กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงาน Kick off มอบโฉนดเพื่อการเกษตร เป็นของขวัญปีใหม่ ปี พ.ศ.2567 ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 25,000 ราย พร้อมกันทั่วประเทศ
1.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน
มอบโฉนดเพื่อการเกษตรจำนวน 1,000 ฉบับ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
มีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อออนไลน์พร้อมกันทั่วประเทศ
โดยนายกฯ เศรษฐา ได้ส่งสารถึงพี่น้องเกษตรกรด้วย
“ในนามของรัฐบาล ผมขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตร
ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน เพื่อสร้างอาชีพ รายได้ และความมั่นคงในชีวิต
โดยรัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน โดยพิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เป็นโฉนด เพื่อสามารถนำไปต่อยอด เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ นำมาพัฒนาที่ดินและอาชีพ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในระยะยาว
ผมขอขอบคุณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่นำนโยบายสู่การปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม
โฉนดเพื่อการเกษตรที่สำเร็จนี้เป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล ซึ่งมีโฉนดเพื่อการเกษตรแล้วจำนวน 2.1 ล้านไร่
และรัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เกษตรกรที่ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตรวันนี้ จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ นำมาซึ่งอาชีพ และรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป
ผมให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความสุขต่อไปครับ” - นายกฯ กล่าว
2.ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในงานว่า จากนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ต้องการพัฒนาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด กระทรวงเกษตรฯ โดย ส.ป.ก. จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีเกษตรกรที่เข้าคุณสมบัติการเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 2.27 ล้านแปลง เนื้อที่ประมาณ 22 ล้านไร่เกษตรกรจำนวน 1.6 ล้านคน ส.ป.ก. จึงได้จัดพิธี Kick off การมอบโฉนดเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกร พร้อมกันทั่วประเทศ จำนวน 25,000 ฉบับ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรทุกคนได้ใช้ประโยชน์ สามารถนำเอกสารนี้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบกิจการภาคการเกษตร
“การขึ้นทะเบียนขอออกโฉนดเพื่อการเกษตรทั้งจากระบบออนไลน์ และออฟไลน์ มีผู้ยื่นความประสงค์ขอออกโฉนดรวมทั้งสิ้น 227,152 แปลง
ต่อจากนี้ไป ได้มอบให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจนโยบายของรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ส.ป.ก. ในการดำเนินงานเพิ่มศักยภาพมูลค่าโฉนดเพื่อการเกษตร
ทั้ง ส.ป.ก. และหน้าที่ของผู้ที่ได้รับที่ดินไป ตลอดจนเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรต่อไป”-รมว.เกษตรฯ ร้อยเอกธรรมนัสกล่าว
3.จากการตรวจสอบข้อมูล ทราบว่า ก่อนหน้านี้มีการยื่นความประสงค์ขอออกโฉนดเพื่อการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566
มีการเปิดรับแจ้งความประสงค์ 3 ช่องทางได้แก่ ส.ป.ก. ทุกจังหวัดศูนย์บริการประชาชน (Mobile Unit) และระบบออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ ส.ป.ก.
มีผู้ยื่นความประสงค์ 227,152 แปลง ออกโฉนดไปแล้ว 33,663 แปลงคิดเป็น 275,100 ไร่ เกษตรกร 29,006 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ม.ค. 2567)
4. สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้ คือ เมื่อเกษตรกรสามารถนำที่ดิน ส.ป.ก. ในรูปโฉนดเพื่อการเกษตร ไปขอกู้เงินได้
หากในอนาคต เกิดจะต้องถูกยึดเพื่อไปใช้คืนหนี้สิน หรือต้องโอนสิทธิ์เพื่อชดใช้หนี้
ที่ดินก็จะต้องเปลี่ยนไปอยู่ในชื่อผู้อื่น ซึ่งอาจเป็นนายทุนหรือเกษตรกรที่ร่ำรวย ใช่หรือไม่?
แล้วจะขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายหลัก ที่ห้ามมิให้ซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.หรือไม่? (แม้มิได้ซื้อขายกันโดยตรง) ????
5.โฉนดที่ดินเพื่อการเกษตรยัดไส้
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ตั้งข้อสังเกตที่น่ารับฟัง ระบุว่า กรณีเปลี่ยนชื่อที่ดินส.ป.ก. เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” มีการยัดไส้หลายประเด็น ที่จะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต
“...โดยเฉพาะหลักการเดิมกำหนดว่า ที่ดินที่ได้รับจากการปฏิรูปเพื่อการเกษตร(ที่ส.ป.ก.) จะทำการโอนสิทธิ์ไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่ตกทอดแก่ทายาท หรือโอนไปให้สำนักงานส.ป.ก. ตามหลักพ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร พ.ศ.2518 มาตรา39
แต่ระเบียบใหม่ ที่เพิ่งออกมา 2566 ในข้อที่ 7.ได้ยัดไส้ไว้ในทำนองเดิมคือ ให้ทำประโยชน์ด้วยตนเอง ห้ามขาย ให้เช่า ห้ามเข้าทำประโยชน์โดยผู้อื่น“เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากส.ป.ก.”
ซึ่งข้อที่เขียน “เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากส.ป.ก.” คือ การยัดไส้เข้าไปในระเบียบนี้
ทำให้ ที่ส.ป.ก.หรือโฉนดเพื่อการเกษตร จะถูกนายทุนมาฮุบทั้งหมด
ยังมีประเด็นเพิ่มเติม ที่ที่ดินส.ป.ก.เดิม จะถูกนายทุนมาฮุบผ่านนอมินี
ก็คือข้อ 7 (1)วรรคสอง ที่กำหนด ห้ามมิให้ผู้ที่ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตร(ที่ส.ป.ก.เดิม) สามารถเปลี่ยนมือ เพื่อให้ผู้อื่น ได้รับสิทธิ์ในโฉนดเพื่อการเกษตรแทนตนภายในสองปี
เท่ากับว่า หลังจากที่ เปลี่ยนที่ดินส.ป.ก.เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เกินสองปีแล้วสามารถเปลี่ยนมือได้
สุดท้าย ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2566 ของกระทรวงเกษตรฯ กำลังดำเนินการเพื่อใครกันแน่ เพื่อเกษตรกร หรือเพื่อนายทุนที่จะมาฮุบที่เกษตรกร
ที่เลวร้ายที่สุด รายละเอียดเรื่อง การโอน มรดกตกทอดแก่ทายาท ตาม พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2518 เขากำหนดว่า ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งต้องผ่านมติครม. แต่ระเบียบใหม่นี้ไม่ผ่านครม. เพื่อเป็นกฎกระทรวง แต่ออกเป็นระเบียบระดับกรมแทน โดยรัฐมนตรีเป็นผู้เซ็นอีกไม่นาน หลังจากนี้สองปี ที่ดินส.ปก. หรือโฉนดเพื่อการเกษตร ก็คงถูกนายทุนใช้นอมินีมาฮุบจากเกษตรกรได้อย่างง่ายดาย
สรุปแล้วพวกท่านเข้ามาดูแลประเทศ หรือปล้นประเทศกันแน่?-นพ.วรงค์กล่าว
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี