ฝ่ายกองทัพพม่าได้ทำการปฏิวัติรัฐประหารเลิกล้มระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยไปตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนบัดนี้ระยะเวลาก็ล่วงมาแล้วเกือบ 3 ปี แต่ทว่าฝ่ายกองทัพพม่าก็ยังไม่สามารถยึดอำนาจปกครองประเทศทั้งประเทศได้ เสมือนว่าการปฏิวัติรัฐประหารยังไม่แล้วเสร็จ
เหตุที่ยังไม่แล้วเสร็จก็เพราะว่า ชาวพม่าทุกหมู่ทุกวัย ทุกแวดวง ทุกชาติพันธุ์น้อยใหญ่ (พม่า ฉาน (ไทใหญ่) มอญ กะเหรี่ยง คายัค(กะเหรี่ยงแดง) คะฉิ่น ยะไข่ โรฮีนจามุสลิม ว้า
เป็นต้น) ต่างก็ได้ออกมาร่วม หรือประสานกันในการต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร และช่วยกันจับอาวุธขึ้นสู้รบกับกองกำลังกองทัพพม่าทั่วประเทศ
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาฝ่ายกองทัพพม่าต้องกระจายกำลังไปทั่วประเทศ และไม่สามารถเอาชนะกองกำลังของฝ่ายต่อต้านต่างๆ ได้โดยล่าสุด ฝ่ายกองกำลังของคะฉิ่น กะเหรี่ยง และฉาน ที่ร่วมกันต่อสู้กับฝ่ายกองทัพพม่ามาอย่างแข็งขัน ได้ตีกองกำลังของฝ่ายกองทัพพม่ากระเจิดกระเจิง แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายกองทัพพม่าไม่สามารถที่จะปราบปรามฝ่ายต่อต้านให้เบ็ดเสร็จได้ทั่วประเทศ แม้ว่าจะมีอาวุธที่เหนือกว่า เช่น เครื่องบิน และปืนใหญ่ แต่มิได้เป็นตัวแปรอันสำคัญในการสู้รบทางภาคพื้นดิน อีกทั้ง น้ำมันเครื่องบินและชิ้นส่วนที่ครอบครองอยู่ก็หร่อยหรอ และการจัดหาใหม่ก็เผชิญกับมาตรการการคว่ำบาตรและมิตรประเทศของฝ่ายกองทัพ เช่น จีน รัสเซีย และอินเดีย ก็มีความระมัดระวังต่อเสียงของชาวโลกในเรื่องการสนับสนุนค้ำจุนรัฐบาลกองทัพพม่ามากยิ่งขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายรัฐบาลกองทัพพม่าก็อยู่ในฐานะเสือลำบากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ได้เพียรพยายามที่จะโน้มน้าวต่อรองกับฝ่ายชนกลุ่มน้อย และกลุ่มต่อต้านชาติพันธุ์พม่าด้วยกัน เพื่อให้มาร่วมมือกัน แต่ก็ยังมิได้ประสบความสำเร็จใดๆ
มาบัดนี้ ก็เริ่มมีข่าวคราวออกมาจากภายในฝ่ายกองทัพพม่าว่า เริ่มมีปฏิกิริยาในเชิงลบไม่พึงพอใจต่อความเป็นผู้นำของนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย มากยิ่งขึ้น และทางฝ่ายกองทัพพม่าเริ่มที่จะคิดอ่านที่จะขอเปิดการเจรจากับฝ่ายต่อต้านทั้งหมด เป็นการสะท้อนว่าฝ่ายกองทัพพม่าเริ่มรับทราบความเป็นจริงของสถานการณ์ว่า จะดึงดันกับการครองอำนาจรัฐแต่ผู้เดียวนั้นเป็นเรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งชาวโลกและชาวพม่าทั้งหลายเองก็ต้องติดตามดูว่า ฝ่ายกองทัพพม่าจะมีข้อเสนอใดว่าด้วยการหยุดยิง และว่าด้วยรูปแบบหรือโครงสร้างของประเทศพม่าแบบใหม่ที่จะอำนวยให้ฝ่ายกองทัพและฝ่ายชาติพันธุ์พม่าซึ่งเป็นชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่สุดสามารถที่จะอยู่กับชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ของพม่าอย่างไร
ในการนี้ฝ่ายประชาคมอาเซียนซึ่งได้เคยมีข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตพม่าที่เรียกว่า ฉันทามติ 5 ประการ (Five Point Consensus) ก็อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการปรึกษาหารือและเป็นตัวเชื่อมระหว่างฝ่ายรัฐบาลกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านที่ประกอบด้วยชาติพันธุ์พม่าและชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพื่อให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงหรือการหยุดยิง การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และการจัดเวทีการประชุมหารือระหว่างฝ่ายต่างๆ ของพม่า เป็นต้น
ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ในพม่า ก็อยู่ในฐานะที่จะมีบทบาทนำในกรอบประชาคมอาเซียนได้ ก็ขึ้นอยู่ว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีกลาโหม จะร่วมกันปรึกษาหารือและกำหนดบทบาทของฝ่ายไทยอย่างไร ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตแม่ทัพบกก็มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับฝ่ายผู้นำกองทัพพม่า ก็น่าจะเป็นผู้หนึ่งที่ฝ่ายรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะได้คิดแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทย ในการช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเชิงสงครามกลางเมืองที่พม่าได้อีกแรง
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี