พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงผนวชแล้ว ต่อมาก็ทรงตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นเป็นนิกายใหม่ในราชอาณาจักรไทย แต่แท้จริงก็เป็นนิกายฝ่ายหินยานหรือเถรวาท ที่จากอินเดียแล้วก็แยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งก็ไปทางศรีลังกาและพม่า อีกสายหนึ่งก็ไปทางจีน ส่วนสายที่มาทางศรีลังกาและพม่านั้นก็ยังแยกออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เน้นทางสายบ้านกับสายป่า หรือสายคามวาสีกับอรัญวาสี
ทางพม่านั้นเป็นสายอรัญวาสี แต่ก็เคร่งครัดในการทรงจำพระไตรปิฎก มิหนำซ้ำยังเน้นหนักไปในทางการศึกษาวิทยาการทางด้านการศึกสงคราม จนมีสำนักใหญ่ในพม่าหลายสำนักตลอดมาเฉพาะที่คนไทยรู้จักดีก็คือสำนักวัดกุโสดอเจ้าขรัวอาจารย์ของตะเบ็งชะเวตี้และบุเรงนอง
ต่อมาพระมหาเถรคันฉ่อง พระภิกษุมอญในสายนี้ก็ได้ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรเข้ามายังประเทศไทย แล้วขยับขยายสายสำนักทั้งในอยุธยา ทางใต้และทางเหนือ ดังที่พรรณนามาแล้วนั้น พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ก็ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาสายนี้ จึงทรงจัดตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้น
แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าบรรดาพระที่เข้ามาสังกัดธรรมยุติกนิกายทั้งใหม่และเก่ามักจะมีความเกี่ยวข้องกับบรรดานักรบหรือผู้ที่มีความศรัทธาในพระสมเด็จ จะเรียกว่ามีพระสมเด็จประจำตัวกันทุกคน จนมีการกล่าวขานกันว่าเด็กวัดหรือเลกวัดหรือทายกทายิกาทั้งหลายของวัดล้วนเป็นมูลนายของพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย บ้างถึงขนาดกล่าวว่าเป็นมูลนายของขรัวโต
เพราะตลอดช่วงเวลานั้นพระมหาโตออกธุดงค์ไปทั่วทุกหนแห่ง ซึ่งปกติวิสัยพระธุดงค์ก็จะทรงกรรมฐานบำเพ็ญภาวนาในสัมมาสติ สัมมาสมาธิเพื่อเจริญปัญญา จะไม่มีวันเวลาที่จะทำธุระอย่างอื่น โดยเฉพาะธุระทางโลกหรือเนื่องกับทางโลก
แต่เป็นเรื่องแปลกตรงที่พระมหาโตหรือขรัวโตธุดงค์ไปถึงไหนต่อไหนก็ได้สร้างพระสมเด็จขึ้นในหลายที่หลายแห่งและสร้างกันเป็นล่ำเป็นสัน นี่คือเหตุผลและที่มาว่าทำไมพระสมเด็จจึงมีเป็นจำนวนมาก
การสร้างพระในยุคนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากมาก ไหนจะเรื่องระดมหามวลสารมาทำเป็นองค์พระ ไหนจะต้องจัดทำผงศักดิ์สิทธิ์เพื่อผสมกับมวลสาร ไม่ว่าการทำผงชนิดใดๆ ล้วนต้องใช้เวลาและยุ่งยากลำบากทั้งสิ้น ดังนั้นการทำพระในทุกหนแห่งเป็นจำนวนมากๆ ก็ย่อมสะท้อนความนัยว่ามีผู้คนมาช่วยจัดช่วยทำเป็นอันมาก ซึ่งข่าวคราวเรื่องนี้ก็น่าจะแพร่หลายออกไปให้ได้ยินเข้ามาถึงเมืองหลวง แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าเงียบเชียบ แม้ทางการมีหมายตามหาตัวขรัวโตเท่าใดก็ไม่พบ เป็นที่อัศจรรย์อันน่าฉงนอยู่
นอกจากนั้น ปรากฏชัดเจนว่าในการสร้างพระหลายที่หลายครั้งมีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่เรืองวิทยาคมไปร่วมอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาก็คือสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เสนาบดีกระทรวงวังในรัชกาลที่ 5
บรรดาผู้ที่ได้รับพระของขรัวโตก็ถือว่าเป็นสานุศิษย์ของขรัวโต และว่ากันว่าใครมีพระของขรัวโตเมื่อจะขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในธรรมยุติกนิกายก็จะได้รับความไว้วางใจเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงมีพระภิกษุเข้าอุปสมบทในธรรมยุติกนิกายจำนวนมากทั้งในกรุงและในต่างจังหวัด
เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น วัดวาหลายแห่งต้องสร้างที่พักของพระบวชใหม่หรือผู้รอบวชไว้ใต้ถุนกุฏิหรือวิหารต่างๆ ตามแบบอย่างที่สร้างไว้ที่วัดพระเชตุพนในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งใช้เป็นที่พักของหน่วยทหารที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรง ทางอ้อมทางลับ ทางเปิด ในการอารักขาพระบรมมหาราชวังหรือนัยหนึ่งก็คือกองทัพส่วนพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง
แม้เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ครองราชย์แล้ว การสร้างวัดธรรมยุตในยุคสมัยนั้นก็มักจะมีที่พักแบบนี้ตามใต้ถุนกุฏิและวิหาร สำหรับพระบวชใหม่ สำหรับเด็กวัด เลกวัด หรือภิกษุอาคันตุกะ และเมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็ย่อมมีเสียงซุบซิบว่ามีการซ่องสุมผู้คนที่วัดนั้นวัดนี้
เหล่านี้อาจจะเป็นเหตุหรือที่มาให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนาพระภิกษุพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ให้มาประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ซึ่งอยู่ใกล้พระเนตรพระกรรณอย่างหนึ่งและเท่ากับเป็นการรับรองเป็นนัยให้ได้รู้กันทั่วดำรงราชอาณาจักรว่าแม้พระภิกษุพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยังอยู่ในสมณเพศ การที่มาประทับ ณ วัดประจำวังหน้า ก็เสมือนหนึ่งว่าทรงรับรองว่าเป็นวังหน้าหรือพระกรมพระราชวังบวร ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อจากพระองค์นั่นเอง
เพราะเหตุนี้การที่ขรัวโตสร้างพระจำนวนมากเกือบทุกที่ทุกแห่งที่ธุดงค์ไปไม่ว่าภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใต้ ซึ่งไม่ใช่ปกติของธุดงควัตรตามบัญญัติแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงอาจถูกเพ่งพิจารณาได้ว่าเป็นการออกธุดงค์เพื่อแสวงหาพวกสร้างขุมกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะห้ามปรามหรือติเตียนผู้ที่คาดคิดแบบนี้ไม่ได้ แม้ว่าไม่เคยปรากฏความที่ชัดเจนใดๆ ว่าเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ทรงฝักใฝ่ในเรื่องการเมืองหรือยืนข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในทางการเมือง
ดังนั้นการสร้างพระจำนวนมากในหลายที่หลายแห่ง ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้และภาคอีสานตลอดรัชกาลที่ 3 กับเรื่องปัญหาทางการเมืองในยุคนั้นจึงถูกกล่าวขวัญให้เชื่อมโยงกันอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่มีความจริงที่ชัดเจนยืนยันในเรื่องนี้ก็ตาม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี