เพิ่งนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการติดตามกำกับดูแล ร.ฟ.ท และ ขสมก. ให้มีคุณภาพบริการที่ดีคุ้มกับการจ่ายเงินอุดหนุน
ก็ต้องเพิ่มเติมอีก 1 กรณี นั่นคือ การดำเนินนโยบายการเมืองอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานรัฐ คือ ร.ฟ.ท. และ รฟม.
ค่ารถไฟฟ้า 20 บาท สายสีแดง (ร.ฟ.ท.) และสายสีม่วง (รฟม.)
กรณีเช่นนี้ ก็คืออีกหนึ่งรูปแบบของการเอาเงินหลวงไปอุดหนุนแทรกแซง เพื่อให้ผู้โดยสารได้จ่ายค่าโดยสารถูกลง
โดยรัฐแบกรับ หรือจ่ายชดเชย หรือยอมเสียผลประโยชน์ส่วนอื่นแทน
จะประเมินว่าคุ้มหรือไม่คุ้มอย่างไร?
1. การประเมินจะเอาแค่ว่าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างเดียว คงไม่ใช่
เพราะจำนวนผู้โดยสารจะต้องสูงขึ้นอยู่แล้ว
แต่สำคัญ คือ จะเพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะมาชดเชยรายได้ต่อหัวผู้โดยสารที่ลดลงไปแค่ไหน
อย่าลืมว่า โครงการอุดหนุนลักษณะนี้ คือ การเอาเงินของคนทั้งประเทศมาอุดหนุนค่าโดยสารให้คนในกรุงเทพฯ
2. ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้แนวทางประเมินไปแล้ว
ระบุว่า “อ่วม ! 20 บาทตลอดสาย ฉุดรายได้รถไฟฟ้า “แดง-ม่วง” วูบ”
“1. การประเมินผลใน 1 สัปดาห์
1.1 ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย
เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 ต.ค. 2566 ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 ต.ค. 2566 ยกเว้นวันศุกร์ที่ 13 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันหยุด ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันทำงานได้
1.2 ระยะเวลา 1 สัปดาห์ หลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย
เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 ต.ค. 2566 ถึงวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค. 2566 ยกเว้นวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันทำงาน ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับวันศุกร์ที่ 13 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดได้
2. รายได้รถไฟฟ้า 1 สัปดาห์ ก่อนและหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย
2.1 รายได้รถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดงก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย 1 สัปดาห์ มีรายได้เฉลี่ยวันละ 0.65 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 0.5 ล้านบาท นั่นคือรายได้ลดลงเฉลี่ยวันละ 0.15 ล้านบาท คิดเป็น 23%
การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ให้เดินรถไฟฟ้าสายสีแดงพร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษาเฉลี่ยวันละ 1.31 ล้านบาท ดังนั้น ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย ร.ฟ.ท. ขาดทุนเฉลี่ยวันละ 0.66 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย ขาดทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 0.81 ล้านบาท
2.2 รายได้รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วงก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย 1 สัปดาห์ มีรายได้เฉลี่ยวันละ 1.3 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 0.8 ล้านบาท นั่นคือรายได้ลดลงเฉลี่ยวันละ 0.5 ล้านบาท คิดเป็น 38%
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้เดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงพร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษาเฉลี่ยวันละ 7.39 ล้านบาท ดังนั้น ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย รฟม. ขาดทุนเฉลี่ยวันละ 6.09 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย ขาดทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 6.59 ล้านบาท
2.3 หลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 7.4 ล้านบาท จากเดิมขาดทุนวันละ 6.7 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายม่วงก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย 1 สัปดาห์ มีรายได้รวมกันเฉลี่ยวันละ 1.95 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 1.3 ล้านบาทนั่นคือรายได้ลดลงเฉลี่ยวันละ 0.65 ล้านบาท คิดเป็น 33%
ร.ฟ.ท. และ รฟม. จ่ายค่าจ้างเดินรถพร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงรวมกันวันละ 8.7 ล้านบาท ดังนั้น ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย ร.ฟ.ท. และ รฟม. ขาดทุนเฉลี่ยรวมกันวันละ 6.75 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย ขาดทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 7.4 ล้านบาท
3. สรุป
ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พบว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นรวมกัน 5.6% แต่รายได้ลดลงถึง 33% ทำให้ ร.ฟ.ท. และ รฟม. ขาดทุนรวมกันเพิ่มขึ้นจากวันละ 6.75 ล้านบาท เป็นวันละ 7.4 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ รมว. คมนาคม ผู้นำนโยบาย 20 บาทตลอดสายมาใช้ จะต้องโชว์ฝีมือทำให้การขาดทุนลดลงให้ได้ จนกระทั่งไม่ขาดทุนเลยหรือได้กำไรตามที่ได้ประกาศไว้ โดยจะต้องหาทางทำให้มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญให้ได้”
3. จะเห็นได้ว่า การแทรงแซงลักษณะนี้ มีต้นทุนที่ต้องแบกรับ
ต้องประเมินความคุ้มค่า
รวมถึงคุณภาพบริการที่ประชาชนผู้ใบริการได้รับด้วย เช่นเดียวโครงการอุดหนุนอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
สิ่งที่ร.ฟ.ท.ควรทำ คืออะไร?
วันก่อน นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้นโยบายแก่ร.ฟ.ท. มีหลายเรื่องน่าสนใจ และขอสนับสนุนให้ดำเนินการให้สำเร็จ
ยกตัวอย่าง นโยบาย Quick Win “คมนาคม ของประชาชน”
ให้การรถไฟฯ มีการทยอยเปิดเดินรถในพื้นที่ก่อสร้างทางคู่ช่วงที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2566 เพื่อช่วยลดระยะเวลาเดินทางแก่ประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังมาถึง ซึ่งจะมีประชาชนเดินทางจำนวนมาก ตลอดจนเร่งรัดการก่อสร้างทางคู่ระยะที่1 ในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามแผนที่กำหนด
ให้ดำเนินแผน Quick Win ด้านเทคโนโลยี สำหรับดูแลบริการเดินรถ ประกอบด้วย การนำรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ EV on Train มาส่งเสริมการใช้ขนส่งสินค้าเพื่อลดการใช้น้ำมันดีเซล การติดตั้งระบบติดตามขบวนรถไฟและจัดการขนส่งสินค้าของการรถไฟ ในโครงการก่อสร้างทางคู่ การติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติซึ่งเป็นเทคโนโลยีควบคุมการเดินรถที่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
“การรถไฟฯ ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ มีบทบาทสำคัญ ในการให้บริการอำนวยความสะดวกแก่ภาคประชาชน
โดยมีรถโดยสารในเส้นทางสายต่างๆ กว่า 212 ขบวนต่อวัน การขนส่งสินค้าที่มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ 78 ขบวนต่อวัน
ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนการลงทุนเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ ผ่านโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
และยังมีทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์ได้อีกมาก จึงมีโอกาสที่จะเติบโต และสร้างประโยชน์ได้อีกมาก ดังนั้น เป้าหมายสำคัญจะต้องทำให้การรถไฟฯ กลับมาเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนระบบการขนส่งทางรางของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ” - นายสุรพงษ์กล่าวว่า
นอกจากนี้ ยังให้การรถไฟฯ ในการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจด้านคมนาคมการขนส่งทางราง ด้านต่างๆ ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดทุน การเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งสินค้า เพื่อใช้เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับการรถไฟฯ โดยปัจจุบันขบวนรถสินค้าที่ให้บริการ 78 ขบวนต่อวัน ในปีงบประมาณ 2566 มีปริมาณการขนส่งสินค้า จำนวน 12.04 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ จำนวน 2,143.11 ล้านบาท ดังนั้น แนวทางต่อไปจะต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนหันมาใช้ระบบขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางราง ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงการคมนาคมอื่นๆ ตลอดจน
เพิ่มบริการรับขนส่งสินค้าหลายประเภทในหลายเส้นทาง ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ถือว่าเป็นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนที่ถูกกว่าทางถนน และสามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้
2. การอำนวยความสะดวกดูแลการขนส่งเดินทางแก่ผู้โดยสาร ทั้งขบวนรถทางไกลในส่วนของรถเชิงพาณิชย์ และรถโดยสารเชิงสังคม ขบวนรถท่องเที่ยว ตลอดจนให้การรถไฟฯ เข้าไปช่วยดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผ่านรูปแบบรถไฟชานเมือง ขบวนรถธรรมดาและขบวนรถท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันขบวนรถที่ให้บริการ 212 ขบวน/วัน แบ่งเป็นขบวนรถไฟทางไกลให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในเส้นทางสายเหนือ สายใต้สายตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวนต่อวันและขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา ขบวนรถนำเที่ยว ที่ให้บริการที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จำนวน 62 ขบวนต่อวัน นอกจากนั้น จะเป็นขบวนรถท้องถิ่นที่ให้บริการระหว่างจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
3. มุ่งลดค่าครองชีพแก่พี่น้องประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล โดยให้ขบวนรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน ดำเนินการปรับลดค่าโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดงสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย โดยเป้าหมายนอกจากจะช่วยลดรายจ่ายแก่ประชาชนแล้ว ยังคาดว่าจะกระตุ้นให้มีผู้โดยสารหันมาใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงมากขึ้นจากเฉลี่ย 19,200 คนต่อวัน เพิ่มเป็น 25,000 คนต่อวัน (ควรมีการติดตามประเมิน)
4. การแก้ปัญหาจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ - รถยนต์ที่ผิดกฎหมายหรือทางลักผ่าน ต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์
5. การเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของการรถไฟฯ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน(ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา - หนองคาย) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ผ่านการร่วมทุนกับภาคเอกชนในรูปแบบ (PPP) ตลอดจนจะมีการติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟทางสายใหม่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือการศึกษาให้ดำเนินการได้เสร็จสิ้นไว้กว่า หรือเป็นตามแผนที่กำหนดไว้
6. การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทรัพย์สินของการรถไฟ เช่น การนำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ด้านการเดินรถ หรือพื้นที่เชิงพาณิชย์ Non - Core มาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อหารายได้จากการให้เช่า ผ่านการบริหารจัดการโดยบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟ รับไปดำเนินการ โดยให้นำเสนอแผนการดำเนินการต่างๆ เช่น การส่งมอบรับมอบทรัพย์สิน แผนการตลาด ให้จัดทำ Timeline ให้ชัดเจน
เรื่องพวกนี้ ขอสนับสนุนให้ลงมือทำอย่างจริงจังครับ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี