกสงครามเกิดขึ้น จะเป็นผู้นำทัพในการเข้าต่อสู้กับอริราชศัตรูเสมอ เฉกเช่นสมเด็จพระนเรศวรที่ทรงนำทัพในปี พุ.ศ.๒๑๓๕ เพื่อเข้าต่อสู้กับทัพของหงสาวดี ที่นำมาโดยมหาอุปราชามังกยอชวา หรือ มังสามเกียด และได้เกิดศึกที่ถูกจารึกไว้ว่าเป็นศึกที่สำคัญครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ของชาติ คือสงครามยุทธหัตถี ที่เป็นการสู้รบ ระหว่างแม่ทัพระดับพระมหากษัตริย์บนหลังช้าง
กองทัพของหงสาวดีที่ยกมาในครั้งนั้นมีกำลังถึง ๒๔๐,๐๐๐ คน โดยยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี และด่านแม่ละเมา จังหวัดตาก ประกอบด้วยทัพของเมืองแปร ตองอูและหงสาวดี และยังมีทัพจากเชียงใหม่มาสมทบด้วย
สมเด็จพระนเรศวรได้จัดกองทัพของอยุธยาเป็นรูปแบบเป็นเบญจเสนา ๕ ทัพ ทัพที่ ๑ เป็นกองทัพหน้า มีพระยาสีหราชเดโชชัยเป็นนายทัพ ทัพที่ ๒ เป็นกองเกียกกาย มีพระยาเทพอรชุนเป็นนายทัพ ทัพที่ ๓ เป็นกองหลวง สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นจอมทัพเอง ทัพที่ ๔ เป็นกองยกกระบัตร มีพระยาพระคลังเป็นนายทัพ และทัพที่ ๕ เป็นกองหลัง มีพระยาท้ายน้ำเป็นนายทัพ โดยทัพของกรุงศรีอยุธยา ยกออกไปตั้งรับทัพพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย สุพรรณบุรี
ทัพหน้านั้นจะทำหน้าที่เป็นกองลาดตระเวน เพื่อเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของทัพพม่าด้วย ทัพนี้มีนายทหารซึ่งถือว่าเป็นขุนศึกคู่ใจ ของสมเด็จพระนเรศวรร่วมอยู่ในกระบวนทัพด้วยคือพระยาศรีไสยณรงค์
สงครามยุทธหัตถีเกิดขึ้นในวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๑๓๕ โดยช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถพระอนุชา ซึ่งเป็นช้างชนะงาทั้ง ๒ เชือก และกำลังตกมัน เมื่อเจอกับทัพของข้าศึกจึงวิ่งเข้าไปหา และทำให้ตกอยู่ในวงล้อมของทัพหงสาวดี โดยทหารติดตามทั้งหลายไม่สามารถจะตามเข้าไปทัน มีเพียงจาตุลังคบาทเท่านั้นที่ติดตามไป
จนเมื่อฝุ่นตลบที่เกิดขึ้นจางหายไป ก็ปรากฏว่าพระองค์ซึ่งประทับอยู่บนหลังช้างทรงเจ้าพระยาไชยานุภาพ กำลังเผชิญหน้าอยู่กับจอมทัพของพม่าคือพระมหาอุปราชามังกยอชวา ที่ประทับอยู่บนหลังช้างพลายพัทธกอ ในขณะที่สมเด็จพระเอกาทศรถก็เผชิญหน้าอยู่กับมังจาปะโร
ในที่สุดก็เกิดสงครามยุทธหัตถีขึ้นและสมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยต่อพระมหาอุปราชา ในขณะที่พระเอกาทศรถก็มีชัยต่อมังจาปะโร และทำให้พม่าต้องถอยทัพกลับไป นับเป็นชัยชนะของอาณาจักรอยุธยาต่ออาณาจักรหงสาวดี
เมื่อทัพของกรุงศรีอยุธยาทั้งหมดยกกลับมาเรียบร้อยแล้ว จึงมีการประชุม แม่ทัพนายกองทั้งหลายสมเด็จพระนเรศวรทรงพระพิโรธที่ขุนศึกคู่ใจคือพระยาศรีไสยณรงค์และแม่ทัพอื่นๆ ไม่สามารถจะตามเสด็จได้ทัน จึงโปรดให้ประหารชีวิต แต่สมเด็จพระพันรัตน์ วัดป่าแก้วได้ขอไว้
ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงยินยอม แต่เพื่อเป็นการชดใช้ความผิดที่เกิดขึ้นจึงให้พระยาศรีไสยณรงค์ยกทัพไปตีเมืองทวายและตะนาวศรีให้สำเร็จ ซึ่งพระยาศรีไสยณรงค์ก็ทำการดังกล่าวได้ จึงโปรดให้อยู่ครองเมืองตะนาวศรี
เหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระยาศรีไสยณรงค์ได้ก่อการกบฏ ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะมาจากน้อยใจที่สมเด็จพระนเรศวรไม่ได้ให้ร่วมทัพในการยกไปตีพญาละแวกที่เมืองกัมพูชาด้วย
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทราบข่าว มีรับสั่งให้สมเด็จพระเอกาทศรถยกทัพไปเกลี้ยกล่อม แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงรับสั่งให้จับตัวและประหารชีวิตในที่สุด
จะเห็นได้ว่าโดยอาญาแผ่นดินแล้ว ผู้ที่กระทำผิดคิดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ จะมีโทษสถานเดียวคือประหารชีวิต จากตัวอย่างที่เล่ามาแล้วจะเห็นว่า ในความผิดครั้งแรกของพระยาศรีไสยณรงค์ ที่ไม่สามารถจะติดตามอารักขาพระมหากษัตริย์ในสนามรบได้นั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงนิรโทษกรรมให้ ตามคำขอของสมเด็จพระพันรัตน์ แต่ในกรณีหลังที่เป็นการก่อกบฏ อันเป็นการแสดงถึงการเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมหากษัตริย์นั้น จะมีโทษคือการประหารชีวิตเพียงสถานเดียว
การเมืองไทยขณะนี้ อยู่ในระหว่างการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีญัตติสำคัญที่เข้าสู่การพิจารณา ๒ ญัตติด้วยกัน ญัตติแรกคือพระราชบัญญัติ สถานบันเทิงครบวงจร ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว และนำเสนอให้สภาพิจารณา แต่เนื่องจากกระแสต่อต้านของภาคประชาชน นักวิชาการ ตลอดจนผู้นำศาสนาในหลายศาสนา ทำให้ต้องมีการขอถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อนตามที่สภาได้ลงมติ แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าญัตติดังกล่าว จะไม่ถูกนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาอีกในอนาคต
แต่มีอีกญัตติหนึ่งซึ่งถือว่าสำคัญมาก คือร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งมีพรรคการเมืองและคณะบุคคลนำเสนอจำนวน ๕ ร่าง ให้สภาได้พิจารณาเห็นชอบในวาระแรก
เนื้อหาสาระของร่างที่นำเสนอนั้นแบ่งได้ออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเสนอให้นิรโทษกรรมผู้ที่กระทำผิดคดีอาญาที่เกิดจากความเห็นต่างทางด้านการเมือง ย้อนหลังไปถึง ๒๐ ปี ร่วมกับความผิดจากการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง และความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ที่เป็นเรื่องของการคุ้มครองพระมหากษัตริย์
ส่วนกลุ่มที่ ๒ นั้น เสนอให้นิรโทษกรรมผู้ที่กระทำผิดคดีอาญา ที่เกิดจากความเห็นต่างทางด้านการเมืองเท่านั้น
ในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาความไม่สงบและความไม่สมัครสมานสามัคคีของคนในชาติเกิดจากความเห็นต่างทางด้านการเมืองพอสมควร จนทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ผ่านมาเป็นระยะเวลาหนึ่งที่นานพอสมควรแล้ว การนิรโทษกรรมจึงเป็นสิ่งที่น่าจะกระทำได้ และเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่น่าจะมีข้อโต้แย้ง
ส่วนการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่นต่อชาติบ้านเมืองนั้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะได้รับนิรโทษกรรม เพราะเป็นการทำให้บ้านเมืองได้รับความเสียหาย หากมีการนิรโทษกรรมก็จะเป็นตัวอย่างที่ให้ผู้ที่เข้ามาบริหารบ้านเมือง คิดที่จะกระทำการในเรื่องดังกล่าวได้อีก โดยหวังว่าในอนาคตก็น่าจะได้รับการนิรโทษกรรมได้เช่นกัน
ส่วนการนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำผิดในมาตรา 112 นั้น เป็น เรื่องที่ไม่ควรจะได้รับการพิจารณา เพราะเรื่องนี้โดยแท้จริงแล้วไม่ใช่เป็นเรื่องของความเห็นต่างทางการเมือง แต่เป็นความจงใจของกลุ่มคนที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่สร้างชาติมาตั้งแต่อดีตกาล องค์พระมหากษัตริย์และราชวงศ์ควรจะต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งความจริงนั้นไม่ได้ต่างกับประชาชนทั่วไป ก็ที่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกัน
เหตุการณ์ที่เป็นการละเมิดมาตรา ๑๑๒ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น มีกระบวนการที่หนุนหลังให้คนส่วนหนึ่ง โดยแกนนำคือกลุ่มนักการเมืองที่คิดว่าตัวเองเป็นพวกหัวก้าวหน้า และอาจจะบ้าในประชาธิปไตยจอมปลอมด้วย ทำการปั่นหัวให้เกิดความเกลียดชังต่อสถาบัน โดยการสื่อสารในหลายรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งการใช้โซเชียลมีเดีย เป็นลักษณะกล่าวหาและปลุกปั่นทั้งๆ ที่สถาบันไม่เคยกระทำเรื่องร้ายใดๆ กับประชาชน และเมื่อถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจนมีผู้ต้องโทษจำขัง ก็อ้างว่าเป็นความผิดแค่ความเห็นต่างทางการเมือง แต่ภาครัฐใช้นิติสงครามมาจัดการกับประชาชน
หากคนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย และไม่กระทำผิดใดๆ ก็ไม่มีใครสามารถจะลงโทษได้ แต่เมื่อกระทำผิดก็หาว่าถูกกลั่นแกล้ง และกล่าวหา กระบวนการของภาครัฐว่าใช้นิติสงคราม คือใช้กฎหมายมาจัดการกับประชาชน ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเอาความคิดและความเห็นของตัวเองและหมู่คณะเป็นที่ตั้ง ไม่ยอมรับว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่ล่วงเกินต่อผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
ชาติจะอยู่ได้และสังคมจะอยู่ได้ คนที่อยู่ในสังคมต้องเคารพกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้น เมื่อทำผิดกฎหมายจึงไม่อาจจะอ้างได้ว่ากฎหมายที่มีอยู่เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรม จนมีความพยายามที่จะแก้กฎหมาย เป็นความคิดที่ผิดอย่างสิ้นเชิง จึงหวังว่าสภาจะลงมติไม่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้งในส่วนทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง และการกระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี