นายพิชิต ชื่นบาน ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ต้องการจะตัดวงจรคดี ไม่ให้ถึงตัวนายกฯเศรษฐา ทวีสิน
“...มีการยื่นคำร้องเกี่ยวกับข้าพเจ้า ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าได้ตรวจสอบและเชื่อมั่นโดยสุจริตแล้วว่าข้าพเจ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายทุกประการก็ตาม
แต่เรื่องนี้ได้มีการพาดพิงไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี หัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดิน ต่อศาลรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี ที่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าด้วยความต่อเนื่อง
ข้าพเจ้าจึงไม่ยึดติดกับตำแหน่ง ในลักษณะยึดถือประโยชน์ส่วนตนยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนรวม
ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ให้ถือเป็นเจตนาของข้าพเจ้าที่มีต่อนายกรัฐมนตรี “ข้าพเจ้า ขอลาออกจากการดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเดินหน้าบริหารประเทศต่อไปได้ โดยให้มีผลนับแต่ วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป”
แต่ในทางกฎหมาย ในทางความเป็นจริง จะเป็นเช่นนั้น หรือไม่?
1. รายงานข่าวระบุว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมพิจารณาคำร้องของสว.จำนวน 40 คน ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ (วันนี้)
ผลจะออกมาอย่างไร?
เป็นไปได้ทั้งไม่รับไว้พิจารณา
หรืออาจจะรับไว้พิจารณา และสั่งให้นายกฯเศรษฐา ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
2. นายถาวร เสนเนียม ให้ความเห็นชี้ชัดว่า แม้นายพิชิตลาออกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังจะต้องดำเนินการต่อ
ระบุว่า กรณีของ สว.40 คน ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน กรณีขาดคุณสมบัติฯ
ต่อมา นายพิชิต ชื่นบาน ลาออก เพื่อไม่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีต่อไป หรือด้วยการอ้างเหตุผลอื่นก็ตาม
“...ผม นายถาวร เสนเนียม มีความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังต้องพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ต่อไป ตามเหตุผลดังต่อไปนี้
เห็นว่ากรณีที่มีการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิชิต ชื่นบาน และนายกฯเศรษฐานั้น
แม้นายพิชิต ชื่นบาน จะลาออกไปแล้ว ซึ่งโดยปกติศาลรัฐธรรมนูญมักจะจำหน่ายคดี เพราะผู้ถูกร้องได้พ้นจากตำแหน่งไป จึงไม่เป็นประโยชน์ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้ไต่สวนต่อไป
แต่ในกรณีนี้ เป็นการร้องให้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิชิต ต่อเนื่องไปถึงความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานทางจริยธรรมของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องมีคุณสมบัติตามข้อนี้ด้วย
ดังนั้น แม้นายพิชิตจะลาออกไปแล้ว คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีก็จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามีความซื่อสัตย์สุจริตและฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมตามคำร้องของผู้ร้องหรือไม่
เมื่อคำนึงถึงบทบาทและหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นประมุขฝ่ายบริหารผู้ที่สภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งเพื่อให้ทำหน้าที่ สูงสุดของฝ่ายบริหาร แสดงว่าปวงชนชาวไทยยินยอมให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่นั้น ดังนั้น คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีจึงต้องเป็นแบบอย่างทั้งในทางความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นผู้มีมาตรฐานทางจริยธรรม
การพิสูจน์คุณสมบัติของนายกฯตามคำร้องของผู้ร้อง จึงต้องพิสูจน์กันต่อไปว่า ผู้ที่ตนแต่งตั้งในครั้งที่ถูกร้องนี้ ตนได้แต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 160 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการให้สินบนเจ้าหน้าที่ศาลในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับนายทักษิณซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง/ใช้ให้นายพิชิตให้ทำหน้าที่ทนายความ และนายพิชิตเองก็ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทนายความ ข้อเท็จจริงจึงยุติเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตของนายพิชิตได้แล้วว่าไม่เพียงพอที่จะเป็นรัฐมนตรีได้ จึงได้ชิงลาออกไปเพื่อหวังยุติคดีไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวน
เมื่อข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไป เกี่ยวกับประวัติของนายพิชิตในด้านความซื่อสัตย์และมาตรฐานทางจริยธรรมที่ติดลบ เป็นการง่ายที่นายกรัฐมนตรีจะใช้ความรู้ความสามารถกลั่นกรองวินิจฉัยเสียก่อนเสนอทูลเกล้าฯให้มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายพิชิต
อีกทั้ง อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ไม่จำกัดเฉพาะการเสนอเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี แต่ยังมีหน้าที่พิจารณาและนำเสนอแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงทั่วประเทศจำนวนมากในแต่ละปี
นายกรัฐมนตรีจึงต้องมีความรู้และความรอบคอบ ประกอบความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานทางจริยธรรมระดับสูงในการนำเสนอบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ
จะอ้างอิงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพียงบางส่วน
แต่เมื่อนายกฯไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่กลั่นกรองคุณสมบัติบนพื้นฐานความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานทางจริยธรรมที่บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควรจะมี ย่อมเป็นการแสดงออกถึงความไม่ซื่อสัตย์ ความไม่สุจริต
จึงตกเป็นผู้ประพฤติฝ่าฝืนจริยธรรมเสียเอง ดังนั้น พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งนายพิชิต ซึ่งง่ายที่วิญญูชนทั่วไปสามารถจะวินิจฉัยได้ว่า เป็นผู้ไม่ซื่อสัตย์สุจริตและไม่มีมาตรฐานทางจริยธรรม จึงสมควรที่จะถูกวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญต่อไป เพื่อเป็นบรรทัดฐานของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี
เพราะการแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองและทางกฎหมาย ที่เป็นแบบอย่างให้แก่ข้าราชการ ประชาชนและเยาวชน หากยอมรับให้นายกรัฐมนตรีสามารถเสนอแต่งตั้งใครก็ได้ หรือสามารถแต่งตั้งผู้ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ผู้ไม่มีมาตรฐานทางจริยธรรมได้ตามอำเภอใจได้รัฐธรรมนูญก็จะถูกละเมิด คุณธรรมและศีลธรรมก็จะไม่มีใครคำนึงถึงอีกต่อไป
เมื่อนายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 จึงต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ตามรัฐธรรมนูญครับ...”
3. กรณีนี้ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาอย่างไร ย่อมถือเป็นที่สุด ทุกฝ่ายต้องเคารพ
กรณีนี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยนี้ ไม่มีบทลงโทษอื่นใด มีแต่เรื่องให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง หรือพ้นจากตำแหน่งไปเท่านั้น โดยไม่มีเรื่องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งใดๆ ทั้งสิ้น
เคยมีกรณีอดีต รมช.มหาดไทย นิพนธ์ บุญญามณี เมื่อลาออกไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็จำหน่ายคดี เพราะเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ก็ไม่มีเหตุให้วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งได้อีก
เท่าที่ประมวลข้อมูลว่า เห็นว่า สถานการณ์มีความเป็นไปได้ ดังต่อไปนี้
1. ไม่รับคำร้อง หรือจำหน่ายคดีในส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 คือ นายพิชิต ชื่นบาน
เพราะนายพิชิตพ้นตำแหน่งจากการลาออกไปแล้ว ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรีให้วินิจฉัยได้อีกแล้ว
2. ในส่วนความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน
2.1 ไม่รับคำร้อง
เป็นไปได้ทั้งจำหน่ายไปพร้อมกับผู้ถูกร้องที่ 2 นายพิชิต เพราะไม่มีเหตุจะวินิจฉัยให้นายพิชิตพ้นตำแหน่งแล้ว
เดาว่า นายพิชิตก็คงคาดหมายช่องทางนี้ จึงชิงลาออก
หรืออาจจะไม่รับคำร้อง โดยชี้ว่า เรื่องผิดประมวลจริยธรรมหรือไม่นั้นจะต้องไปร้อง ป.ป.ช.วินิจฉัย แล้วส่งศาลฎีกา
เหมือนกรณีปารีณา พรรณิการ์ ฯลฯ
2.2 รับคำร้องกรณีผู้ถูกร้องที่ 1 คือ นายกฯเศรษฐา ไว้พิจารณา
เพราะเป็นการร้องอย่างถูกต้องตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญให้ไว้
สว.เข้าชื่อยื่นประธานวุฒิสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แสดงว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ศาล รธน.พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดได้ โดยเป็นการวินิจฉัยสถานะความเป็นรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่มีการลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ต่างจากช่องทางที่ ป.ป.ช.ไต่สวน แล้วส่งศาลฎีกาพิพากษาลงโทษ ซึ่งมีบทลงโทษถึงขั้นเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง รวมไปถึงห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป จึงเป็นคนละช่องทางกระบวนการ
ประการสำคัญ การกระทำของนายกฯเศรษฐาตามคำร้องนั้น เกิดขึ้นสำเร็จแล้ว
นั่นคือ การนำนายพิชิตมาเป็นรัฐมนตรีได้กระทำสำเร็จแล้ว นายพิชิตเป็นรัฐมนตรีแล้ว (แม้ลาออกไปแล้วก็เป็นเรื่องของนายพิชิต) ผู้รับสนองฯ ก็คือนายกฯเศรษฐานั่นเอง
นายกฯเศรษฐาได้อาศัยสถานะความเป็นนายกฯ กระทำการนำนายพิชิตที่มีลักษณะต้องห้ามตั้งแต่ต้นเข้ามาเป็นรัฐมนตรี (ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์) นายกฯเศรษฐาจึงกระทำสำเร็จตามคำร้องแล้ว จึงยังมีเหตุให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายกฯเศรษฐานั้น ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ เข้าข่ายให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่
การจะวินิจฉัยการกระทำของนายกฯ เศรษฐา ยังจำเป็นต้องวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายพิชิตด้วย
มิใช่เพื่อให้นายพิชิตพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี (เพราะนายพิชิตพ้นไปแล้ว)
แต่เพื่อจะได้ทราบว่า นายกฯเศรษฐานำคนแบบนี้มาเป็นรัฐมนตรี เข้าข่ายผิดหรือไม่
2.3 หากศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา ย่อมมีโอกาสสูงมาก ที่จะสั่งนายกฯเศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด
คล้ายๆ กรณีอดีตนายกฯ พลเอกประยุทธ์ เคยถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
2.4 ครม.เศรษฐา จะยังทำหน้าที่ต่อไปได้ ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไต่สวน
เชื่อว่า การไต่สวน คงใช้เวลาไม่นาน เพราะเป็นประเด็นข้อกฎหมายและการวินิจฉัยเป็นสำคัญ
และหากล่าช้า ย่อมจะไม่เป็นผลดีต่อการประเทศชาติ
2.5 สุดท้าย ถ้าชี้ว่าไม่ผิด ยกคำร้อง นายกฯเศรษฐาก็จะกลับไปทำหน้าที่นายกฯต่อไปตามเดิม
แต่ถ้าชี้ว่านายกฯเศรษฐากระทำเข้าลักษณะต้องห้าม ความเป็นรัฐมนตรีก็สิ้นสุดลง นายกรัฐมนตรีก็สิ้นสุด
ครม.ทั้งคณะก็พ้นจากตำแหน่งไปด้วย
2.6 ถ้านายกฯพ้นตำแหน่ง ประเทศไทยก็เลือกนายกฯใหม่ ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
ถึงเวลานั้น ค่อยมาว่ากันต่อ ก็แล้วกัน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี