ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางกลับบ้านจันทร์ส่องหล้าหลังได้รับการพักโทษ
ขณะเดียวกัน “ตะวัน ทะลุวัง” ที่แสดงพฤติกรรมป่วนขบวนเสด็จฯซ้ำซาก โดยที่พลพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะนายพิธาหรือแม้แต่นายธนาธร ก็เสมือนหนึ่งถูก “ตะวัน” เผาผลาญ เพราะกระแสสังคมตีกลับ ม่วงทั้งแผ่นดิน เนื่องจากได้รู้เช่นเห็นชาติ เห็นไส้เห็นพุงขบวนการให้ท้ายการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวัง
1. นายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นั่งประกบคู่บนรถตู้เบนซ์สีดำ ทะเบียน ภษ1414 พาทักษิณเดินทางกลับบ้านจันทร์ส่องหล้า ย่านจรัญสนิทวงศ์ กรุงเทพฯ
นายทักษิณใส่หน้ากากอนามัยสีเขียว สวมใส่บล็อกคอทางการแพทย์
ตั้งแต่กลับมาจากต่างประเทศ มอบตัว เข้ารับโทษตามคำพิพากษาของศาล เห็นภาพรถไปส่งตัวเข้าเรือนจำ
จากนั้น มีภาพถ่ายนายทักษิณนอนบนเตียงพยาบาล เข็นอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ
นอกจากนั้น ก็ไม่เคยมีภาพหรือคลิปปรากฏยืนยันอีกเลย
กระทั่ง 180 วันผ่านไป หลังได้รับการพักโทษ ทักษิณจึงออกจากโรงพยาบาล กลับบ้านจันทร์ส่องหล้า
2. เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ทักษิณ กลับไทย สนามบินดอนเมือง
22 ส.ค. 2566 เวลา 13.00 น. รับตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
22 ส.ค. 2566 เวลา 23.29 น. พัศดีเวร แดน 7แจ้งแน่นหน้าอก ออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ
23 ส.ค. 2566 เวลา 00.20 น. นำตัวส่งรักษาโรงพยาบาลตำรวจ
31 ส.ค. 2566 ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ 3 คดี จากจำคุก 8 ปี เหลือจำคุก 1 ปี
18 ก.พ. 2567 ครบ 6 เดือนรับโทษ ได้รับการพักโทษ
น่าสงสัยว่า... ก่อนหน้านี้ ราชทัณฑ์ชี้แจงว่า ทักษิณกลับเข้าเรือนจำไม่ได้ ยังต้องนอนโรงพยาบาล อยู่ในความดูแลของหมอ เพราะหากเกิดอาการฉุกเฉิน อาจถึงขั้นเสียชีวิต
ล่าสุด ทักษิณนั่งรถกลับบ้านจันทร์ส่องหล้าได้อย่างปลอดภัยแล้ว
ไม่ต้องห่วงว่าถ้าเกิดอาการฉุกเฉินอีกแล้วหรือ?
3. ตามที่เคยวิเคราะห์การกลับบ้านของอดีตนายกฯทักษิณ ไว้ 2 ทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ
(1) กลับบ้านด้วยการพักโทษ ก.พ. ปี 2567
ตอนนั้น เคยบอกไว้ว่า หากแม้นไม่ได้ลดโทษอะไรอีก น.ช.ทักษิณก็คงจะได้ออกจากคุกก่อนครบ 1 ปีอยู่แล้ว โดยเข้าเกณฑ์พักโทษ แต่จะต้องรับโทษมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ดังนั้น ถ้าพักโทษ ก็รอหลัง ก.พ.วาเลนไทน์ปี 2567
(2) กลับบ้านตามระเบียบฯใหม่ เร็วที่สุด
ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ออกมาในยุครัฐบาลเพื่อไทย ล่าสุดประกาศเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 มีผลบังคับใช้วันที่ 7 ธันวาคม
ตามระเบียบนี้ ทางการอาจกำหนดให้ที่ “บ้าน”เป็นสถานที่คุมขังก็ได้
ตอนนั้น เคยบอกว่า แนวทางนี้ อาจกลับเร็วที่สุด แต่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ในที่สุด ทางการก็ไม่ได้ใช้ระเบียบนี้กับกรณีนายทักษิณ
เป็นอันว่า นายทักษิณ ชินวัตร ก็เลือกที่จะอยู่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาที่รับโทษจำคุก โดยไม่ได้นอนในเรือนจำเลยแม้แต่คืนเดียว ก่อนจะเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษล่าสุด
4. นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. ยืนยันว่าตามปกติถ้ามีอาการป่วยจะต้องมีทีมแพทย์เดินทางไปด้วยแต่นี่กลับไม่มีทีมแพทย์ แม้จะมีที่บล็อกคอ และมีเชือกคล้องคอช่วยพยุงแขน แต่ส่วนตัวก็ไม่แปลกใจอะไรที่นายทักษิณเป็นแบบนี้ เพราะเชื่อว่าไม่ได้ป่วยหนักมาแต่แรก
นายพิชิตยังกล่าวอีกว่า จากนี้จะเดินหน้าร้องให้ตรวจสอบกลุ่มข้าราชการที่ช่วยเหลือนายทักษิณให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ โดยอาทิตย์หน้าจะเดินทางไปที่สำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อทวงถามในสิ่งที่คปท.ร้องไปก่อนหน้านี้ ยังยืนยันชัดเจนว่า จะต้องมีกลุ่มข้าราชการที่ต้องรับผิดชอบ คือ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และจะไปร้องป.ป.ช.เพิ่มเติม คือ แพทย์ที่ทำการตรวจอาการนายทักษิณและมาแจ้งต่อสื่อมวลชนว่านายทักษิณมีอาการป่วยเรื้อรัง 4 โรค ในความเป็นจริง แพทย์แค่รับแจ้งอาการป่วยเบื้องต้นมาจากพยาบาลเท่านั้น ไม่ได้มีการตรวจนายทักษิณแต่อย่างใด
5. การที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ระบุถึงคำพิพากษา 3 คดี ได้แก่ คดีเอ็กซิมแบงก์ คดีหวยบนดินคดีแปลงสัมปทาน โทษจำคุกรวม 8 ปี
ระบุว่า น.ช.ทักษิณเคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด
จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา
ระบุด้วยว่า เคยเป็นนายกฯ ทำคุณประโยชน์ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
จากนั้น มีพระบรมราชโองการ พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ ให้ น.ช.ทักษิณ เหลือโทษจำคุก 1 ปี
พึงตระหนักว่า น.ช.ทักษิณ ลูกๆ รวมถึงบริวารไม่อาจอ้างว่าทักษิณถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดี หรือไม่ยอมรับคำพิพากษา เพราะตนเองได้ยอมรับในการกระทำผิดทั้ง 3 คดีดังกล่าวแล้ว จึงเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายของรัฐบาล นำโดยนายกฯเศรษฐาและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ในการบังคับโทษจำคุก 1 ปีเฉกเช่นผู้ต้องขังหรือนักโทษคนอื่นๆ
ถ้ามีปัญหาการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ก็เป็นความรับผิดชอบของข้าราชการและนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง
และหลังจากนี้ น่าติดตามคดี 112 ที่อดีตอัยการสูงสุดเคยสั่งฟ้องไว้แล้วนั้นจะเป็นเช่นไร? เมื่อทักษิณยื่นขอความเป็นธรรมไปที่อัยการสูงสุดแล้ว จะกลับคำสั่งเป็นสั่งไม่ฟ้องหรือไม่? จะเข้าอีหรอบเดียวกับคดีบอสหรือไม่?
6. “ตะวัน” เผาผลาญก้าวไกล
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
การกระทำของนายพิธาและพลพรรคก้าวไกลก็เป็นเครื่องมัดแน่นถึงเจตนาสนับสนุน หรือเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของ “ตะวัน ทะลุวัง” ที่จาบจ้วงสถาบันฯ เหิมเกริมขนาดป่วนขบวนเสด็จฯกรมสมเด็จพระเทพฯ
แม้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 นายพิธาให้สัมภาษณ์ถึงการกระทำของตะวัน ทะลุวัง ว่า “กังวลใจ แต่เข้าใจ”
แต่ในสภา สส. ก้าวไกล อภิปรายเพื่อฟอกขาวให้การกระทำของ “ตะวัน ทะลุวัง” หรือบ่ายเบี่ยงประเด็นจากการคุกคามให้ร้ายขบวนเสด็จฯ ไปเป็นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกโดยสันติอย่างหน้าตาเฉย
อย่างไรก็ตาม จดหมายนายพิธา ถึงตะวันและแบม เมื่อ 28 ม.ค. 2566 เป็นเอกสารพยานหลักฐานสำคัญ มัดตัวแน่นหนา เพราะเนื้อหาในจดหมายจากนายพิธา ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น ทำให้เห็นการกระทำทั้งในและนอกสภาในการให้การสนับสนุนการยกเลิกมาตรา112 และให้ท้ายการเคลื่อนไหวของ “ตะวัน ทะลุวัง” ชัดเจน
ยังไม่ต้องกล่าวถึงการเคยไปยื่นประกันตัวให้กับตะวัน ทะลุวัง ซึ่งเคยถูกจับกุมดำเนินคดี มาตรา 112
กรณีตะวัน ทะลุวัง อ้างทำโพลติดสติ๊กเกอร์เรื่องขบวนเสด็จฯ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565แต่ได้รับการประกันตัว และกรณีถูกดำเนินคดีกรณีไลฟ์เฟซบุ๊กรอรับขบวนเสด็จฯ บริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 และได้รับการประกันตัวเช่นกัน แต่ภายหลังถูกถอนประกัน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เคยอาสาเป็นนายประกันให้กับตะวัน และได้รับการประกันตัว
ศาลได้สอบถามว่า “หากปล่อยตัวชั่วคราวตะวันนายพิธาในฐานะนายประกันจะให้ความมั่นใจต่อศาลได้อย่างไรว่าจะกำกับดูแลจำเลยได้”
นายพิธาตอบว่า ตนยินดีทำหน้าที่เป็น “ผู้กำกับดูแล” เพื่อให้ตะวันปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล จะทำหน้าที่คอยตักเตือนและดูแลตะวันเอง โดยพ่อและแม่ของตะวันยินยอมให้ศาลแต่งตั้งพิธาเป็นผู้กำกับดูแลของตะวันด้วย
ศาลถามต่อว่า หากตะวันได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกไปแล้วและทำผิดเงื่อนไขของศาลอีก พิธาในฐานะนายประกันและผู้กำกับดูแลจะทำอย่างไร
นายพิธาตอบว่า “จะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจรับรองไว้”
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นายพิธาเคยกล่าวยกย่องตะวันในสภาฯว่า “ทุกครั้งที่ผมไปหาคุณตะวันและคุณแบม ผมมองตาตะวันแล้วเห็นพิพิมลูกสาวของผมอยู่ในนั้น”
วันที่ 24 มีนาคม 2566 พิธาแปะสติ๊กเกอร์ยกเลิกมาตรา 112 ให้กับ “ตะวัน และแบม” อ้างว่าขอแก้ไขก่อน ถ้าไม่สำเร็จไปยกเลิกด้วยกัน
วันที่ 5 เมษายน 2566 ในงานประกาศรางวัล The People Awards 2023 ที่ให้ตะวันและแบม ทะลุวัง เป็นผู้ได้รับรางวัลด้วย นายพิธาก็ไปร่วมแสดงความยินดีกับเขาอย่างใกล้ชิดด้วย
ล่าสุด หลังกรณีป่วนขบวนเสด็จฯกรมสมเด็จพระเทพฯกระแสสังคมตีกลับ เหลืออดกับพฤติกรรมของตะวัน ทะลุวังและพวก นายพิธาก็ตีกรรเชียงหนี ขณะที่พลพรรคก้าวไกลก็พยายามบ่ายเบี่ยงประเด็นเพื่อช่วยลดกระแสและฟอกขาวให้กับกลุ่มทะลุวังโดยไม่เคยประณาม ตำหนิ ห้ามปราม อย่างจริงๆ จังๆ เลย
พฤติกรรมทั้งหมดนี้ ตอกย้ำแนวทางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ว่านายพิธาและพรรคก้าวไกลมีการกระทำเข้าข่ายใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองฯ โดยเคลื่อนไหวเซาะกร่อนบ่อนทำลาย
กกต.ไม่อาจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลต่อไป
ไม่ต้องโทษใครอื่น ไม่มีใครกลั่นแกล้ง มีแต่กรรมเป็นผลจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น เพราะ “ตะวัน” กำลังเผาไหม้พรรคก้าวไกลเอง
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี