“ถ้าเรามองในมุมวิชาการ แล้วเรามองคำว่า Bullying นิยามที่เป็นทางการของ Bullying มันคือการกระทำใดๆ ก็ตามทั้งทางกาย ทางวาจา หรือทางความรู้สึก กับผู้ใดผู้หนึ่งหรือผู้อื่น ที่ทำให้เขารู้สึกเสียใจ เจ็บใจ เศร้าใจ มีความทุกข์ คิดมาก ไม่สบายใจหรืออื่นๆ เพราะฉะนั้นอันนี้คือคำที่เป็นทางการ ในนิยามนี้มี Keyword (คำสำคัญ) 3 คำ หนึ่งคือการกระทำใดๆ ก็ตามทั้งกาย วาจาและความรู้สึก เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องอะไรก็ได้
สองคือต่อผู้อื่น ก็คือกับคนอื่น ใครก็ได้ แปลว่าเรายึดผู้อื่นเป็นหลัก ไม่ได้ยึดว่าฉันไม่ได้แกล้ง ดังนั้นฉันไม่ Bully ต้องยึดที่ผู้อื่นไม่ได้ยึดที่เรา และสุดท้ายคือทำให้เขามีความคิดเชิงลบ เศร้าใจ เสียใจ ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ คิดมากทั้งหลาย เพราะฉะนั้นพอมี Keyword 3 คำรวมกัน มันกำลังพูดถึงการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น ให้เขามีความรู้สึกทางลบ แปลว่าเราจะมีความว่าเป็น Bully หรือไม่ไม่ได้อยู่ที่เราทำอะไร อยู่ที่เขารู้สึกอะไร”
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในวงเสวนา “ฮักบ่Hate การสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเครือข่ายอีกหลายองค์กร เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา อธิบายความหมายของคำว่า “Bully, Bullying” ซึ่งในภาษาไทยอาจแปลด้วย 2 คำ คือ “รังแก” กับ “แกล้ง” อย่างไรก็ตามคำว่า Bully, Bullying (อ่านว่า บุลลี่, บุลลี่อิ้ง)ถือเป็นคำใหม่ในสังคมไทย เพราะคำไทยที่พยายามนำมาใช้ก็ไม่ได้ให้ความหมายตรงตัวเสียทีเดียว
อาจารย์ธานี ยกตัวอย่างผลสำรวจเยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษา (ม.1-ม.6) เปรียบเทียบ 2 คำถาม คือ 1.เคยแกล้งเพื่อนหรือถูกเพื่อนแกล้งหรือไม่ พบว่ามีถึงร้อยละ 90 แต่เมื่อเปลี่ยนคำถามเป็น 2.เคยรังแกเพื่อนหรือถูกเพื่อนรังแกหรือไม่ พบว่าเหลือเพียงร้อยละ 30 ชี้ให้เห็นว่า “ในบริบทสังคมไทย คำว่าแกล้งให้ความรู้สึก (Sense) ในเชิงสนุกสนานหยอกล้อเล่นกัน เมื่อเทียบกับคำว่ารังแกที่มองว่าเป็นเรื่องใหญ่กว่า” แต่คำว่า Bully นั้นจะอยู่ตรงกลางระหว่างคำว่าแกล้งกับรังแก คือผู้ถูกกระทำไม่รู้สึกสนุกด้วย แต่การกระทำนั้นก็ยังไม่ถึงขั้นทำร้าย
“ทำไมการ Bully ถึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ?” อาจารย์ธานี กล่าวว่า การ Bully เกี่ยวข้องกับคน 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้กระทำ หากมองในมุมเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม การ Bully คือการกระทำละเมิดต่อผู้อื่นอย่างไม่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น “คนที่มีพฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นในวัยเด็ก จะเติบโตมากับการได้เรียนรู้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ตนเองมีอำนาจหรือมีความสามารถที่จะทำร้ายผู้อื่นได้อย่างไม่ต้องรับผิดชอบก็จะลงมือทำ” หรือก็คือเติบโตมากับการเรียนรู้วิธีการใช้อำนาจในทางที่ผิด
2.ผู้ถูกกระทำ ส่งผลให้สุขภาพจิตแย่ลง นอกจากนั้นผู้ที่ถูกกระทำแล้วรู้สึกเศร้าหรือเป็นทุกข์มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่อง หมายถึงเมื่อถูกกระทำให้อ่อนแอแล้วจะมีคนเหยียบซ้ำ เพราะกลายเป็นการแสดงความแข็งแรงของคนบางกลุ่ม ขณะเดียวกัน “ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกในวัยเด็กจะได้เรียนรู้ว่าหากวันหนึ่งตนเองมีอำนาจก็สามารถละเมิดผู้อื่นได้บ้างเช่นกัน” และ 3.คนอื่นๆ ในสังคมก็จะได้เรียนรู้ว่า คนที่มีอำนาจสามารถทำร้ายผู้อื่นได้ ส่วนคนอื่นๆ ก็ควรอยู่เฉยๆ
“มันกลายเป็นสมดุลที่โตมาเห็นสังคมไทยเป็นแบบนี้เป๊ะเลย เพราะว่าในโรงเรียนสนใจแต่การเรียนการสอน แต่วัฒนธรรมการใช้ชีวิตร่วมกันของเด็ก นี่ไม่นับครูกับเด็กอีกเคสหนึ่งด้วยนะ ของเด็กมันเป็นเรื่องการสร้างวัฒนธรรมของการยอมรับการใช้อำนาจในการละเมิดสิทธิบนร่างกายและจิตใจผู้อื่นอย่างยอมรับไม่ได้ เพราะฉะนั้นพอถอยมา ที่เราเห็นแบบนี้ เราจะพบว่ามันมีทั้งประเด็นเรื่องของการใช้อำนาจละเมิดผู้อื่นอย่างตั้งใจ อย่างไม่ตั้งใจ แต่เรียนรู้ว่าอำนาจเหล่านี้ใช้ได้” อาจารย์ธานี ระบุ
อาจารย์ธานี กล่าวต่อไปถึงรูปแบบการรังแกที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี คือ “Cyberbullying” หรือการกลั่นแกล้งรังแกกันทางออนไลน์ ซึ่ง “เทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย” ด้านหนึ่งคือการกลั่นแกล้งรังแกทางกายภาพ (กระทำต่อร่างกายโดยตรง) อาจลดลงเพราะเป็นการแสดงพฤติกรรมบนโลกไซเบอร์ ซึ่งช่องทางนี้หลักๆ จะเป็นการละเมิดกันทางวาจาหรือทางสังคม
แต่อีกด้านหนึ่ง ด้วยความที่พื้นที่ออนไลน์หรือโลกไซเบอร์เป็นพื้นที่เปิด ทำให้การกลั่นแกล้งรังแกจากเดิมที่จำกัดวงในพื้นที่ปิด (เช่น ในโรงเรียน) ขยายวงมากขึ้น
เอื้อต่อใครก็ตามที่อยากแสดงอำนาจเพราะไม่มีข้อจำกัด ขณะเดียวกัน การที่โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ส่งผลให้ใครๆ ก็สามารถกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นได้ เมื่อเทียบกับการ Bully แบบดั้งเดิมบนโลกกายภาพที่มักเป็นคนตัวใหญ่ทำกับคนตัวเล็ก หรือคนกลุ่มใหญ่ทำกับคนกลุ่มน้อย สภาวะแบบนี้ทำให้พื้นที่ออนไลน์กลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรุนแรงในการโต้ตอบกัน
“ความเท่าเทียมจากโลกออนไลน์ไม่ได้เป็นด้านบวก แต่ว่าในด้านลบที่เป็น Bully มันมี Impact (ผลกระทบ) มหาศาล ซึ่งมันก็นำมาซึ่ง Hate Speech (ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง) แล้วก็ต่างๆ ที่มีผลกระทบ เพราะว่า Hate Speech ถ้ามองในมุม Bully ก็เป็น Subset (ประเภทหนึ่ง) ที่เป็นการกระทำโดยใช้วาจาต่อผู้อื่นที่ทำให้เขารู้สึกไม่ดี รู้สึกแย่ รู้สึกผิดหวัง รู้สึกเศร้าใจ โดยที่เปิด Public (สาธารณะ) มากขึ้น อยู่ในสาธารณะมากขึ้น แล้วก็สามารถโต้ตอบกันไป-มาได้รุนแรงขึ้น” อาจารย์ธานี กล่าว
นักวิชาการผู้นี้ ยังกล่าวอีกว่า “ในบริบทของสังคมไทย ยังมีความยากในการระบุว่าถ้อยคำใดเป็นการกลั่นแกล้งรังแกหรือสร้างความเกลียดชัง” เช่น เมื่อเห็นข้อความบนเฟซบุ๊ก “แหม! วันนี้เธอสวยจัง” สามารถตีความได้ว่าเป็นทั้งคำชมและคำด่า, “เพื่อนสนิทแกโพสต์แล้ว” สามารถตีความได้ว่าเป็นทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ , “แหม! เรื่องนี้เก่งเป็นพิเศษเลยนะ” สามารถตีความได้ว่าเป็นทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี เป็นต้น เนื่องจากเป็นการสื่อสารที่มีเป้าหมายเฉพาะ มีเพียงเพื่อนหรือคนในกลุ่มเดียวกันเท่านั้นที่จะเข้าใจความหมาย ในขณะที่คนนอกจะไม่มีทางเข้าใจได้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี